PwC ประเทศไทย ชี้ มาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศ ฉบับที่ 9 เรื่อง เครื่องมือทางการเงิน (IFRS 9: Financial Instruments) ฉบับปรับปรุง เกี่ยวกับแนวทางการประเมินสินทรัพย์ทางการเงินตามหลักเกณฑ์ การชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยเท่านั้น (Soley Payments of Principal and Interest: SPPI) ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2569 อาจส่งผลกระทบต่อกำไรหรือขาดทุนในงบการเงินของบริษัทที่มีการลงทุนในตราสารหนี้สีเขียว เนื่องจากหากเงินลงทุนไม่เป็นไปตามข้อกำหนดของ SPPI จะต้องวัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรขาดทุนเท่านั้น พร้อมคาดว่า TFRS 9 ฉบับปรับปรุงของไทย น่าจะเริ่มใช้ได้หลังวันที่ 1 มกราคม 2570
นางสาววันดี ลีวรวัฒน์ หุ้นส่วนสายงานตรวจสอบบัญชี บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวว่า คณะกรรมการมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศ (International Accounting Standards Board: IASB) ได้ปรับปรุง IFRS 9 เรื่อง เครื่องมือทางการเงิน เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งเกี่ยวข้องกับการจัดประเภทรายการและการวัดมูลค่าของสินทรัพย์ทางการเงินใหม่ โดยเป็นการให้แนวทางเพิ่มเติมในการประเมินและวิเคราะห์ลักษณะของกระแสเงินสดตามสัญญาของสินทรัพย์ทางการเงิน เพื่อพิจารณาว่าเข้าหลักเกณฑ์กระแสเงินสดตามสัญญาจากตราสารหนี้ที่ลงทุนว่าเป็นเพียงเงินต้นและดอกเบี้ย (SPPI) เท่านั้นหรือไม่ และให้คำแนะนำเพิ่มเติมเกี่ยวกับการประเมิน SPPI สำหรับสินทรัพย์ทางการเงินที่มีเงื่อนไขที่สามารถเปลี่ยนแปลงกระแสเงินสดตามเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อการจัดประเภทรายการและการวัดมูลค่าสินทรัพย์ทางการเงินของตราสารหนี้สีเขียวที่อัตราดอกเบี้ยมักอิงกับตัวชี้วัดด้านความยั่งยืน (Environmental, Social and Governance: ESG) ของผู้ออกตราสาร
ทั้งนี้ เดิมทีมาตรฐานการบัญชี IFRS 9 ไม่ได้มีหลักการที่ชัดเจน มีแต่เพียงข้อกำหนดว่า หากกิจการที่ลงทุนในตราสารหนี้เข้าข้อกำหนดตามหลักเกณฑ์ SPPI แล้ว จะสามารถวัดเงินลงทุนได้สามวิธี โดยขึ้นอยู่กับโมเดลการบริหารสินทรัพย์ ได้แก่
1) ราคาทุนตัดจำหน่าย
2) มูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่น
3) มูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรขาดทุน
อย่างไรก็ตาม หากตราสารหนี้ที่ลงทุนไม่เป็นไปตามข้อกำหนดของ SPPI เงินลงทุนดังกล่าวจะต้องวัดด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรขาดทุนเท่านั้น ซึ่งวิธีการวัดด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรขาดทุน และมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่น จะมีผลทำให้ตัวเลขที่ปรากฏในงบการเงินของบริษัทมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ
ปัจจัยสำคัญในการพิจารณาว่าจะต้องวัดด้วยวิธีการใด คือ การประเมินว่าตราสารหนี้ที่ลงทุนนั้นเป็นไปตามข้อกำหนดของ SPPI หรือไม่ โดยที่ผ่านมากิจการหลายแห่งเลือกวิธีการวัดสินทรัพย์ที่ผ่าน SPPI และมีโมเดลการบริหารสินทรัพย์ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อรับกระแสเงินสดตามสัญญาและเพื่อขายสินทรัพย์ทางการเงิน โดยวัดด้วยวิธีมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่น แต่หากสินทรัพย์ดังกล่าวไม่เข้าข้อกำหนดของ SPPI สินทรัพย์นั้นก็จะต้องวัดด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรขาดทุน ซึ่งทั้งสองวิธีนี้มีผลกระทบต่อกำไรขาดทุนของบริษัทแตกต่างกัน นอกจากนี้ยังอาจเป็นปัจจัยที่ทำให้บริษัทที่ไม่ต้องการให้กำไรหรือขาดทุนของตนมีความผันผวนจากมูลค่ายุติธรรมผ่านงบกำไรขาดทุน เลือกที่จะไม่ลงทุนในสินทรัพย์ดังกล่าวเลย
นางสาววันดี กล่าวต่อว่า การปรับปรุงมาตรฐานการบัญชี IFRS 9 ล่าสุดนั้น ยังได้ให้คำแนะนำเพิ่มเติมในการประเมิน SPPI สำหรับทรัพย์สินทางการเงินที่มีเงื่อนไขที่สามารถเปลี่ยนแปลงเวลาและจำนวนกระแสเงินสดตามเงื่อนไขในสัญญา หากมีเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้น โดยให้หลักเกณฑ์สามข้อประกอบการประเมิน ได้แก่
1) กระแสเงินสดตามสัญญาทั้งก่อนและหลังเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นนั้น สอดคล้องกับข้อตกลงการให้กู้ยืมพื้นฐานหรือไม่
2) ลักษณะของเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นนั้น เกี่ยวข้องโดยตรงกับการเปลี่ยนแปลงของความเสี่ยงและต้นทุนการให้กู้ยืมพื้นฐานหรือไม่
3) ในสถานการณ์ใด ๆ ที่เป็นไปได้ตามสัญญา กระแสเงินสดอาจแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญจากทรัพย์สินที่คล้ายคลึงกันโดยไม่มีคุณลักษณะเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นหรือไม่
โดยการแก้ไข IFRS 9 ดังที่กล่าวข้างต้นนี้ จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2569
คาด TFRS 9 ฉบับปรับปรุงของไทย เริ่มใช้หลังวันที่ 1 มกราคม 2570
นอกจากนี้ หลักการดังกล่าวจะถูกนำมาใช้กับมาตรฐานการรายงานทางการเงินของไทย หรือ TFRS 9 ด้วย ซึ่งสำหรับประเทศไทยนางสาววันดี คาดว่า TFRS 9 ฉบับปรับปรุงนี้ จะมีผลบังคับใช้สำหรับงบการเงินที่เริ่มต้นในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2570 อย่างไรก็ดี กิจการสามารถนำมาใช้ก่อนได้ตามความสมัครใจ
"แม้มาตรฐาน TFRS 9 ฉบับปรับปรุงของไทย จะเริ่มบังคับใช้หลังมาตรฐาน IFRS 9 แต่เชื่อว่า บริษัทไทยหลาย ๆ แห่งจะได้เริ่มนำแนวทางของ IFRS 9 มาปรับใช้ในงบการเงินของตน ถึงแม้ว่ามาตรฐานการรายงานทางการเงินของไทยจะยังไม่มีผลบังคับใช้ก็ตาม ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อบริษัทที่มีเงินลงทุนในตราสารหนี้สีเขียวที่มีเงื่อนไขตามที่สัญญาระบุ โดยกระแสเงินสดที่ผู้ออกตราสารจะต้องจ่ายนั้นเปลี่ยนแปลงไปตามตัวชี้วัด ESG หากบริษัทที่ลงทุนในตราสารประเภทนี้มีการตีความที่ไม่สอดคล้องกับมาตรฐาน IFRS 9 ที่มีการแก้ไข ตัวเลขในงบการเงินก็จะได้รับผลกระทบและต้องมีการปรับปรุงให้ถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริษัทที่เลือกใช้วิธีวัดแบบมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่น หากต้องเปลี่ยนมาเป็นวิธีวัดด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรขาดทุนก็จะส่งผลถึงตัวเลขของผลการดำเนินงาน" นางสาววันดี กล่าว
"เมื่อเป็นเช่นนี้ บริษัทที่สนใจต้องการจะลงทุนในตราสารหนี้สีเขียวควรต้องมีการวิเคราะห์สินทรัพย์การลงทุนประเภทนี้ให้ถี่ถ้วนก่อนเข้าลงทุน เพราะถ้าเงินลงทุนดังกล่าวไม่ผ่านเงื่อนไขการประเมิน SPPI อาจส่งผลกระทบต่อกำไรหรือขาดทุนในงบการเงินจากการเปลี่ยนแปลงมูลค่ายุติธรรมได้" เธอกล่าว
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit