รศ.ดร.เฉลียว วิทูรปกรณ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ EPG ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์โพลีเมอร์และพลาสติกแปรรูปชั้นนำของโลก เปิดเผยว่า ในไตรมาส 2 ปีบัญชี 67/68 (ก.ค.-ก.ย.67) บริษัทมียอดขาย 3,606 ล้านบาท ซึ่งเป็นนิวไฮ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของ ปีก่อน ที่มียอดขาย 3,299 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 9.3% มีอัตรากำไรขั้นต้นที่ 34.6% จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 30 - 33% และ มีกำไรสุทธิที่ 135 ล้านบาท ลดลง 68.8% เนื่องจากค่าเงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็ว และบริษัท มีการตั้งสำรองผลขาดทุนทางเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นที่ 97 ล้านบาท โดยมีผลการดำเนินงานตาม 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ดังนี้
ธุรกิจฉนวนกันความร้อน/เย็น ภายใต้แบรนด์ Aeroflex มียอดขาย 1,046 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้ว่าในไตรมาสนี้จะได้รับผลกระทบจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่ปรับตัวอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ยอดขายในสหรัฐอเมริกายังคงเติบโตต่อเนื่องจากความต้องการสินค้าฉนวนกันความร้อน/เย็น เกรดพรีเมี่ยม รวมทั้งสินค้าเพื่อใช้ในกลุ่มอุตสาหกรรม Ultra Low Temperature Insulation และ ระบบ Air Ducting system ทั้งนี้ ยอดขายในสหรัฐอเมริกาโดยส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นจากกลุ่มลูกค้าโครงการ ได้แก่ กลุ่ม Semi-Conductor/ Cloud/ และยานยนต์ เป็นต้น ขณะที่ยอดขายในญี่ปุ่น และ ASEAN เติบโตดีขึ้น สำหรับยอดขายในประเทศปรับตัวดีขึ้นตามการลงทุนภาคเอกชน
ธุรกิจชิ้นส่วนอุปกรณ์และตกแต่งยานยนต์ ภายใต้แบรนด์ Aeroklas มียอดขาย 1,934 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มาจากคำสั่งซื้อสินค้าใหม่จากค่ายยานยนต์ญี่ปุ่นซึ่งจะรับรู้รายได้เต็มปีใน ปีบัญชีนี้ Aeroklas ยังคงมุ่งมั่นสร้างการเติบโต โดยมุ่งเน้นผลิตสินค้านวัตกรรมที่มีน้ำหนักเบาซึ่งเป็นที่ต้องการในอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งรถยนต์สันดาป และ รถยนต์ EV
ในขณะที่ธุรกิจในออสเตรเลียมียอดขายปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากภาวะตลาดที่ดีขึ้น และรับรู้รายได้จากการซื้อกิจการร้านค้าปลีก TJM ต่อจากตัวแทนจำหน่าย รวม 5 แห่ง เมื่อ 1 พ.ย.66
สำหรับในไตรมาสนี้กลุ่มธุรกิจชิ้นส่วนอุปกรณ์และตกแต่งยานยนต์ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่ปรับตัวอย่างรวดเร็ว
ธุรกิจบรรจุภัณฑ์พลาสติก ภายใต้แบรนด์ EPP มียอดขาย 626 ล้านบาท ลดลง 0.5% จากภาวะการแข่งขันที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม บริษัท อีสเทิร์น โพลีแพค จำกัด มีจุดเด่นจากมาตรฐานต่าง ๆ เช่น มอก./ GMP/ HACCP/ BRC และ FSC (Forest Stewardship Council) จึงเป็นที่ไว้วางใจจากกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมเลือกให้เป็นผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติก
บริษัทมีต้นทุนขายสินค้า เพิ่มขึ้น 6.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นอัตราที่ช้ากว่าการเพิ่มขึ้นของยอดขาย บริษัทได้จัดหาวัตถุดิบจากแหล่งผลิตในหลายประเทศเพื่อให้ต้นทุนเฉลี่ยจากราคาวัตถุดิบมีราคาเหมาะสม สำหรับค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารเพิ่มขึ้น 27.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน บริษัทมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้นมาจาก ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร จากธุรกิจในออสเตรเลีย โดยเป็นการเพิ่มขึ้นจากค่าใช้จ่ายพนักงาน และ การเช่าอาคาร นอกจากนี้ มีค่าใช้จ่ายในการจัดส่งของแอร์โรคลาสและ แอร์โรเฟลกซ์ ที่เพิ่มขึ้น
อัตราแลกเปลี่ยนในไตรมาสนี้ ค่าเงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ และดอลลาร์ออสเตรเลีย บริษัทมีขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ 200 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ 25 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เกิดขึ้นจริง 30 ล้านบาท และเป็นขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง 230 ล้านบาท
บริษัทมีการตั้งสำรองผลขาดทุนทางเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ที่ 97 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มาจากรายการลูกหนี้การค้าของบริษัท แอร์โรคลาส จำกัด ซึ่งจำหน่ายวัตถุดิบเพื่อใช้ผลิตสินค้าให้แก่ธุรกิจร่วมทุนในแอฟริกาใต้ ซึ่งได้รับคำสั่งซื้อสำคัญจากค่ายยานยนต์รายใหญ่ในมูลค่าที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม บริษัทได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นขั้นตอน ในไตรมาสนี้ธุรกิจร่วมทุนในแอฟริกาใต้ สามารถแก้ไขปัญหาในกระบวนการผลิตจาก Red flag ให้เป็น Green flag เรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการเจรจากับ Supply chain ทั้งหมด
นอกจากนี้ บริษัทได้รับส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมและการร่วมค้าที่ 92 ล้านบาท มาจาก ผลประกอบการของ ธุรกิจฉนวนกันความร้อน/เย็น และธุรกิจชิ้นส่วนอุปกรณ์ตกแต่งยานยนต์ ทั้งในและต่างประเทศ
รศ.ดร.เฉลียว กล่าวต่อว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เมื่อ 12 พ.ย.67 มีมติอนุมัติการจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลสำหรับผลการดำเนินงานสิ้นสุด 30 ก.ย. 67 ในอัตราหุ้นละ 0.06 บาท (หกสตางค์) รวมเป็นจำนวนเงิน ทั้งสิ้น 168 ล้านบาท โดยกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่จะมีสิทธิได้รับเงินปันผล (Record Date) วันที่ 28 พ.ย.67 และ กำหนดจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในวันที่ 9 ธ.ค.67
นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ มีมติอนุมัติให้ ALP Aeroflex India Private Ltd. ("AAI") (บริษัทร่วม) ดำเนินการเสนอขายหุ้นต่อนักลงทุน (Offer For Sale by Promotors หรือ OFS) และการนำหุ้นของ AAI เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในประเทศอินเดีย
ทั้งนี้ เมื่อมีความชัดเจนเกี่ยวกับการดำเนินการเสนอขายหุ้นต่อนักลงทุนของ AAI และการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในประเทศอินเดียแล้ว บริษัทจะดำเนินการตามกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกำหนดต่อไป
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit