จากดำเนินงานขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ที่มุ่งเน้นการปลูกสร้างและใช้ประโยชน์จากสวนป่าภายใต้ 'การจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน (Sustainable Forest Management)' หรือ การจัดการเพื่อรักษาและส่งเสริมสภาพความสมบูรณ์ของป่าไม้ในระยะยาวของระบบนิเวศป่าไม้ วันนี้ 'สวนป่าเกษตรสมบูรณ์' จังหวัดชัยภูมิ เป็นสวนป่าเศรษฐกิจที่มีความสมดุลทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ สามารถสร้างรายได้ให้กับราษฎรและชุมชนที่สำคัญรอบสวนป่า เป็นสวนป่าเศรษฐกิจที่อยู่ภายใต้กำกับดูแลของอ.อ.ป. ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บนเนื้อที่ 350 ไร่
นายประสิทธิ์ เกิดโต โฆษกองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ เปิดเผยว่า อ.อ.ป. เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทและภารกิจในด้านการปลูกป่าเศรษฐกิจ และเป็นผู้ริเริ่มในการกำหนดมาตรฐานผ่านการการออกแบบระบบการจัดการให้มีองค์ประกอบพื้นฐานของการจัดการป่าไม้ที่มีเหมาะสมต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดประโยชน์ในด้านความยั่งยืนทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ ด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ ปัจจุบัน อ.อ.ป. มีสวนป่าที่ได้ผ่านการรับรองการจัดการป่าไม้ตามมาตรฐานสากล จำนวนทั้งสิ้น 131 สวนป่า รวมพื้นที่ประมาณ 780,500 ไร่
โฆษก อ.อ.ป. กล่าวต่อไปอีกว่า 'สวนป่าเกษตรสมบูรณ์' จังหวัดชัยภูมิ เป็นสวนป่าที่ได้ต่อยอดจากการปลูกไม้เศรษฐกิจ โดยการนำไม้ตามที่กรมป่าไม้กำหนด ในระยะปลูก 3 x17 เมตร จำนวน 31 ต้น/ไร่ มาปลูกร่วมกับไม้เศรษฐกิจของ อ.อ.ป. ในระยะปลูก 3x5x12 เมตร จำนวน 62 ต้น/ไร่ กล่าวคือ มีการปลูกไม้ยางพาราร่วมกับไม้ยางนา, ปลูกไม้ยางพาราร่วมกับไม้แดง, ปลูกไม้ยางพาราร่วมกับไม้พะยูง และปลูกไม้ยางพาราร่วมกับไม้ตะเคียนทอง เป็นต้น ซึ่งปลูกไม้ในลักษณะนี้ จะก่อให้เกิดประโยชน์เรื่องการใช้พื้นที่สูงสุด นอกจากนี้ อ.อ.ป. ได้ให้สมาชิกราษฎรรอบสวนป่าซึ่งเป็นชุมชนที่สำคัญ ได้เข้าดำเนินการปลูก ดูแล กำจัดวัชพืช ร่วมกับเจ้าหน้าที่สวนป่าของ อ.อ.ป. ซึ่งจะเป็นการสร้างรายได้ให้กับราษฎรอีกทางหนึ่ง
ถึงแม้ว่าการดำเนินงานของ อ.อ.ป. ภายใต้การจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนข้างต้นจะส่งผลในเชิงบวก แต่ก็มีในบางพื้นที่ยังมีการปลูกไม้เศรษฐกิจเชิงเดี่ยว เช่น ไม้ยางพารา หรือไม้ยูคาลิปตัส เพียงอย่างเดียวทำให้ในพื้นที่นั้น ๆ ขาดความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเฉพาะระบบนิเวศของราษฎรในการมีส่วนร่วมและใช้ประโยชน์จากสวนป่า ดังนั้น อ.อ.ป. จึงได้พัฒนาและจัดทำโมเดล 'สวนป่าเกษตรสมบูรณ์' เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหา และเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงเพื่อให้ราษฎรมีส่วนร่วมในพื้นที่สวนป่า ทั้งในด้านของรายได้ อาชีพ และแหล่งทำกิน และเพื่อสร้างความสมดุลและสามารถใช้ประโยชน์ในด้านความยั่งยืนอย่างรอบด้าน
นอกจากนี้ 'สวนป่าเกษตรสมบูรณ์' ยังสะท้อนให้เห็นถึงการเป็นป่าที่สมบูรณ์ ทั้งในมิติของความหลากหลายทางชีวิต การใช้พื้นที่ให้เกิดประโยชน์ ตลอดจนยังเป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ซึ่งเกิดจากความสมดุลของป่าเศรษฐกิจอีกด้วย โฆษก อ.อ.ป. กล่าวทิ้งท้าย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit