กรมชลประทาน กับอีกหนึ่งโจทย์ที่ท้าทาย การบริหารจัดการน้ำเพื่อป้องกันสภาวะวิกฤตจากอุทกภัย

11 Nov 2024

ในเวลานี้ทุกพื้นที่ทั่วโลกต่างได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือที่เรียกกันว่า "Climate Change" ที่กำลังสร้างความเสียหายและเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องได้รับการแก้ไข ถือเป็นอีกหนึ่งโจทย์ ท้าทายของ "กรมชลประทาน" ที่ต้องเตรียมความพร้อม ปรับปรุงแผนงานในการรับมือภาวะอากาศแปรปรวน อีกทั้งต้องมีการบริหารจัดการน้ำ การพยากรณ์น้ำที่แม่นยำเต็มเปี่ยมไปด้วยประสิทธิภาพ ในโอกาสนี้ "นายวิทยา แก้วมี" รองอธิบดีกรมชลประทาน ได้ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า

กรมชลประทาน กับอีกหนึ่งโจทย์ที่ท้าทาย การบริหารจัดการน้ำเพื่อป้องกันสภาวะวิกฤตจากอุทกภัย

"ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วมเฉียบพลันในบาเลนเซีย เมืองชายฝั่งทางตะวันออกของสเปนที่ส่งผลกระทบบ้านเรือนกว่า 155,000 หลัง รวมถึงประเทศเนปาลเผชิญฝนตกหนักจนน้ำท่วมฉับพลันและดินถล่ม ทะเลทรายซาฮาราถูกน้ำท่วมเป็นครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษ สำหรับประเทศไทย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานว่า ระหว่างวันที่ 16 สิงหาคม - 4 ตุลาคม 2567 ได้เกิดสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ 38 จังหวัด

Climate Change ถือเป็นความท้าทายของกรมชลประทานที่ต้องเตรียมความพร้อม และปรับปรุงแผนงานในการรับมือภาวะอากาศแปรปรวนอย่างรุนแรง เช่น น้ำท่วมและภัยแล้ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการน้ำ และทำให้การคาดการณ์คลาดเคลื่อน ถ้าดูจากปริมาณฝนที่เทียบค่าเฉลี่ยเป็นรายปีกับปัจจุบันจะเห็นว่าปริมาณน้ำไม่ได้เปลี่ยนจากเดิมนัก แต่จะเปลี่ยนตำแหน่งที่ตก รวมถึงความหนาแน่นและความเข้มของฝน แผนการบริหารจัดการน้ำ สิ่งที่กรมชลประทานทำมาโดยตลอด คือ การคาดการณ์พื้นที่เสี่ยง กรมชลประทานจะมีการวางแผนทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยระยะสั้นจะดู 7-10 วันล่วงหน้าว่าจะมีฝนตกแค่ไหน ส่วนระยะยาว กรมชลประทานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณฝนจะทำการคาดการณ์ 3-6 เดือนล่วงหน้า ข้อมูลที่ได้มาจะถูกนำไปวางแผนการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำ และในแม่น้ำ ลำคลอง ต่างๆ

สำหรับพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงคือพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วม จำเป็นต้องการการบริหารจัดการน้ำที่พิเศษและมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงพื้นที่แล้งที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ ภูมิประเทศของไทยอย่างที่ทราบกันดี ตอนเหนือเป็นภูเขา อีสานเป็นที่ราบสูง ภาคกลางที่ราบลุ่ม ภาคใต้เป็นชายทะเล ปัญหาเรื่องน้ำย่อมต่างกัน แต่เราก็ใช้หลักการบริหารน้ำคือ ต้นกักเก็บน้ำ กลางหน่วงน้ำ ปลายระบายน้ำ เนื่องจากภูมิประเทศตอนบนเป็นภูเขา พื้นที่ทางภูมิศาสตร์จึงเหมาะจะสร้างแหล่งเก็บกักน้ำ ส่วนตอนกลางเป็นที่ราบลุ่ม น้ำจากตอนบนไหลลงมาต้องมาจัดจราจรน้ำ เพื่อแบ่งเบาลดยอดน้ำ โดยจะไม่ให้กระทบกับพื้นที่ที่เราผันน้ำเข้าไป จนมาถึงตอนปลาย ปัญหาที่พบคือ น้ำทะเลหนุนสูง ทำให้ไม่สามารถที่จะระบายน้ำได้ตามธรรมชาติ ต้องมีสถานีสูบน้ำเข้ามาช่วยสูบระบายน้ำออกโดยเฉพาะช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูง ส่วนตอนล่างซึ่งเป็นพื้นที่ราบอย่างกรุงเทพฯ ไม่มีที่เก็บกักน้ำได้เลย ต้องใช้สถานีสูบน้ำอย่างเดียว ปัจจุบันเรามีสถานีสูบน้ำที่สามารถระบายออกในพื้นที่ลงสู่แม่น้ำได้ถึงวันละ 160 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ช่วยบรรเทาความเสียหายที่เกิดจากเหนื อ น้ำทะเลหนุน และน้ำฝน

ปัญหาเรื่องภัยแล้ง อีกหนึ่งผลกระทบที่เกิดจากสภาพอากาศที่แปรปรวน วิธีบริการจัดการน้ำของกรมชลประทานแบ่งเป็นสองมาตรการ คือ มาตรการใช้สิ่งก่อสร้างเพื่อกักเก็บน้ำ ปัจจุบันกำลังมีแผนสร้างอ่างเก็บน้ำเพิ่มเติมทั้งขนาดใหญ่ กลาง และเล็ก อีกมาตรการ คือ เรื่องของการบริหารจัดการ จัดสรรน้ำให้ตรงเวลาในปริมาณที่เหมาะสม รวมถึงการรักษาระบบนิเวศน์ในช่วงหน้าแล้ง ปัญหาที่พบคือ น้ำเค็มรุกล้ำ ช่วงน้ำทะเลสูง ซึ่งทางแก้ดูเหมือนไม่ยากเพียงแค่ปล่อยน้ำจืดมาดันน้ำเค็ม แต่แนวทางของเราคือ การใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดเนื่องจากน้ำเป็นทรัพยากรที่มีจำกัด จึงต้องปล่อยน้ำในปริมาณพอเหมาะ ตามจังหวะที่ถูกต้อง ปัจจุบันเรามีการคำนวนว่าช่วงเวลาใดน้ำทะเลจะหนุนสูง โดยใช้ผลพยากรณ์จากกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ เมื่อรู้ว่าน้ำจะหนุนสูง วันไหนของเดือน ช่วงเวลาใด เราก็จะเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา และเขื่อนป่าสัก ลงมา โดยจะใช้เวลาเดินทางประมาณ 6-10 วัน จะเห็นว่าปีที่ผ่านมา การดำเนินการสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความท้าทายในการบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทาน นอกจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยังมีเรื่องของความต้องการน้ำที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากการพัฒนาของประเทศ การขยายตัวของเมือง และการพัฒนาอุตสาหกรรมทำให้ความต้องการใช้น้ำเพิ่มขึ้นทั้งในภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และภาคครัวเรือน จำเป็นต้องมีการวางแผนและการดำเนินการที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนในระยะยาว

การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ กรมชลประทาน ใช้ผลการพยากรณ์สภาพอากาศและน้ำฝนจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ หรือ สสน. มาคำนวนว่า ฝนที่ตกจะกลายเป็นน้ำที่ลงสู่แม่น้ำเท่าไร น้ำที่ลงแม่น้ำจะไหลเข้าเขื่อนเท่าไร เมื่อเข้าเขื่อนแล้วต้องระบายหรือไม่ และต้องระบายแค่ไหน ถ้าเขื่อนต้องระบายเยอะถึงขนาดที่ชาวบ้านในพื้นที่จะได้รับผลกระทบก็จะแจ้งไปยังพื้นที่ให้เขาแจ้งเตือนชาวบ้าน ในอดีตการเก็บข้อมูลเราก็ใช้คนไปวัดระดับน้ำและส่งรายงานเข้ามาทุกวัน ปัจจุบันเราใช้เซนเซอร์วัดน้ำหรือระบบโทรมาตร ซึ่งกระจายทั่วประเทศกว่า 1,200 จุด ทำให้เรารู้ระดับน้ำ รู้ปริมาณน้ำ ทุกๆชั่วโมง ตลอด 24 ชั่วโมง เมื่อได้ข้อมูลมา จะนำเข้าระบบ Big Data จากนั้นจะเข้าแบบจำลองคณิตศาสตร์ และระบบ AI เข้ามา ช่วยคาดการณ์เพื่อวางแผนการบริหารจัดการน้ำอย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการประยุกต์ใช้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม ในการติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ โดยยิ่งรู้ก่อน ก็เตือนได้ก่อน ประชาชนก็สามารถเตรียมตัวป้องกันอพยพได้ก่อน ความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินก็จะลดลง

ปัจจุบัน ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะหรือ SWOC ทำหน้าที่เก็บรวบรวมข้อมูลน้ำเพื่อมาแลกเปลี่ยนข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกวัน ข้อมูลที่ได้รับจากหลายหน่วยงานถูกนำมาต่อยอด เช่น ทำให้การวางแผนก่อสร้างพัฒนาแหล่งน้ำทำได้ถูกต้องและตรงจุด เรื่องของตำแหน่ง และขนาดของอาคารที่รจะบริหารจัดการน้ำอาจจะต้องปรับให้ดีขึ้นเพื่อรับมือกับสภาพอาการที่เปลี่ยนแปลง กรมชลประทาน จะไม่หยุดพัฒนาระบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ เพื่อให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลได้เร็วขึ้น แม่นยำขึ้น เพื่อปลายทางแล้วกระบวนการในการแจ้งเตือนจะเร็วขึ้นตามไปด้วย เพราะยิ่งรู้เร็ว ยิ่งป้องกันความเสียหายได้มาก" นายวิทยา กล่าวทิ้งท้าย

HTML::image(