หลายคนอาจคาดไม่ถึงว่า เตาเผาศพ คือต้นเหตุของแหล่งมลพิษทางอากาศที่มีทั้ง เขม่าควัน ฝุ่นละออง กลิ่นเหม็น ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ ไดออกซินและฟิวแรน รวมถึงโลหะหนักต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งสาเหตุของมลพิษเหล่านี้มาจากเตาเผาศพที่มีวัสดุตกแต่งโลงศพเผาไปด้วย ทั้งสี พลาสติก พวงหรีด หรือแม้แต่เชื้อเพลิงที่ใช้เผา โดยในประเทศไทยมีจำนวนเตาเผาศพตั้งประจำการอยู่ตามวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศมากถึง 25,500 แห่ง ซึ่งหากไม่มีการควบคุมมลพิษกับเตาเผาศพที่ไม่มีประสิทธิภาพ จะยิ่งก่อให้เกิดปริมาณมลพิษทางอากาศ เจือปนในอากาศ เป็นผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและชาวบ้านในบริเวณใกล้เคียงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย
เมื่อมลพิษทางอากาศคุกคามชีวิตของประชาชนหนักเข้าบ่อยครั้ง จึงมีการปรับปรุงการควบคุมมลพิษมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีการออกประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดให้เตาเผาศพเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษที่จะต้องถูกควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสียออกสู่สิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2565 ซึ่งบังคับใช้ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังได้ประกาศกำหนดมาตรฐานค่าความทึบแสงของเขม่าควันจากปล่องเตาเผาศพ พ.ศ. 2565 โดยกำหนดค่าความทึบแสงของเขม่าควันต้องไม่เกินร้อยละ 10 ทั้งนี้ จะมีการควบคุมมาตรฐานให้เข้มงวดยิ่งขึ้น เป็นต้องไม่เกินร้อยละ 7 ในปี 2566 สำหรับวัดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา เทศบาลนคร และเทศบาลเมือง และในปี 2568 สำหรับวัดในพื้นที่อื่น
การเผาศพในวัดต่าง ๆ สามารถลดการเกิดมลพิษทางอากาศได้ หากปฏิบัติได้อย่างถูกต้องเหมาะสมตามหลักเกณฑ์การยกระดับมาตรฐานเตาเผาศพ โดยกรมควบคุมมลพิษได้รวบรวมเอาไว้ดังนี้
ต้องมีการคัดแยกวัสดุ สิ่งของ เครื่องใช้ก่อนทำการเผาศพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัสดุที่มีการทาสีและเป็นพลาสติก เพื่อลดการเกิดมลพิษทางอากาศ อีกทั้งต้องควบคุมอุณหภูมิ ออกซิเจนและเวลาในการเผาศพให้เป็นไปตามข้อกำหนดอย่างเคร่งครัด โดยควรมีอย่างน้อย 2 ห้องเผา ห้องเผาแรก เป็นห้องเผาศพ อุณหภูมิขั้นต่ำ 700-900 องศาเซลเซียส และห้องเผาสุดท้ายเป็นห้องเผาก๊าซและควันที่เกิดจากห?องเผาแรกก?อนระบายอากาศเสียสู่บรรยากาศ ต้องมีอุณหภูมิไม่น้อยกว่า 850-1,000 องศาเซลเซียส ตลอดระยะเวลาการเผา เพื่อให้การเผาศพมีประสิทธิภาพมากที่สุดและเกิดมลพิษทางอากาศน้อยที่สุด และต้องใช้เชื้อเพลิงที่สะอาดสำหรับเตาเผาศพ เช่น น้ำมันดีเซล ก๊าซ LPG หรือเตาที่ใช้ไฟฟ้าเผาไหม้ รวมถึงต้องมีการอบรมผู้ควบคุมเตาเผาศพ หรือผู้เดินระบบเตาเผาศพให้ทำการเผาอย่างถูกต้องและเหมาะสมตามหลักวิชาการ เช่น ระหว่างการเผาต้องมีการบันทึกข้อมูลอุณหภูมิของเตาเผา และควรตรวจสอบว่าเกิดการเผาไหม้สมบูรณ์หรือไม่ โดยสังเกตเขม่าควันที่ปลายปล่อง ด้านผู้ที่ปฏิบัติงานควรสวมใส่เสื้อผ้าที่มิดชิด แว่นตา รองเท้า ผ้าปิดจมูก ถุงมือ ตลอดระยะเวลาที่ทำงาน และหลังจากเผาศพเรียบร้อยแล้ว ควรทำความสะอาดเตาเผาและกวาดเถ้าออกให้หมด ตลอดจนต้องมีการซ่อมบำรุงเตาเผาศพและอุปกรณ์ที่ใช้ตามระยะเวลาที่กำหนด เพื่อช่วยลดการปลดปล่อยสารมลพิษทางอากาศ ทั้งนี้ ควรทำการตรวจสอบค่าความทึบแสงของเขม่าควันจากเตาเผาศพขณะที่มีการเผาศพด้วยวิธีริงเกิลมานน์ โดยค่าความทึบแสงของเขม่าควันจากปล่องเตาเผาต้องไม่เกินค่ามาตรฐาน ซึ่งหากเกินค่ามาตรฐานนี้ ถือว่าทำผิดกฎหมาย เจ้าพนักงานควบคุมมลพิษ สามารถสั่งให้ทำการปรับปรุงแก้ไขและหยุดใช้งานชั่วคราวได้
อย่างไรก็ตามกรมควบคุมมลพิษได้สำรวจเตาเผาศพในพื้นที่กรุงเทพมหานครและเมืองใหญ่ ๆ สามารถควบคุมมลพิษได้ตามมาตรฐาน โดยเตาเผาศพมีการกำหนดมาตรฐานเอาไว้ 4 ระดับ ได้แก่ ระดับที่ 1 เตาเผาศพที่มีการควบคุมมลพิษต่ำ ระดับที่ 2 ควบคุมมลพิษพอใช้ ระดับที่ 3 ควบคุมมลพิษดี และระดับที่ 4ควบคุมมลพิษ ดีเยี่ยม ซึ่งในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีเตาเผาศพอยู่ในระดับ 3 ซึ่งเป็นระดับที่มีประสิทธิภาพดีในการควบคุมมลพิษ
ทั้งนี้หากประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากเตาเผาศพ สามารถแจ้งปัญหาหรือร้องเรียนมาได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมมลพิษ 1650 หรือ สายด่วน กทม.1555 และ Traffy Fondue ส่วนพื้นที่ต่างจังหวัด สามารถแจ้งได้ที่ เทศบาล/อบต.หรือ สายด่วนศูนย์ดำรงธรรม 1567 และที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ 02 441 7999
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit