NCAP เผยกำไร Q3/67 พุ่งแรง 79% มอง Q4 พอร์ตสินเชื่อรถมอเตอร์ไซค์ฯ แกร่ง - เงินรัฐหนุนกำลังซื้อ

25 Nov 2024

NCAP มองแนวโน้ม Q4/67 สัญญาณดี แรงหนุนจากเศรษฐกิจท่องเที่ยวและภาคการเกษตรที่ฟื้นตัว เงินดิจิทัลรัฐหนุน ชูผลงานสินเชื่อรถมอเตอร์ไซค์ฯ โดดเด่นในการบริหารจัดการสัญญาเช่าซื้ออย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และภาพรวม NPL ที่ทำได้อยู่ในระดับต่ำ ล่าสุด เผยกำไรไตรมาส 3/67 ออกมาสวยเกือบ 62 ลบ. โตจากช่วงเดียวกันปีก่อนถึง 79% ส่วนรายได้ลดลงเล็กน้อยจากรายได้ดอกเบี้ยสัญญาเช่าซื้อหดตัว ส่วนผลประกอบการงวด 9 เดือน กำไรลด แต่รายได้เพิ่มจากค่าธรรมเนียมและบริการ ประเมินผลงานทั้งปี พอร์ตสินเชื่อโต 5% พร้อมคุม NPL ปีนี้ได้ที่ระดับ 2%

NCAP เผยกำไร Q3/67 พุ่งแรง 79% มอง Q4 พอร์ตสินเชื่อรถมอเตอร์ไซค์ฯ แกร่ง - เงินรัฐหนุนกำลังซื้อ

นายอภิชัย เอื้อมเสถียรพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เน็คซ์ แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ NCAP หนึ่งในผู้นำธุรกิจให้บริการสินเชื่อ เปิดเผยว่า ภาพรวมในงวด 9 เดือนแรกปีนี้ ได้รับปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจการท่องเที่ยว และภาคการเกษตร โดยบริษัทมีนโยบายเน้นไปพื้นที่โซนภาคใต้ แม้จะมีอุปสรรคจากกรณีที่การปิดโรงงานในอุตสาหกรรมผลิตยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า รวมถึงต้นทุนทางการเงินและหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูงอยู่ บริษัทฯ ยังคงมุ่งเน้นบริหารจัดการอย่างรัดกุม โฟกัสธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถมอเตอร์ไซค์ ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของบริษัท และภาพรวมการนำเทคโนโลยีมาใช้ทำให้ช่วยลดค่าใช้จ่าย และเสริมทัพธุรกิจประกันมอเตอร์ไซค์สนับสนุนลูกค้าครบวงจร

พร้อมประเมิน แนวโน้มไตรมาส 4/67 มีแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถมอเตอร์ไซค์ ขณะที่ ปัจจัยบวกจากเงินสนับสนุน 10,000 บาทที่รัฐบาลสนับสนุน เข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจ และกำลังซื้อในระยะสั้น มองส่งผลดีต่อลูกค้าในการซื้อรถมากขึ้น โดยบริษัทฯ ยังคงระมัดระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นเงินก้อนเดียว ดังนั้นต้องประเมินความเสี่ยง และความสามารถในการชำระหนี้ในระยะยาวของลูกค้าประกอบการพิจารณาอนุมัติ รวมทั้ง ในช่วงดังกล่าวลูกค้าจะมีการชำระหนี้เข้ามามากขึ้น เป็นปัจจัยสนับสนุนบริษัท

สำหรับภาพรวมผลประกอบการไตรมาส 3/67 บริษัทฯ มีกำไรส่วนของบริษัทใหญ่ ไตรมาส 3/67 อยู่ที่ 61.70 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 79.46% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 34.38 ล้านบาท ส่วนรายได้อยู่ที่ 501.80ล้านบาท ลดลงเล็กน้อย 1.11% เทียบจากปีก่อนที่ 507.41 ล้านบาท สาเหตุจากการลดลงของรายได้ดอกเบี้ยจากสัญญาเช่าซื้อ จำนวน 383.04 ล้านบาท หรือ 2.65% เพราะมีจำนวนสัญญาเช่าซื้อใหม่ลดลง ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมและค่าบริการเพิ่มขึ้น 10.23% จากรายได้ค่าธรรมเนียมในการติดตามทวงถามหนี้ ส่วนรายได้ดอกเบี้ยจากเงินให้กู้ยืมเพิ่มขึ้น 5.61% จากการให้บริการสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ตั้งแต่เดือนเมษายน 2566 เป็นต้นมา

ขณะที่ค่าใช้จ่ายโดยรวมไตรมาสนี้ก็ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 8.58% โดยมีสาเหตุหลักมาจากผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น 184.47 ล้านบาท ซึ่งลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 12.97% เพราะชั้นหนี้ของลูกหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ปรับตัวดีขึ้น เช่นเดียวกับค่าใช้จ่ายในการขายและการบริหารที่ลดลง ขณะที่ต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น 11.68% หลังมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินและการออกหุ้นกู้ในเดือนสิงหาคมปีก่อน เพื่อนำไปใช้ในการขยายพอร์ตสินเชื่อ

สำหรับผลประกอบการ งวด 9 เดือน บริษัทมีกำไรส่วนของบริษัทใหญ่อยู่ที่ 139.50 ล้านบาท ลดลง 36.02% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน 218.03 ล้านบาท ส่วนงวด 9 เดือน บริษัทมีรายได้ 1,503.31 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 1,488.48 ล้านบาท เป็นการเพิ่มขึ้นจากรายได้ค่าธรรมเนียมและค่าบริการจำนวน 198.55 ล้านบาท หรือ 10.51% จากรายได้ค่าธรรมเนียมในการติดตามทวงถามหนี้ ขณะที่รายได้ดอกเบี้ยจากสัญญาเช่าซื้ออยู่ที่ 1,150.68 ล้านบาท ลดลง 0.20% เพราะได้รับผลกระทบจากที่สำนักคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้กำหนดเพดานดอกเบี้ย (Effective Interest rate) ของสัญญาเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ไม่เกินอัตรา 23% ต่อปี ตั้งแต่เดือนมกราคม 66 เป็นต้นมา และจำนวนสัญญาเช่าซื้อใหม่ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน

โดยบริษัทมีค่าใช้จ่ายรวมเพิ่มขึ้น 9.50% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งมีสาเหตุจากผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น 601.30 ล้านบาท หรือ 17.67% จากการเพิ่มขึ้นของของลูกหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อ รวมถึงผลกระทบจากการปรับแบบจำลองการคำนวณผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นที่ปรับประจำปีในเดือนมกราคมซึ่งผลประทบในปี 2566 ลดลงมากกว่าปี 2567 ในขณะเดียวกันค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารลดลง ขณะที่ต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น 32.88% จากการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยจ่ายของเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินและจากการออกหุ้นกู้เดือนสิงหาคม 2566 เพื่อใช้ขยายพอร์ตสินเชื่อ

นายอภิชัย กล่าวต่ออีกว่า ในงวด 9 เดือนแรกปีนี้ บริษัทฯ ปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถมอเตอร์ไซค์จำนวน 4,177 ล้านบาท เทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน ปล่อยสินเชื่อลดลง 7.5% หรือ 337 ล้านบาท ขณะที่ในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา บริษัทฯ เริ่มให้บริการปล่อยสินเชื่อจำนำทะเบียนเล่มรถมอเตอร์ไซค์ ภายใต้ Next Money จำนวน 3 ล้านบาท ปัจจุบันเริ่มเห็นรายได้ดอกเบี้ยรับเข้ามามากขึ้น

อย่างไรก็ดี ในแง่ของการปล่อยสินเชื่อใหม่ ในงวด 9 เดือนแรกปีนี้ บริษัทฯ ปล่อยสินเชื่อใหม่รวมจำนวน 4,182 ล้านบาท ลดลง 20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) แต่ถ้าเทียบไตรมาส 3 ปีนี้เพียง 3 เดือน (มิถุนายน - กันยายน) เราปล่อยสินเชื่อมอเตอร์ไซค์ (HP) อยู่ที่ 1,278 ล้านบาท ลดลง 11% โดยมุ่งเน้นปล่อยไปยังพอร์ตสินเชื่อรถมอเตอร์ไซค์ สัดส่วน 99.9% และสินเชื่อจำนำทะเบียนเล่มรถมอเตอร์ไซค์ สัดส่วน 0.1% และไม่มีการปล่อยสินเชื่อรถบรรทุกแล้ว เนื่องจากต้นทุนอยูในระดับสูง

บริษัทฯ ประมาณการพอร์ตสินเชื่อมอเตอร์ไซค์ (HP) ปี 67 ไว้เติบโตต่อเนื่อง 5% จากปีที่ผ่านมา ณ สิ้นไตรมาส 3 มีพอร์ตลูกหนี้คงเหลือ อยู่ที่ 8,963 ล้านบาท เทียบกับงวดไตรมาส 2/67 ลดลง 0.2% ถ้าเทียบงวดเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น 6% ขณะที่ แอคทีฟแอคเคาท์เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 195,201 สัญญา

อย่างไรก็ดีภาพรวม NPL บริษัทฯ พยามบริหารจัดการให้ดียิ่งขึ้น โดยธุรกิจหลักมาจากสินเชื่อเช่าซื้อรถมอเตอร์ไซค์ NPL เพียง 1.6% ขณะที่ NPL ในธุรกิจสินเชื่อรถบรรทุกซึ่งเราได้หยุดให้บริการปล่อยสินเชื่อใหม่ไปแล้ว เนื่องจากการควบคุมการปล่อยสินเชื่อ และการบริหารลูกค้าเก่าเริ่มมีปัญหาในการชำระหนี้ ทำให้ภาพรวม NPL ของบริษัทอยู่ที่ 2.39%

โดยตั้งเป้าปี 2567 ปีนี้ ภาพรวมการปล่อยสินเชื่อดำเนินไปอย่างมีคุณภาพ รัดกุม และโฟกัสพอร์ตที่สามารถบริหารจัดการ ทำกำไรที่ดีกลับมาให้บริษัทได้ จึงวางเป้าหมายรักษาระดับหนี้เสีย (NPL) ให้อยู่ที่ระดับ 2%