เพราะว่าเด็ก ไม่ใช่ผู้ใหญ่ย่อส่วน" คำกล่าวคุ้นหู ซึ่งสะท้อนความต้องการจากผู้ปกครอง และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น คุณครู หรือบุคลากรทางแพทย์ ในการทำความเข้าใจกับพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงของร่างกายที่มีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งน้ำหนัก ส่วนสูง แขน ขา หรือการเปลี่ยนแปลงทางเพศ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สัมพันธ์กับความพร้อมในการเจริญพันธุ์หรือการมีบุตร การเปลี่ยนแปลงระบบฮอร์โมนภายในร่างกายร่วมกับพันธุกรรม สิ่งแวดล้อม สังคมและเศรษฐกิจ สำหรับทุกช่วงวัย เรื่องเพศนั้นยังมีข้อจำกัดในด้านการเรียนรู้ การเข้าถึงข้อมูลหรือการแสดงออกตามรสนิยมทางเพศ โดยเฉพาะในช่วงวัยเด็กที่เปลี่ยนผ่านเข้าสู่ภาวะหนุ่มสาว ถือเป็นช่วงเวลาการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติครั้งสำคัญของช่วงชีวิต เด็กควรได้รับการสนับสนุนการเรียนรู้เพื่อเตรียมความพร้อมในช่วงเวลานี้ และที่สำคัญควรได้รับการสังเกตความผิดปกติของการเปลี่ยนแปลงที่เรียกว่า "ภาวะหนุ่มสาวก่อนวัย"
ผู้ช่วยศาสตราจารย์เบ็ญจมาศ โอฬารรัตน์มณี ภาควิชาการพยาบาลกุมารเวชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า วัยแรกรุ่น เป็นกระบวนการสำคัญในการพัฒนาของมนุษย์สู่วัยผู้ใหญ่ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตทางร่างกายอย่างรวดเร็วที่เด็กต้องเผชิญ การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนทำให้เด็กผู้หญิงมีประจำเดือนครั้งแรก ในขณะที่เด็กผู้ชายจะมีการหลั่งน้ำอสุจิครั้งแรก การเจริญเติบโตทางร่างกายในช่วงวัยแรกรุ่นจะเกิดพร้อมกับอารมณ์ที่เด็กไม่เคยรับรู้มาก่อน ซึ่งมีความซับซ้อน โดยเฉพาะความต้องการทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ การเปลี่ยนแปลงนี้อาจได้รับแรงกดดันจากเพื่อนและบุคคลรอบตัวเด็ก ในเด็กผู้หญิงจะมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายในช่วงอายุ 8-13 ปี ผู้ชายในช่วงอายุ 9-14 ปี ปัจจุบันพบว่าเด็กเกิดความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายก่อนช่วงอายุที่กล่าวมา โดยภาวะนี้เรียกว่า "ภาวะหนุ่มสาวก่อนวัย" หรือ "Precocious Puberty"
"ภาวะหนุ่มสาวก่อนวัย" เป็นภาวะที่เด็กมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย จากวัยเด็กสู่วัยรุ่นเร็วกว่าปกติ พบได้ในเด็กทั้งเพศหญิงและชาย ในเด็กผู้หญิงจะมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย อาทิ มีเต้านม สะโพกผาย มีสิว มีขนที่อวัยวะเพศและรักแร้ มีกลิ่นตัว มีประจำเดือน ก่อนอายุ 8 ปี จะมีภาวะเป็นสาวก่อนวัย ในเด็กผู้ชายจะมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย อาทิ มีขนาดอัณฑะใหญ่ขึ้น เสียงแหบห้าว มีกลิ่นตัว มีขนบริเวณอวัยวะเพศและรักแร้ ส่วนสูงเพิ่มขึ้น ก่อนอายุ 9 ปี จะเป็นหนุ่มก่อนวัย สาเหตุการเกิดโรคร้อยละ 90 ไม่ทราบสาเหตุการเกิดที่ชัดเจน ร้อยละ 10 เกิดจากปัจจัยภายใน ได้แก่ ความผิดปกติทางร่างกาย พันธุกรรม พ่อหรือแม่มีประวัติเป็นหนุ่มเป็นสาวก่อนวัย ปัจจัยภายนอก ได้แก่ การได้รับฮอร์โมนเพศในปริมาณมากทำให้ร่างกายมีการเจริญเติบโตรวดเร็ว นอกจากนี้ยังมีบางการศึกษาพบว่า ภาวะอ้วน อาจมีส่วนทำให้เกิดภาวะหนุ่มสาวก่อนวัย เกิดจากการรับประทานอาหารอาหาร หวาน มัน เค็ม และรับประทานอาหารฟาสต์ฟูต อาหารจานด่วนที่มีไขมัน เครื่องดื่มที่มีรสหวาน ทำให้ได้รับพลังงานสูงเกินความต้องการของร่างกาย และสะสมในรูปไขมันตามร่างกาย จนเกิดภาวะอ้วน โดยร่างกายนำไขมันซึ่งเป็นสารตั้งต้นในการผลิตฮอร์โมนเพศ ได้แก่ เอสโตรเจน ส่งผลให้การเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เร็วกว่าปกติ เด็กที่มีภาวะหนุ่มสาวก่อนวัยมักจะส่งผลกระทบต่อเด็กในด้านต่าง ๆ ได้แก่ ด้านร่างกาย เด็กจะมีความเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายเร็วกว่าเพื่อน ๆ ในวัยเดียวกัน ส่วนใหญ่มักจะมีอัตราการเพิ่มความสูงที่เร็ว (Growth Spurt) ในระยะแรก ทำให้ดูเหมือนว่าสูงเร็วกว่าเด็กในวัยเดียวกัน เนื่องจากมีฮอร์โมนเพศที่มากกว่าปกติ และพบว่าเด็กกลุ่มนี้จะมีอายุกระดูกที่มากกว่าอายุจริง ให้กระดูกระหว่างข้อต่อปิดเร็วขึ้น ส่งผลให้เด็กหยุดสูง ส่วนมากเด็กจะมีระยะเวลาในการเจริญเติบโตสั้นกว่าเด็กที่เติบโตตามปกติ ด้านจิตใจและสังคม จากการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายที่เปลี่ยนไปจากเพื่อนคนอื่น ๆ ทำให้เด็กที่มีภาวะหนุ่มสาวก่อนวัยเกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับรูปร่างของตนเอง เด็กกลุ่มนี้จะมีร่างกายที่โตเกินวัยในขณะที่จิตใจยังเป็นเด็ก พัฒนาการทางด้านสมองเจริญเติบโตไม่เท่าพัฒนาการวัยรุ่นปกติ หรือเท่าผู้ใหญ่ อาจทำให้เด็กผู้หญิงมีปัญหาในการดูแลสุขอนามัยในช่วงมีประจำเดือน หรือเสี่ยงต่อการถูกล่วงละเมิดทางเพศ ในเด็กผู้ชายอาจมีพฤติกรรมก้าวร้าว อารมณ์รุนแรง หากผู้ปกครองสงสัยหรือเด็กมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งที่จะเข้าข่ายภาวะหนุ่มสาวก่อนวัย ให้รีบนำเด็กไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจร่างกาย และรับคำปรึกษาอย่างเหมาะสม โดยแพทย์จะทำการตรวจร่างกาย ซักประวัติการเจริญเติบโตของเด็ก และตรวจอายุกระดูกโดยการเอกซเรย์อายุของกระดูก เพื่อประเมินว่ากระดูกมีอายุล้ำหน้ากว่าอายุจริงหรือไม่ การตรวจเลือดวัดระดับฮอร์โมน เพื่อวัดระดับฮอร์โมนเพศในร่างกาย หรือตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ต่อมใต้สมองเพื่อหาความผิดปกติ อัลตราซาวด์วัดขนาดมดลูกและรังไข่ในเด็กผู้หญิง วิธีการรักษาแพทย์จะพิจารณารักษาตามสาเหตุของความผิดปกตินั้น ๆ
"ภาวะหนุ่มสาวก่อนวัย" สามารถรักษาได้โดยผู้ปกครองจะต้องสังเกตความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเด็กว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปตามวัยหรือไม่ หากพบความผิดปกติเร็วก็จะสามารถแก้ไขความผิดปกตินั้นได้อย่างทันท่วงที แต่หากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้เด็กหยุดการเจริญเติบโตก่อนวัยอันควรได้ ทั้งนี้ ผู้ปกครองและผู้เกี่ยวข้องสามารถป้องกันความเสี่ยง ในการเกิดภาวะหนุ่มสาวก่อนวัยของเด็กได้ด้วยการสังเกตการเปลี่ยนแปลงของร่างกายอย่างใกล้ชิด การควบคุมน้ำหนักของเด็กให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน รับประทานอาหารที่หลากหลายตามโภชนาการที่เหมาะสม ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ระบบการหลั่งฮอร์โมนเพศและการเจริญเติบโตเป็นปกติ นอกจากนี้การเตรียมเด็กเข้าสู่วัยแรกรุ่นเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ผู้ปกครองจะต้องทำความเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของเด็กที่จะเกิดขึ้น ได้แก่ การเตรียมเด็กผู้หญิงในช่วงของการเริ่มต้นของการมีประจำเดือน โดยส่วนใหญ่การมีประจำเดือนมักถูกมองเป็นเรื่องส่วนบุคคล ทำให้เป็นอุปสรรคในการสื่อสารเรื่องความรู้หรือความกังวลใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ในสถานที่ต่าง ๆ เช่น ห้องเรียน ทำให้เด็กผู้หญิงไม่ได้รับการเตรียมตัวอย่างเหมาะสม และเด็กผู้หญิงจำนวนมากเริ่มมีประจำเดือนโดยไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับตนเอง เนื่องจากพ่อแม่ไม่สะดวกใจจะสื่อสารหรือพูดคุยเรื่องเพศกับลูก ดังนั้นโรงเรียนจึงมีบทบาทสำคัญในการให้ความรู้เกี่ยวกับวัยแรกรุ่น ทั้งเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชาย ซึ่งการให้ความรู้แก่เด็กผู้ชายจะสร้างพื้นฐานความเข้าใจระหว่างเพศ และพัฒนาสภาพแวดล้อมทางสังคม ส่งผลให้มีภาวะสุขภาพดีและความเท่าเทียมทางเพศได้
"เพราะว่าเด็ก ไม่ใช่ผู้ใหญ่ย่อส่วน" คำกล่าวคุ้นหู ซึ่งสะท้อนความต้องการจากผู้ปกครอง และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น คุณครู หรือบุคลากรทางแพทย์ ในการทำความเข้าใจกับพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงของร่างกายที่มีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงวัยเด็กที่เปลี่ยนผ่านเข้าสู่ภาวะหนุ่มสาว ถือเป็นช่วงเวลาการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติครั้งสำคัญของช่วงชีวิต เด็กควรได้รับการสนับสนุนการเรียนรู้เพื่อเตรียมความพร้อมในช่วงเวลานี้ และที่สำคัญควรได้รับการสังเกตความผิดปกติของการเปลี่ยนแปลงที่เรียกว่า "ภาวะหนุ่มสาวก่อนวัย"
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit