มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และกระทรวงการต่างประเทศ

22 Nov 2024

แถลงข่าว ผลการตัดสินรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2567

มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และกระทรวงการต่างประเทศ

วันนี้ (21 พฤศจิกายน 2567) เวลา 13.30 น. ศาสตราจารย์นายแพทย์อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะรองประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ นายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ และศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา ประธานคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ร่วมกันแถลงผลการตัดสินผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จ เจ้าฟ้ามหิดล ครั้งที่ 33 ประจำปี 2567 ณ ห้องสมเด็จพระบรมราชชนก ตึกสยามินทร์ ชั้น 2 โรงพยาบาลศิริราช

ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2567

-สาขาการแพทย์ ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร. โทนี ฮันเตอร์
(Professor Dr. Tony Hunter, Ph.D.)
จาก สหราชอาณาจักร / สหรัฐอเมริกา

-สาขาการสาธารณสุข ได้แก่ ศาสตราจารย์โจนาธาน พี. เชฟเพิร์ด
(Professor Dr. Jonathan P. Shepherd, D.D.Sc,Ph.D.)
จาก สหราชอาณาจักร

ในปีนี้ มีผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2567 รวมทั้งสิ้น 73 ราย จาก 29 ประเทศ อีกทั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาทางวิชาการได้พิจารณากลั่นกรอง และคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ ได้นำรายชื่อของผู้ได้รับการเสนอชื่อระหว่างปี (2564 - 2566) มาพิจารณาร่วมด้วย และนำเสนอต่อคณะกรรมการมูลนิธิฯ ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นประธาน พิจารณาตัดสินเป็นขั้นสุดท้ายเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567

ในระยะเวลา 32 ปี ที่ผ่านมา มีบุคคลหรือองค์กรได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลรวม 96 รายเป็นคนไทย 4 ราย ได้แก่ ศาสตราจารย์นายแพทย์ประสงค์ ตู้จินดา จากการศึกษาผลกระทบของเชื้อไวรัสเด็งกี่ ต่อความพิการของร่างกายเด็กที่ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก รับร่วมกับศาสตราจารย์แพทย์หญิงสุจิตรา นิมมานนิตย์ จากการจำแนกความรุนแรงของโรคไข้เลือดออก ได้รับพระราชทานรางวัลในสาขาการแพทย์ ประจำปี 2539 และนายแพทย์วิวัฒน์ โรจนพิทยากร ผู้ริเริ่มโครงการส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัย 100% ช่วยป้องกันการแพร่กระจายของโรคเอดส์ รับร่วมกับนายมีชัย วีระไวทยะ ผู้ริเริ่มวิธีการสื่อสารรณรงค์เผยแพร่การใช้ถุงยางอนามัย ได้รับพระราชทานรางวัลในสาขาการสาธารณสุข ประจำปี 2552

มีผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลจำนวน 6 ราย ซึ่งต่อมา ได้รับรางวัลโนเบลจากผลงานเดียวกัน ได้แก่
(1) ศาสตราจารย์แบรี่ เจมส์ มาแชล จากออสเตรเลีย ได้รับพระราชทานรางวัลในสาขาการสาธารณสุข ประจำปี 2544 จากการค้นพบเชื้อแบคทีเรีย เฮลิโคแบคเตอร์ ไพลอรี่ เป็นสาเหตุของโรคแผลในกระเพาะอาหาร ต่อมา ได้รับรางวัลโนเบล สาขาการแพทย์ ในปี 2548

(2) ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ฮารัลด์ ซัวร์ เฮาเซ่น จากเยอรมนี ได้รับพระราชทานรางวัลรางวัลในสาขาการสาธารณสุข ประจำปี 2548 จากการค้นพบเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก ต่อมา ได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ ประจำปี 2551

(3) ศาสตราจารย์ซาโตชิ โอมูระ จากญี่ปุ่น ได้รับพระราชทานรางวัลรางวัลในสาขาการแพทย์ ประจำปี 2540 จากผลงานการศึกษาวิจัยจุลชีพชนิด สเตรฟโตมัยซีส เอเวอร์มิติลิต จนสามารถสังเคราะห์ยา ivermectin เพื่อใช้รักษาและป้องกันโรคตาบอดจากพยาธิและโรคเท้าช้าง ต่อมา ได้รับรางวัลโนเบล สาขาการแพทย์ ประจำปี 2558

(4) ศาสตราจารย์ตู โยวโยว จากจีน เป็นสมาชิกของกลุ่ม China Cooperative Research Group on Qinghaosu and its Derivatives as Antimalarials ได้รับพระราชทานรางวัลรางวัลในสาขาการแพทย์ ประจำปี 2546 จากการศึกษาสารสกัดชิงเฮาซูจนสามารถพัฒนาเป็นยารักษาโรคมาลาเรีย ต่อมา ได้รับรางวัลโนเบล สาขาการแพทย์ ประจำปี 2558

(5) เซอร์เกรกอรี พอล วินเทอร์ จากสหราชอาณาจักร ได้รับพระราชทานรางวัลในสาขาการแพทย์ ประจำปี 2559 จากการพัฒนาเทคโนโลยีในการสร้าง และดัดแปลงโมเลกุลของแอนติบอดีให้มีประสิทธิภาพสูงและลดความเป็นสิ่งแปลกปลอม (Antibody Humanization) นำไปสู่ความก้าวหน้าในการพัฒนายากลุ่มใหม่ จากชีวโมเลกุลซึ่งมีประโยชน์อย่างมากในการรักษาโรค ต่อมา ได้รับรางวัลโนเบล สาขาเคมี ประจำปี 2561

ศาสตราจารย์ ดร.กอตอลิน กอริโก จากฮังการี / สหรัฐอเมริกา และศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ดรู ไวส์แมน จากสหรัฐอเมริกา ได้รับพระราชทานรางวัลในสาขาการแพทย์ ประจำปี 2564 จากการศึกษาวิจัยวัคซีนโควิด-19 ชนิดเมสเซนเจอร์อาร์เอนเอ ซึ่งเป็นวัคซีนที่ได้ถูกพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วตอบสนองกับการระบาด ทำให้สามารถลดการติดเชื้อและการเจ็บป่วยรุนแรง อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการควบคุมการระบาดในประเทศต่างๆ ทั่วโลก เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพอนามัย และชีวิตผู้ป่วยหลายร้อยล้านคนทั่วโลก ต่อมา ได้รับรางวัลโนเบล สาขาการแพทย์ ประจำปี 2566

รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เป็นรางวัลที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งขึ้น เพื่อถวายเป็นพระราชานุสรณ์แด่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ในโอกาสจัดงานเฉลิมฉลอง 100 ปี แห่งการพระราชสมภพ 1 มกราคม 2535 ดำเนินงานโดยมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธานมอบรางวัลให้แก่บุคคลหรือองค์กรทั่วโลกที่มีผลงานดีเด่นเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ ทางด้านการแพทย์ 1 รางวัลและด้านการสาธารณสุข 1 รางวัล เป็นประจำทุกปีตลอดมา แต่ละรางวัลประกอบด้วย เหรียญรางวัล, ประกาศนียบัตร และเงินรางวัล 100,000 เหรียญสหรัฐ

ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2567

-สาขาการแพทย์

ศาสตราจารย์ ดร.โทนี ฮันเตอร์ (Professor Dr. Tony Hunter, Ph.D.)

ศาสตราจารย์ สาขาวิชาชีววิทยา สถาบันซอล์กเพื่อการศึกษาชีววิทยา

ศาสตราจารย์สมทบ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ซานดิเอโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา

สหราชอาณาจักร / สหรัฐอเมริกา

ศาสตราจารย์ ดร. แอนโทนี เร็กซ์ ฮันเตอร์ หรือเป็นที่รู้จักในนามศาสตราจารย์ ดร.โทนี ฮันเตอร์ สำเร็จการศึกษาทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอกในงานวิจัยเกี่ยวกับการสังเคราะห์โปรตีน จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ สหราชอาณาจักร ต่อมาเป็นนักวิจัยที่สถาบันซอล์กเพื่อการศึกษาชีววิทยา สหรัฐอเมริกา ตั้งแต่ปี พ.ศ.2518 จนถึงปัจจุบัน มีผลงานก้าวหน้าจนได้รับแต่งตั้งสูงขึ้นตามลำดับจนเป็นศาสตราจารย์ที่สถาบันซอล์ก และนักวิจัยอาวุโส (Renato Dulbecco Chair) ของศูนย์มะเร็งแห่งสถาบันซอล์กเพื่อการศึกษาชีววิทยา สหรัฐอเมริกา

ผลงานวิจัยสำคัญของศาสตราจารย์ ดร.โทนี ฮันเตอร์ คือการค้นพบเป็นครั้งแรกเกี่ยวกับเอนไซม์ ไทโรซีนไคเนส (Tyrosine Kinase) และกระบวนการฟอสโฟรีเลชั่น (Phosphorylation) ซึ่งเป็นการเติมโครงสร้างหมู่ฟอสเฟตที่กรดอะมิโนไทโรซีนในโปรตีน กระบวนการดังกล่าวถือเป็นกลไกพื้นฐานของการส่งสัญญาณภายในเซลล์ ที่ควบคุมการเจริญเติบโตและการทำงานของเซลล์ การกระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ไทโรซีนไคเนส ที่ผิดปกติ เช่น โดยไวรัสหรือสารที่ก่อโรคมะเร็ง ซึ่งสามารถส่งสัญญาณกระตุ้นดังกล่าวผ่านเยื่อหุ้มเซลล์ นำไปสู่การทำงานของกระบวนการเติมโครงสร้างหมู่ฟอสเฟตที่มากผิดปกติของโปรตีนภายในเซลล์ เป็นกลไกสำคัญที่ทำให้เปลี่ยนเซลล์ปกติให้กลายเป็นเซลล์มะเร็งได้

ความเข้าใจในกลไกดังกล่าวนำไปสู่การพัฒนาการรักษาโรคมะเร็งแบบมุ่งเป้า (targeted therapy) ได้โดยการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไทโรซีนไคเนส เกิดการพัฒนายาที่สามารถยับยั้งเซลล์มะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพจำนวนมากมาย ไม่น้อยกว่า 86 ตัว เช่น อิมาทินิบ (Imatinib, Gleevec(TM)) ซึ่งใช้รักษามะเร็งเม็ดเลือดขาว และสร้างความก้าวหน้าให้กับการรักษาและวิจัยด้านโรคมะเร็งอย่างกว้างขวาง เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพอนามัยของมวลมนุษย์ได้หลายร้อยล้านคนทั่วโลก

ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2567

-สาขาการสาธารณสุข

ศาสตราจารย์ ดร.โจนาธาน พี. เชฟเพิร์ด (Professor Dr. Jonathan P. Shepherd, D.D.Sc.,Ph.D.)

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ สาขาศัลยกรรมช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล

ผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมทางอาชญากรรม ความมั่นคง และการสืบสวน

มหาวิทยาลัยคาร์ดิฟฟ์ สหราชอาณาจักร

ศาสตราจารย์ ดร.โจนาธาน พี. เชฟเพิร์ด สำเร็จการศึกษาทันตแพทยศาสตรบัณฑิตจากคิงส์คอลเลจ มหาวิทยาลัยลอนดอน มหาบัณฑิตจากการฝึกอบรมเฉพาะทางด้านศัลยกรรมช่องปาก มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด และดุษฎีบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยบริสตอล สหราชอาณาจักร เคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยด้านความรุนแรงของมหาวิทยาลัยคาร์ดิฟฟ์กว่า 22 ปี
ผลงานสำคัญของศาสตราจารย์ ดร.โจนาธาน พี. เชฟเพิร์ด คือการริเริ่มสร้าง "คาร์ดิฟฟ์โมเดลเพื่อป้องกันเหตุความรุนแรง" (Cardiff Model for Violence Prevention)

โดยที่การบาดเจ็บจากเหตุความรุนแรงต่าง ๆ ซึ่งนับเป็นปัญหาสาธารณะที่สำคัญของประเทศก่อให้เกิดการสูญเสียที่มีนัยสำคัญ คือ การบาดเจ็บ การสูญเสียชีวิต รวมถึงเกิดผลกระทบต่ออารมณ์และจิตใจตลอดจนต่อเศรษฐกิจอย่างมาก ผลการศึกษาวิจัยของศาสตราจารย์เชฟเพิร์ด พบว่า ปัญหาอาชญากรรมที่รุนแรงนำไปสู่การที่ผู้ป่วยมารับการรักษาที่แผนกฉุกเฉินของโรงพยาบาลจำนวนมาก แต่เหตุดังกล่าวส่วนใหญ่ไม่ได้มีการรายงาน ทำให้เจ้าหน้าที่ด้านการบังคับใช้กฎหมายไม่ได้รับทราบมากถึงร้อยละ 75 จึงได้มีการเชื่อมโยงข้อมูลของเหตุรุนแรงระหว่างโรงพยาบาลและตำรวจ เพื่อวิเคราะห์สถานที่ซึ่งเกิดเหตุบ่อย วันเวลาที่เกิดเหตุ ขนาดและประเภทของความรุนแรงนำไปสู่การสร้างเป็นคาร์ดิฟฟ์โมเดล สามารถใช้ในการวางแผนป้องกันเหตุความรุนแรงได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทำให้จำนวนผู้ป่วยที่ต้องมาแผนกฉุกเฉินลดลงอย่างมีนัยสำคัญถึงร้อยละ 42 อีกทั้งยังช่วยลดค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการบาดเจ็บได้จำนวนมาก

ศาสตราจารย์ ดร.เชฟเพิร์ด ได้ริเริ่ม และพัฒนาคาร์ดิฟฟ์โมเดล ระหว่างปี พ.ศ. 2540 - 2544 จนสมบูรณ์แบบและนำมาใช้เป็นครั้งแรกในเมืองคาร์ดิฟฟ์ เมืองหลวงของเวลส์ ในปี พ.ศ.2544 และต่อมาในกรุงลอนดอนพบว่าได้ผลดีมากในการลดความเสียหายจากเหตุความรุนแรง จึงถูกนำไปใช้ต่อทั่วสหราชอาณาจักร และต่อมาในอีกหลายประเทศ อาทิ ออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์ แอฟริกาใต้ โคลอมเบีย จาเมกา แคนาดา และสหรัฐอเมริกา องค์การอนามัยโลกยังได้นำไปใช้สำหรับการป้องการความรุนแรงในเด็ก รวมถึงศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกาก็ได้นำไปประยุกต์ใช้เช่นเดียวกัน

คาร์ดิฟฟ์โมเดล จึงเป็นเครื่องมือและนวัตกรรมด้านสาธารณสุขที่สำคัญสำหรับการลดเหตุความรุนแรงในชุมชน ช่วยลดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินได้จำนวนมาก สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้แก่ชุมชนต่างๆ และได้รับการยอมรับในหลายทวีป เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพอนามัยของผู้คนหลายร้อยล้านคนทั่วโลก

HTML::image(