"ขยะอาหาร" ไม่เพียงแต่สร้างมลพิษให้กับระบบนิเวศจนเกิดความสูญเสียทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง ซึ่งยังเป็นปัญหาที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันบูรณาการหาแนวทางแก้ไขเพื่อลดสัดส่วนขยะอาหารให้ได้ตามเป้าหมายเหลือร้อยละ 28 ภายในปี 2570
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมควบคุมมลพิษ ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหานี้ จึงได้ดำเนินการจัดทำแผนที่นำทางการจัดการขยะอาหาร (พ.ศ. 2566 - 2573) และแผนปฏิบัติด้านการจัดการขยะอาหารระยะที่ 1 (พ.ศ. 2566 - 2570) ซึ่งคณะกรรมการอาหารแห่งชาติมีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2567 ถือเป็นกรอบและทิศทางในการขับเคลื่อนการดำเนินงานในการจัดการขยะอาหารของประเทศ ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง จนถึงปลายทาง โดยความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ภายใต้ 3 มาตรการหลัก ได้แก่ มาตรการที่ 1 การป้องกันและลดการเกิดขยะอาหาร ในกลุ่มผู้จำหน่ายอาหาร ผู้ประกอบอาหารและผู้บริโภค และการจัดการอาหารส่วนเกิน มาตรการที่ 2 การจัดการและการใช้ประโยชน์ขยะอาหาร และมาตรการที่ 3 การพัฒนาเครื่องมือบริหารจัดการอาหารส่วนเกินและขยะอาหาร
สำหรับแนวทางการจัดการขยะที่เหมาะสมจะมุ่งเน้นความสำคัญในการป้องกันและลดการเกิดขยะให้มากที่สุด รวมถึงการนำขยะอาหารไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า เพื่อให้เหลือปริมาณขยะอาหารที่ต้องกำจัดน้อยที่สุด โดยกรมควบคุมมลพิษ ได้วางแนวทางเอาไว้คือ การป้องกันการเกิดและลดขยะอาหารที่แหล่งกำเนิด (Food Waste Prevention and Reduction) ซึ่งจะป้องกันไม่ให้เกิดและลดขยะอาหารตั้งแต่ต้นทาง โดยวางแผนการผลิต/ซื้อให้พอดีกับความต้องการในการจำหน่ายอาหาร การประกอบอาหาร และการบริโภค เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอาหารเกินความต้องการทั้งในระดับธุรกิจและครัวเรือน ซึ่งมีแนวทางดังนี้
1.จัดการกับวัตถุดิบและอาหารส่วนเกินก่อนที่จะกลายเป็นขยะอาหาร เช่น การถนอมอาหารจากวัตถุดิบส่วนเกิน หรือการดัดแปลงเมนูจากอาหารส่วนเกิน เพื่อที่ยังสามารถรักษาคุณค่าทางโภชนาการและลดค่าเสียหายจากการทิ้งสินค้า หรืออาหารส่วนเกิน 2. การแบ่งปันให้ผู้ด้อยโอกาส (Feed Hungry People) ถือเป็นการบริจาคอาหารส่วนเกินให้กับธนาคารอาหาร โรงทาน และสถานสงเคราะห์ เพื่อที่ส่งต่อคุณค่าทางโภชนาการของอาหารที่ยังมีความเหมาะสมให้ผู้อื่นบริโภค
นอกจากนี้ การนำขยะอาหารที่เกิดขึ้นไปใช้ประโยชน์ ซึ่งคำนึงถึงผลประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม สังคมและเศรษฐกิจ สามารถนำไปใช้เพื่อการเลี้ยงสัตว์ (Feed Animals) เป็นการคงคุณค่าทางโภชนาการได้มากที่สุด และลดค่าใช้จ่ายของผู้เลี้ยงสัตว์ โดยคำนึงถึงข้อจำกัดและมาตรฐานอาหารสัตว์แต่ละประเภท เช่น ปลา โค กระบือ สุกร หนอนแมลงวันลาย ไส้เดือน รวมถึงสัตว์เลี้ยงในสวนสัตว์หรือบ้านเรือนทั่วไป เป็นต้น อีกทั้งยังสามารถนำขยะอาหารไปใช้ประโยชน์ทางอุตสาหกรรม (Industrial Uses) ได้อีก ซึ่งยังคงคุณค่าทางวัสดุและศักยภาพ การแปลงเป็นพลังงาน รวมทั้งเพิ่มมูลค่าให้กับขยะอาหารโดยนำขยะอาหารประเภทต่าง ๆ มาใช้ประโยชน์เชิงอุตสาหกรรมด้วยการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น นำขยะอาหารประเภท น้ำมันใช้แล้วไปแปรรูปเป็นไบโอดีเซลหรือสบู่ หรือ นำขยะอาหารรวมมาหมักแบบไร้อากาศ เพื่อผลิตก๊าซชีวภาพและแปลงเป็นพลังงาน เป็นต้น อีกทั้งยังสามารถนำไปทำปุ๋ย (Composting) เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการคงคุณค่าทางแร่ธาตุ โดยนำขยะอาหารมาหมักทำปุ๋ยแบบใช้อากาศ ปรับปรุงสภาพดินและเพิ่มธาตุอาหารให้พืชเพื่อผลิตอาหารใหม่ สอดคล้องกับหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน และเป็นการเก็บกักคาร์บอนในดินอีกด้วย
ส่วนของการกำจัดโดยการฝังกลบ/การเผา (Landfill/Incineration) เป็นขยะส่วนที่เหลือ ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ ให้นำมากำจัดโดยการฝังกลบหรือเผาในเตาเผา ซึ่งการกำจัดนี้จะเป็นการจัดการในขั้นสุดท้ายที่จำเป็นต้องนำขยะอาหารส่วนที่เหลือน้อยที่สุดมากำจัด
สำหรับแนวทางการจัดการขยะอาหารนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถนำไปประยุกต์ใช้ตามบริบทของแต่ละท้องถิ่นได้ ซึ่งสอดคล้องกับบันทึกความเข้าใจ (MOU) ที่กรมควบคุมมลพิษและกระทรวงมหาดไทย ได้ร่วมกันขับเคลื่อนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เกิดการบริหารจัดการขยะอาหารอย่างเป็นรูปธรรม ครอบคลุมทั้งระบบตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง อีกทั้งยังเป็นการพัฒนากลไกในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการขยะอาหาร รวมทั้งพัฒนาปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจุบันกระทรวงมหาดไทยมีนโยบายส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งมีการจัดการขยะอาหารที่ต้นทางผ่านโครงการถังขยะเปียก ลดโลกร้อนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงมีการคัดแยกและเก็บขนขยะมูลฝอยแบบแยกประเภท
ทั้งหมดนี้เป็นคำแนะนำแนวทางการจัดการขยะอาหารสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมุ่งไปที่กลุ่มเป้าหมาย 8 กลุ่ม ได้แก่ 1) บ้านเรือน 2) ศูนย์ราชการ/อาคารสานักงาน/โรงเรียน 3) ศูนย์อาหาร/ร้านอาหาร/ภัตตาคาร 4) ซูเปอร์มาร์เก็ต/ร้านสะดวกซื้อ 5) ตลาด 6) วัด 7) คอนโดมิเนียม/อาคารสูง และ 8) โรงแรม เพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถดำเนินงานจัดการขยะอาหารได้อย่างเหมาะสม และเกิดผลเป็นรูปธรรม ซึ่งผู้สนใจสามารถนำข้อมูลนี้ไปเผยแพร่สร้างการรับรู้และต่อยอดด้านการจัดการขยะได้ โดย ดาวน์โหลดข้อมูลที่เว็บไซต์กรมควบคุมมลพิษ https://www.pcd.go.th/garbage/
มาร่วมช่วยกันทำให้อาหารในมือเราไม่กลายเป็นขยะที่ต้องถูกกำจัดทิ้งไปอย่างไร้ค่า เพราะอย่างน้อยได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเอง แถมยังได้ช่วยลดโลกร้อน และลดมลพิษจากขยะอาหารได้อีกด้วย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit