PwC ประเทศไทย แนะธุรกิจเตรียมรับมือผลกระทบจากมาตรฐานบัญชีฉบับใหม่ การนำ GenAI มาใช้กับฝ่ายการเงิน และการจัดทำรายงานความยั่งยืนและกิจกรรมสีเขียว

19 Nov 2024

PwC ประเทศไทย แนะธุรกิจเร่งศึกษาข้อมูลการเปลี่ยนแปลงและประเมินผลกระทบจากมาตรฐานการบัญชีฉบับใหม่ IFRS 18 และ IFRS 19 การนำ GenAI มาใช้กับฝ่ายการเงินขององค์กร รวมถึงการจัดทำรายงานความยั่งยืนและกิจกรรมสีเขียวที่อาจส่งผลต่อรายงานทางการเงิน หลังธุรกิจไทยเผชิญกับความท้าทายหลากหลายด้าน ซึ่งหากผู้บริหารขาดแนวทางในการรับมือผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพก็อาจทำให้การดำเนินธุรกิจไม่เป็นไปตามแผนการที่กำหนดไว้ และไม่สามารถตอบสนองความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้ทุกกลุ่ม

PwC ประเทศไทย แนะธุรกิจเตรียมรับมือผลกระทบจากมาตรฐานบัญชีฉบับใหม่ การนำ GenAI มาใช้กับฝ่ายการเงิน และการจัดทำรายงานความยั่งยืนและกิจกรรมสีเขียว

นาย บุญเลิศ กมลชนกกุล หัวหน้าสายงานตรวจสอบบัญชี บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าว ณ งานสัมมนา "Corporate Reporting Forum" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานสัมมนาประจำปี PwC Thailand's Symposium 2024: Beyond boundaries: Shaping tomorrow's innovations" ว่า ปัจจุบันธุรกิจไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายจากเมกะเทรนด์ของโลก ซึ่งประกอบไปด้วย ความ ก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ รวมไปถึงกฎระเบียบและข้อบังคับต่าง ๆ ที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนสร้างแรงกดดันในการประกอบธุรกิจให้กับผู้บริหารที่ต้องคอยติดตามแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้สามารถระบุถึงโอกาสและความเสี่ยงจากประเด็นต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นใหม่ และบริหารงานเชิงรุกเพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขัน

"อีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลงสำคัญที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้และเป็นสิ่งผู้บริหารไทยจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดเพื่ออัปเดตข้อมูลและวางแผนรับมือกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นก็คือ มาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศฉบับใหม่อย่าง มาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศฉบับที่ 18 และฉบับที่ 19 หรือ IFRS 18 และ IFRS 19 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้สำหรับงบการเงินที่มีระยะเวลาการรายงานประจำปีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม ปี 2570" นาย บุญเลิศ กล่าว

ประเมินผลกระทบจากมาตรฐานบัญชีฉบับใหม่ IFRS 18 และ IFRS 19

ทั้งนี้ เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา คณะกรรมการมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศ (International Accounting Standards Board: IASB) ได้ออกมาตรฐานฉบับใหม่สองฉบับ ซึ่งประกอบไปด้วย มาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศฉบับที่ 18 เรื่อง การแสดงรายการและการเปิดเผยงบการเงิน (IFRS 18: Presentation and Disclosure in Financial Statements) และมาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศฉบับที่ 19 เรื่อง การเปิดเผยข้อมูลของบริษัทย่อยที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียสาธารณะ (IFRS 19: Subsidiaries without Public Accountability: Disclosures) ซึ่งจะมีผลบังคับใช้สำหรับงบการเงินที่มีระยะเวลาการรายงานประจำปีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2570 โดยผลกระทบจากมาตรฐานบัญชีฉบับใหม่ทั้งสองฉบับนี้ มีดังต่อไปนี้

  1. มาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศฉบับที่ 18 เรื่อง การแสดงรายการและการเปิดเผยงบการเงิน (IFRS 18: Presentation and Disclosure in Financial Statements) เมื่อถูกนำมาใช้จะส่งผลให้มีการเปลี่ยนรูปแบบการแสดงงบกำไรขาดทุน โดยแบ่งเป็นห้าหมวดหมู่ ได้แก่ การดำเนินงาน การลงทุน การจัดหาเงิน ภาษีเงินได้ และการดำเนิน งานที่ยกเลิก รวมถึงให้เปิดเผยวิธีการคำนวณและการกระทบยอดระหว่างตัวเลขการวัดผลการดำเนินงานที่ฝ่ายจัดการกำหนดขึ้นมากับตัวเลขที่ใกล้เคียงที่สุดของการวัดผลนั้นที่แสดงอยู่ในงบการเงินว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร ซึ่งจะส่งผลให้งบการเงินมีความสามารถในการเปรียบเทียบระหว่างกิจการต่าง ๆ และระหว่างกิจการเดียวกันสำหรับงวดที่แตกต่างกันทำได้ดีขึ้นและเพิ่มความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น (transparency) ในกรณีที่ฝ่ายจัดการมีการเผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณะเกี่ยวกับกำไรขาดทุนที่แตกต่างไปจากงบการเงิน
  2. มาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศฉบับที่ 19 เรื่อง การเปิดเผยข้อมูลของบริษัทย่อยที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียสาธารณะ (IFRS 19: Subsidiaries without Public Accountability: Disclosures) โดยให้ทางเลือกบริษัทย่อยจัดทำงบการเงินและเปิดเผยข้อมูลลดลงอย่างเป็นสาระสำคัญ เมื่อเทียบกับการเปิดเผยข้อมูลตามข้อกำหนดของมาตรฐานการรายงานทางการเงินปัจจุบัน ทั้งนี้ มาตรฐานฉบับใหม่นี้จะเพิ่มทางเลือกให้แก่บริษัทย่อยซึ่งปัจจุบันจัดทำงบการเงินตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียสาธารณะ (Thai Financial Reporting Standards for Non-Publicly Accountable Entities: TFRS for NPAEs) โดยสามารถยกระดับเรื่องการวัดมูลค่าโดยเปลี่ยนมาจัดทำงบการเงินตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินและสามารถลดภาระเรื่องการเปิดเผยข้อมูล

นาย บุญเลิศ กล่าวว่า สำหรับมาตรฐานการรายงานทางการเงินไทยนั้นน่าจะมีการปรับปรุงแก้ไขตาม IFRS 18 และ IFRS 19 และคาดว่าจะมีผลบังคับใช้สำหรับงบการเงินที่มีระยะเวลาการรายงานประจำปีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2571 ซึ่งการเปลี่ยน แปลงของมาตรฐานนี้จะให้ทางเลือกแก่บริษัทมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการจัดทำงบการเงินของบริษัทย่อยในกลุ่มกิจการ ดังนั้นผู้บริหารต้องพิจารณาว่าจะเลือกจัดทำงบการเงินตามมาตรฐาน TFRS for NPAE หรือ IFRS 19 เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่กลุ่มกิจการ นอกจากนี้ ผู้ใช้งบการเงินจะได้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องและตรงประเด็นมากขึ้น รวมถึงสามารถวิเคราะห์เปรียบเทียบกับงบการเงินของกิจการอื่นได้ดียิ่งขึ้น

องค์กรไทยใช้ GenAI เพิ่มประสิทธิภาพงานด้านบัญชีและการเงิน

ปัจจุบันเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์แบบรู้สร้าง (generative AI: GenAI) ถูกนำมาใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ องค์กรไทยหลายแห่งมีการนำ GenAI มาใช้งานในหลากหลายมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนำ GenAI มาใช้กับงานด้านบัญชีและการเงินขององค์กรที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจาก AI ไม่เพียงแต่ช่วยจัดการและประมวลผลข้อมูลของเอกสารทางการเงินต่าง ๆ เท่านั้น แต่ยังช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลทางการเงินเชิงคาดการณ์และการวิเคราะห์เชิงแนะนำ ซึ่งช่วยให้ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน (Chief Financial Officer: CFO) สามารถนำข้อมูลไปใช้ประกอบการตัดสินใจและวางแผนทางการเงินเชิงกลยุทธ์ให้กับองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ GenAI สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนในการดำเนินงาน เช่น ในต่างประเทศมีการใช้ GenAI ช่วยนักลงทุนสัมพันธ์ในการเปรียบเทียบข้อมูลในกลุ่มอุตสาหกรรมและร่างคำตอบให้แก่นักลงทุน การค้นคว้าข้อมูลการควบรวมธุรกิจที่เกิดขึ้นและการสร้างโมเดล รวมถึงการประเมินมูลค่าธุรกิจในการรวมธุรกิจเพื่อเป็นทางเลือกแก่ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ เป็นต้น

"ผู้นำธุรกิจจะเปลี่ยนผ่านองค์กรในการนำ GenAI เข้ามาใช้งานภายในองค์กรนั้นควรเริ่มจากการจัดทำแผนการใช้ AI ให้สอดคล้องกับแผนธุรกิจ จากนั้นประเมินถึงผลกระทบและการควบคุมความเสี่ยงในการจัดการข้อมูล ธุรกิจควรทดลองใช้งาน GenAI โดยสร้างกรณีการใช้งานเพื่อเพิ่มความตระหนักรู้ รวมทั้งเสริมสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้เห็นถึงประโยชน์ของการนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้งาน แต่ในขณะเดียวกัน ผู้นำธุรกิจก็ต้องตระหนักถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นและมีกรอบกำกับดูแลการใช้งาน AI อย่างรับผิดชอบเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและความโปร่งใส" นาย บุญเลิศ กล่าว

สำรวจแผนการด้าน ESG ขององค์กรว่าส่งผลกระทบต่อการรายงานทางการเงินหรือไม่

นาย บุญเลิศ กล่าวว่า ปัจจุบันภาครัฐและหน่วยงานกำกับในหลาย ๆ ประเทศได้ออกนโยบายหรือกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) เพิ่มมากขึ้น ซึ่งแม้ในประเทศไทยจะยังไม่มีกฎระเบียบข้อบังคับในเรื่องนี้อย่างเต็มรูปแบบเหมือนสหภาพยุโรป แต่มีการบังคับบริษัทจดทะเบียนให้เปิดเผยข้อมูลด้าน ESG ควบคู่ไปกับงบการเงินในรูปแบบ One Report และมีแนวโน้มว่าการเปิดเผยข้อมูลเชิงลึกจะทวีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อมูลที่เกี่ยวเนื่องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลให้ธุรกิจไทยหลายแห่งเริ่มศึกษาและนำแนวปฏิบัติด้าน ESG มาปรับใช้กับองค์กรอย่างแพร่หลายเพื่อขับเคลื่อนการสร้างมูลค่าในระยะยาวและรองรับกับกฎระเบียบที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น รวมไปถึงการจัดทำรายงานความยั่งยืนที่มีความโปร่งใสและเชื่อถือได้ ด้วยเหตุนี้ CFO จึงมีบทบาทสำคัญในการวางกลยุทธ์ทางการเงิน การจัดหาแหล่งเงินทุน พร้อมกับเสนอทางเลือกต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับแนวทาง ESG ขององค์กร รวมทั้งรวบรวมข้อมูลทางการเงินและข้อมูลที่มิใช่ข้อมูลทางการเงิน เพื่อให้แน่ใจว่ามีความโปร่งใสในการจัดทำรายงานความยั่งยืน ติดตามผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง และสื่อสารกลยุทธ์และแผนงานด้าน ESG ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มได้รับทราบ

ทั้งนี้ หนึ่งในแนวทางระดมทุนที่สอดคล้องกับแนวทาง ESG และกำลังได้รับความสนใจอย่างยิ่งในเวลานี้ คือ การออกตราสารทางการเงินสีเขียว รวมถึงการดำเนินกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น การติดฉลากสีเขียวเพื่อสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน และการใช้แหล่งพลังงานสะอาดเพื่อให้ช่วยบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ซึ่งกิจกรรมสีเขียวเหล่านี้มีผลกระทบต่อแนวปฏิบัติทางบัญชี โดยเฉพาะเรื่องการจัดประเภทรายการและการวัดมูลค่ายุติธรรมของเครื่องมือทางการเงิน ด้วยเหตุนี้ CFO จึงมีหน้าที่ที่จะต้องประเมินและจัดการผลกระทบทางการรายงานทางการเงินจากตราสารทางการเงินสีเขียว เพราะตราสารเหล่านี้อาจส่งผลต่อความผันผวนของกำไรขาดทุนของกิจการ

"CFO ควรต้องสำรวจแผนการด้าน ESG ขององค์กรว่าจะส่งผลกระทบต่อการรายงานทางการเงินในมิติใดบ้าง ยกตัวอย่าง เช่น การปรับปรุงการดำเนินธุรกิจเพื่อรับมือกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งอาจส่งผลต่อความขาดแคลนของวัตถุดิบและทรัพยากรธรรมชาติและจะมีผลกระทบต่องบการเงิน เช่น การด้อยค่าของสินทรัพย์ที่มีอยู่ มูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์ และความ สามารถในการเก็บหนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ ในปัจจุบันนักลงทุนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของธุรกิจหันมาให้ความสนใจเรื่อง climate change มากขึ้นเห็นได้จากความต้องการรายงานความยั่งยืนของนักลงทุนต่างชาติเพื่อนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุนที่เพิ่มขึ้น ผู้นำธุรกิจจึงควรยึดแนวปฏิบัติทางบัญชีที่ให้ข้อมูลที่มีความโปร่งใสเพื่อสร้างความมั่นใจในข้อมูลที่เปิดเผยในรายงานทางการเงิน รวมถึงข้อมูลที่มิใช่ข้อมูลทางการเงินด้วย" นายบุญเลิศ กล่าว

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit