มาสเตอร์การ์ดและมูลนิธิอาเซียนลงนามบันทึกความเข้าใจเปิดตัวโครงการ Cyber Resilience เพื่อเสริมสร้างศักยภาพด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ทั่วทั้งภูมิภาค

19 Nov 2024

มาสเตอร์การ์ดได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) กับมูลนิธิอาเซียน ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างรัฐบาลภายในสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อริเริ่มหลากหลายโครงการในประเทศในกลุ่มสมาชิกอาเซียน เพื่อพัฒนาความสามารถด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ของหน่วยงานภาครัฐและธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) โดยเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือที่เรียกว่า โครงการความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ของมูลนิธิอาเซียน-มาสเตอร์การ์ด (ASEAN Foundation-Mastercard Cybersecurity Resilience Program) ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะมุ่งเน้นความพยายามในสามด้านหลัก ได้แก่ การสร้างความตระหนักรู้ การจัดฝึกอบรมและพัฒนาทักษะ และการเพิ่มขีดความสามารถผ่านเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์

มาสเตอร์การ์ดและมูลนิธิอาเซียนลงนามบันทึกความเข้าใจเปิดตัวโครงการ Cyber Resilience เพื่อเสริมสร้างศักยภาพด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ทั่วทั้งภูมิภาค

สำหรับภาคเอกชน โครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือ ธุรกิจ SMEs ในภูมิภาค ซึ่งมีสัดส่วนมากกว่า 97% ของธุรกิจทั้งหมดในภูมิภาคและสร้างการจ้างงาน 85 เปอร์เซ็นต์[1] โครงการริเริ่มต่างๆ โดยประกอบด้วย:

  • เตรียมความพร้อมให้กับธุรกิจ SMEs ให้รู้เท่าทันเหตุการณ์ทางไซเบอร์ผ่านศูนย์ Mastercard Trust Center ที่มีบริการให้ความรู้ ทรัพยากร และเครื่องมือที่ให้บริการแบบไม่มีค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการป้องกันภัยทางไซเบอร์อย่างครบวงจร
  • ช่วยให้ SMEs สามารถตรวจสอบจุดอ่อนในระบบของธุรกิจตนเองผ่านเครื่องมือ My Cyber Risk ของ Mastercard ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ธุรกิจต่างๆ สามารถระบุ กำหนดลำดับความสำคัญ และดำเนินการกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ต่อโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลได้
  • การจัดสัมมนาและการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่เกิดขึ้นใหม่ในมิติต่าง ๆ แก่เหล่าธุรกิจ SMEs

ในด้านของภาครัฐ ความร่วมมือนี้จะช่วยเสริมสร้างความพร้อมในการป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์ ผ่านการดำเนินการต่าง ๆ อาทิ:

  • การจัดสัมมนาออนไลน์เกี่ยวกับความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่ออกแบบมาเพื่อการรับมือกับความท้าทายที่ภาครัฐในอาเซียนต้องเผชิญ เพื่อมอบความรู้ในประเด็นสำคัญให้แก่ผู้เชี่ยวชาญในภาครัฐที่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยทางไซเบอร์
  • จัดการฝึกซ้อมจำลองวิกฤตเพื่อทดสอบความพร้อมและความยืดหยุ่นของเทคโนโลยีและกระบวนการองค์กรทางไซเบอร์ของ และเพื่อหาช่องว่างที่สามารถทลายขีดความสามารถได้
  • การพัฒนารายงานวิจัยและจัดหาเครื่องมือประเมินความเสี่ยงให้แก่รัฐบาลในประเทศกลุ่มอาเซียน รวมถึงการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการต่อต้านการฉ้อโกง

โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามอย่างต่อเนื่องของอาเซียนในการเพิ่มขีดความสามารถด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ของภูมิภาค ทลายขีดจำกัดด้านความสามารถทางไซเบอร์ ละการแบ่งปันข้อมูลอาชญากรรมทางไซเบอร์ในภูมิภาคให้แก่บุคคลที่เกี่ยวข้อง

นายซาตวินเดอร์ สิงห์ (Satvinder Singh) รองเลขาธิการอาเซียนด้านประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน กล่าวว่า "การบรรลุวิสัยทัศน์เศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียนจะต้องอาศัยการบูรณาการระดับภูมิภาคที่เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้ธุรกิจต่างๆ สามารถดำเนินงานได้อย่างราบรื่น พร้อมทั้งมอบบริการดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภค รวมถึงโซลูชันการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ เพราะหัวใจสำคัญของการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้คือความจำเป็นในการสร้างความสามารถในการรับมือทางภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งมีความซับซ้อนและแพร่หลายมากขึ้นเรื่อยๆ" นอกจากนี้ นายซาตวินเดอร์ยังกล่าวเสริมว่า "ผมขอชื่นชมมาสเตอร์การ์ดและมูลนิธิอาเซียนที่เป็นผู้นำในการริเริ่มด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ เมื่อพิจารณาจากบทบาทที่สำคัญของมาสเตอร์การ์ดในฐานะผู้ให้บริการโซลูชันการชำระเงินข้ามพรมแดนที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อธุรกิจและกิจกรรมทางสังคมทั่วโลก นวัตกรรมทางการเงินและความปลอดภัยที่ล้ำสมัยของมาสเตอร์การ์ดจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อความสามารถในการรับมือทางไซเบอร์และความน่าเชื่อถือทางดิจิทัลในระดับโลกและระดับภูมิภาค"

"โครงการความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ของมูลนิธิอาเซียน-มาสเตอร์การ์ดถือเป็นก้าวสำคัญในการเสริมสร้างศักยภาพด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ในภูมิภาคอาเซียน เนื่องจากภัยคุกคามทางไซเบอร์มีความซับซ้อนมากขึ้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องช่วยให้ประเทศสมาชิกของเราซึ่งไม่เพียงแต่สร้างการป้องกันที่แข็งแกร่งขึ้นเท่านั้น แต่ยังต้องเพิ่มความสามารถในการแบ่งปันข้อมูลที่สำคัญและร่วมมือกันข้ามพรมแดนด้วย โครงการนี้จะช่วยให้เรามีการใช้แนวทางที่เป็นประโยชน์ร่วมกันเพื่อส่งเสริมทั้งทักษะและทรัพยากร ให้เราสามารถรับมือกับความท้าทายทางไซเบอร์ร่วมกันได้ การทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดไม่เพียงแต่ช่วยปกป้องอนาคตทางดิจิทัลของเราเท่านั้น แต่ยังช่วยให้อาเซียนยังคงมีความสามารถในการแข่งขันและมีความยืดหยุ่นในภูมิทัศน์ด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ระดับโลกที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาอีกด้วย " ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิอาเซียน กล่าว

เศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยมีอัตราการเติบโตทบต้นต่อปีอยู่ที่ 27 เปอร์เซ็นต์ตั้งแต่ปี 2564[2] แม้ว่าการลงทุนด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ในภูมิภาคจะเติบโตขึ้น 14 เปอร์เซ็นต์ต่อปีตั้งแต่ปี 2564 และคาดว่าจะสูงถึง 6.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2569[3] แต่ตัวเลขเหล่านี้ยังไม่เพียงพอที่จะจัดการกับอาชญากรรมทางไซเบอร์ที่เติบโตอย่างรวดเร็วในภูมิภาคได้อย่างเหมาะสม เนื่องจากเพิ่มขึ้นถึง 82 เปอร์เซ็นต์ระหว่างปี 2564 ถึง 2565[4] ในขณะเดียวกัน ธุรกิจ SME มักตกเป็นเป้าหมายของอาชญากรไซเบอร์ที่ใช้ประโยชน์จากมาตรการรักษาความปลอดภัยที่หละหลวมกว่าในธุรกิจขนาดเล็กเหล่านี้ ในประเทศไทย กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) พบมีการรายงานคดีอาชญากรรมทางไซเบอร์กว่า 504,616 คดี ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 ถึงเดือนเมษายน 2567 ก่อให้เกิดความเสียหายราว 1.95 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ[5] นอกจากนี้ ตามรายงานประจำปี 2567 ของศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (ThaiCERT) ยังระบุว่าธุรกิจ SME คิดเป็น 40 เปอร์เซ็นต์ของเป้าหมายอาชญากรรมทางไซเบอร์ทั้งหมดในประเทศอีกด้วย[6]

นายซาฟดาร์ คาน ประธานฝ่ายภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มาสเตอร์การ์ด กล่าวว่า "การเสริมสร้างความสามารถและความเชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์เป็นสิ่งสำคัญในการรับมือกับภัยคุกคามทางดิจิทัลที่พัฒนาอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน อีกทั้งยังเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลที่เข้มแข็ง ความร่วมมือที่สำคัญนี้กับมูลนิธิอาเซียนมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างศักยภาพด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งนี้ยังแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของมาสเตอร์การ์ดในการเสริมสร้างความเชื่อมั่นในโลกดิจิทัล ด้วยการริเริ่มโครงการที่มีผลกระทบต่อทั้งภาครัฐและภาค SMEs ความร่วมมือนี้จะช่วยสร้างระบบนิเวศดิจิทัลที่มีความมั่นคงและยืดหยุ่นให้กับผู้เข้าร่วมทุกคน พร้อมเปิดโอกาสใหม่ ๆ ให้กับบุคคลากรและกลุ่มธุรกิจ และเร่งผลักดันการเติบโตอย่างครอบคลุมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้"

วินนี่ วอง ผู้จัดการประจำประเทศไทยและเมียนมา มาสเตอร์การ์ด กล่าวว่า "ประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในเศรษฐกิจดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งนั่นก็หมายถึงโอกาสที่มากมายมหาศาล และก็ยังชี้ให้เห็นว่าการมีมาตรการความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่เข้มแข็งเป็นสิ่งจำเป็น ความร่วมมือระหว่างมาสเตอร์การ์ดและมูลนิธิอาเซียนครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ประจวบเหมาะ เนื่องจากภัยคุกคามทางไซเบอร์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในด้านขนาดและความซับซ้อน และในขณะเดียวกัน SMEs ยังคงเป็นภาคส่วนที่สำคัญของประเทศไทย อีกทั้งภาครัฐยังมีการวางมาตรการในการส่งเสริมการเติบโตของ SMEs ให้อยู่ในวาระแห่งชาติ ความร่วมมือในครั้งนี้จึงแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของมาสเตอร์การ์ดในการส่งเสริมสภาพแวดล้อมดิจิทัลที่ปลอดภัยเพื่อให้บุคคลากรและกลุ่มธุรกิจทุกขนาดในประเทศไทยและทั่วทั้งภูมิภาคสามารถก้าวสู่โลกดิจิทัลได้อย่างมั่นใจและได้รับประโยชน์จากเศรษฐกิจดิจิทัล"

มาสเตอร์การ์ดได้เป็นผู้นำในการส่งเสริมความปลอดภัยทางไซเบอร์และการสร้างความเชื่อมั่นทางดิจิทัล ทั้งในระดับโลกและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัทได้ร่วมมือกับหลากหลายอุตสาหกรรม รวมถึงภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อต่อสู้กับการเพิ่มขึ้นของอาชญากรรมทางไซเบอร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความร่วมมือเหล่านี้ยังรวมไปถึงการทำงานกับโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ในโครงการพันธมิตรระดับโลกเพื่อต่อต้านการหลอกลวงทางดิจิทัล (United Nations Development Program's Global Coalition Against Digital Scams) และการเป็นประธานในพันธมิตรต่อต้านการหลอกลวงระดับโลก (Global Anti Scam Alliance) มาสเตอร์การ์ดยังมีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้นำเสวนาในอุตสาหกรรมและการแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดเพื่อเสริมสร้างความไว้วางใจในระบบนิเวศดิจิทัล ตัวอย่างเช่น มาสเตอร์การ์ดได้จัดการประชุมเชิงอภิปรายที่งานประชุมการเงินดิจิทัลของธนาคารแห่งประเทศไทยในปี 2566 ซึ่งรวบรวมผู้นำในอุตสาหกรรมจากสถาบันการเงินและหน่วยงานของรัฐเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับบทบาทความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการลดปัญหาการหลอกลวงและสร้างความเชื่อมั่นที่มั่นคงยิ่งขึ้น นอกจากนี้ มาสเตอร์การ์ดยังได้ร่วมมือกับองค์กรต่างๆ เพื่อเสริมสร้างความสามารถและบุคลากรด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น โครงการ FlexiMasters ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยางในสิงคโปร์ และศูนย์ความเป็นเลิศด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ Indosat-Mastercard ในประเทศอินโดนีเซีย