กทม. เดินหน้าจัดระเบียบคนไร้บ้าน - ขอทาน เร่งฟื้นฟูเยียวยาให้กลับมาใช้ชีวิตปกติในสังคม

11 Feb 2025

นางสาวเกศจริน สามีภักดิ์ ผู้อำนวยการเขตคลองเตย กทม. กล่าวกรณีเกิดเหตุคนไร้บ้านทำร้ายร่างกายผู้สัญจรบริเวณถนนสุขุมวิท ซอย 36 - 38 ว่า สำนักงานเขตฯ ได้ร่วมกับสำนักพัฒนาสังคม (สพส.) ลงพื้นที่ตรวจสอบและกวดขันคนไร้บ้านที่มีพฤติกรรมข่มขู่ทำร้ายร่างกายผู้สัญจรบริเวณถนนสุขุมวิท ซอย 38 - 36 เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 68 เวลา 16.00 น. แต่ไม่พบชายเร่ร่อนดังกล่าว อย่างไรก็ตาม สำนักงานเขตฯ จะประสานสถานีตำรวจนครบาล (สน.) ทองหล่อตรวจสอบและกวดขันอย่างต่อเนื่อง

กทม. เดินหน้าจัดระเบียบคนไร้บ้าน - ขอทาน เร่งฟื้นฟูเยียวยาให้กลับมาใช้ชีวิตปกติในสังคม

นอกจากนี้ สำนักงานเขตฯ ได้จัดชุดสายตรวจเทศกิจดูแลความปลอดภัยผู้สัญจรบริเวณถนนสุขุมวิทในพื้นที่รับผิดชอบตามอำนาจหน้าที่เป็นประจำทุกวัน วันละ 3 รอบ ตั้งแต่เวลาเช้า บ่าย และกลางคืน โดยร่วมกับสำนักเทศกิจ (สนท.) ออกตรวจตรากวดขันทุกวัน และเพิ่มรอบชุดสายตรวจเทศกิจออกตรวจ พร้อมทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สถานีตำรวจนครบาลพื้นที่ สพส. สนท. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และกระทรวงแรงงานลงพื้นที่กวดขันคนไร้บ้านและขอทานต่างด้าว ตลอดจนประสานสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) ตรวจสอบกล้องวงจรปิด (CCTV) ไฟฟ้าส่องสว่างให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน เพื่อดูแลความปลอดภัยประชาชนและนักท่องเที่ยวที่สัญจรผ่านถนนสุขุมวิทในพื้นที่รับผิดชอบอย่างต่อเนื่องต่อไป

นางสาวกาญจนา ภูพิพัฒน์ผล รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม (สพส.) กทม. กล่าวว่า ในการจัดระเบียบและแก้ไขปัญหาคนไร้บ้าน-ขอทานในพื้นที่กรุงเทพฯ กทม. ได้บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานในสังกัดและหน่วยงานภายนอกในรูปของคณะทำงานด้านคนไร้บ้านและขอทาน ตามคำสั่ง พม. เพื่อสร้างความตระหนักถึงปัญหาและผลกระทบทางสังคมที่เกิดขึ้น นำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน โดยมาตรการและกระบวนการทำงานคือ เมื่อได้รับการประสานแจ้ง หรือตรวจพบคนเร่ร่อน คนไร้บ้านในที่สาธารณะ ก่อปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชน จะประสานแจ้งพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พ.ศ. 2557 หรือศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งกรุงเทพฯ พม. และเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ หากคัดกรองแล้วพบว่า เป็นกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ หรือคนที่อยู่ในภาวะยากลำบากและยินยอมเข้ารับการคุ้มครองสวัสดิภาพจะส่งตัวไปยังศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งและสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งในสังกัด พม. เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น กรณีเจ็บป่วยจะส่งตัวเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลของรัฐตามสิทธิการรักษาพยาบาล เพื่อฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจ และหากประสงค์ฝึกอาชีพจะมีบริการฝึกอาชีพและจัดหางานตามความเหมาะสมของแต่ละบุคคล โดยในพื้นที่กรุงเทพฯ จะส่งสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งชายธัญบุรีและสถานคุ้มครองคนไร้ที่พึ่งหญิงธัญบุรี

นอกจากนี้ ได้ลงพื้นที่สำรวจ ตรวจตรา คัดกรอง และจัดทำประวัติ เพื่อเป็นฐานข้อมูลคนไร้บ้านในการให้ความช่วยเหลือและมีจุดบริการสวัสดิการสังคม (Drop In) 2 แห่ง ได้แก่ บริเวณใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าระหว่างเวลา 10.00 - 16.00 น. โดยการสำรวจ คัดกรอง ทำประวัติ ให้คำปรึกษาแนะนำ การประสานส่งต่อ บริการซัก อบ อาบ ห้องอาบน้ำ ห้องสุขา และการประชาสัมพันธ์สิทธิสวัสดิการด้านต่าง ๆ การจัดทำฐานข้อมูล (ทุกวัน) บริการตรวจสุขภาพ ตัดผม บริการรถสุขาเคลื่อนที่ บริการรับสมัครงาน (ทุกวันศุกร์) และบริการรถทะเบียนเคลื่อนที่ทำบัตรประจำตัวประชาชน บริการย้ายสิทธิการรักษาพยาบาล (ทุกวันศุกร์สัปดาห์สุดท้ายของเดือน) และบริเวณตรอกสาเกตั้งแต่เวลา 18.00 น. ณ จุดแจกอาหารเขตพระนคร (ทุกวัน) และจุดบริการของมูลนิธิอิสรชน (เฉพาะวันอังคาร)

ทั้งนี้ ในปี 2568 สพส. ได้รับอนุมัติงบประมาณปรับปรุงอาคารและบริเวณพื้นที่สำนักงานประปาแม้นศรี (เดิม) สำหรับเปิด "บ้านอิ่มใจ" เพื่อเป็นสถานที่พักชั่วคราวสำหรับคนไร้บ้านในรูปแบบ Emergency Shelters รองรับการจัดบริการสวัสดิการสังคมและฟื้นฟูกลุ่มคนไร้บ้าน รวมถึงการประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้คนไร้บ้านที่มีความประสงค์จะทำงาน หรือฝึกอาชีพให้กลับเข้าสู่ระบบการทำงาน และสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในสังคมอย่างปกติสุข เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง ขณะเดียวกัน สพส. ได้เพิ่มความเข้มงวดกวดขันและตรวจสอบความเป็นระเบียบเรียบร้อยในพื้นที่ 50 เขตของ กทม. อย่างต่อเนื่อง โดยร่วมกับฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม ฝ่ายเทศกิจของสำนักงานเขต ดำเนินการตาม พ.ร.บ. ควบคุมการขอทาน พ.ศ. 2559 และ พ.ร.บ. รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยสำนักงานเขตฯ จะสำรวจคนไร้บ้านและรายงานผลให้ สพส. ทราบทุกวันจันทร์ของสัปดาห์