สสส.สานพลังภาคีบ้านขามเปี้ย อุบลราชธานี ร่วมพลิกฟื้นภูมิดี สู่การสร้างนิเวศสื่อสุขภาวะในเด็กปฐมวัย

04 Feb 2025

ในตำบลขามเปี้ย อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี มีการพัฒนาเด็กที่เชื่อมโยงกับภูมิปัญญาท้องถิ่น และการสร้างสื่อสุขภาวะที่เอื้อต่อพัฒนาการด้านร่างกาย จิตใจ และสังคมของเด็ก ภายใต้โครงมหัศจรรย์นิเวศสื่อสุขภาวะเพื่อเด็กปฐมวัย ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา (สำนัก11) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ภายใต้การบริหารงานโดยกลุ่ม wearehappy องค์กรสาธารณประโยชน์ ร่วมกับภาคีเครือข่ายครูปฐมวัยทั่วประเทศ

สสส.สานพลังภาคีบ้านขามเปี้ย อุบลราชธานี ร่วมพลิกฟื้นภูมิดี สู่การสร้างนิเวศสื่อสุขภาวะในเด็กปฐมวัย

โดยผู้ปกครองส่วนใหญ่ในพื้นที่ทำอาชีพเกษตรกร มีพฤติกรรมการดูแลเด็กโดยใช้โทรศัพท์มือถือและทีวีเป็นหลัก ในพื้นที่ พบว่า ครอบครัวส่วนใหญ่มีการใช้สื่อหลากหลายรูปแบบ ทั้งการดูทีวี การอ่านหนังสือนิทาน การใช้โทรศัพท์มือถือ และการเล่นเกมส์ โดยผู้ปกครองมักใช้สื่อเหล่านี้เป็นเครื่องมือในการดูแลเด็ก ทั้งในวันธรรมดาและวันหยุด สำหรับเด็กปฐมวัย ซึ่งเป็นช่วงวัยที่ต้องการการเรียนรู้และการดูแลอย่างเหมาะสม เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมดังกล่าว ทางบ้านขามเปี้ย จึงจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมให้ผู้ปกครองและผู้ดูแลเด็กเข้าใจแนวคิด สื่อดี พื้นที่ดี และภูมิดี โดยมุ่งหวังให้เกิดการพัฒนาทั้งทางร่างกายและจิตใจของเด็กและผู้ปกครอง

ครูปราณีต บุญเนาว์ ครูประจำศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดสะอาด ซึ่งเป็นแกนนำสำคัญในการดำเนินงาน กล่าวถึงทำกิจกรรมโครงการ ตามแนวคิด 3 ดี (สื่อดี พื้นที่ดี ภูมิดี) ว่า "ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กใน ตำบลขามเปี้ย ได้เข้าร่วมโครงการมหัศจรรย์สื่อสร้างสรรค์ กับสสส. ได้มีการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ในโครงการนี้ ไม่ใช่แค่การถ่ายทอดสิ่งที่เรามีอยู่ให้เด็กๆ แต่คือการสร้างความตระหนักให้ทุกคนในชุมชนเห็นว่า สิ่งที่เคยเรียบง่ายและธรรมดา กลับเต็มไปด้วยคุณค่า เราเห็นเด็กๆ ที่เคยติดโทรศัพท์มือถือ เริ่มกลับมาสนุกกับการเล่นพื้นบ้านหรือเรียนรู้วิธีทำสื่อสร้างสรรค์ให้กับเด็กๆ พ่อ แม่ ผู้ปกครอง ทำตัวเป็นสื่อดี ที่ส่งเสริมให้เด็กๆได้เรียนรู้ คือความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ของเรา"

การดำเนินงานของโครงการได้มีการพัฒนากระบวนการกิจกรรม ร่วมกับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่อยู่ในสังกัดองค์การบริหารส่วนตำบลขามเปี้ย จำนวน 8 แห่ง ดำเนินกิจกรรมพัฒนาเด็กผ่านการพัฒนาให้ความรู้กับครอบครัว ควบคู่กันไปด้วย ภายใต้แนวคิด นิเวศสื่อสุขภาวะ ที่หมายถึง การสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการพัฒนาเด็กปฐมวัย โดยใช้แนวคิด 3 ดี (สื่อดี พื้นที่ดี ภูมิดี) ในการจัดสภาพแวดล้อมชุมชนให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ ชุมชนใช้สื่อและพื้นที่อย่างเหมาะสม ส่งผลให้เด็กและครอบครัวอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในชุมชน เช่น การสร้างแหล่งเรียนรู้ที่เข้าถึงง่ายภายใน 5 นาที และสอดคล้องกับภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมสุขภาวะและการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและชุมชนอย่างยั่งยืน"

ส่งเสริมการทักษะชีวิตของเด็กผ่านสื่อดี และกิจกรรมสร้างสรรค์

  1. พัฒนาทักษะสังคม: การเรียนรู้ผ่านการร่วมมือ หลายกิจกรรมในโครงการส่งเสริมให้เด็กได้เรียนรู้การทำงานร่วมกันในกลุ่ม เช่น การพัฒนาซ่อมแซมพื้นที่กิจกรรมทางกายสนามสร้างสรรค์จากล้อยาง และการสร้างของเล่นจากวัสดุธรรมชาติ เด็กๆ ต้องแบ่งหน้าที่และทำงานร่วมกับเพื่อนๆ รวมถึงผู้ปกครอง การเรียนรู้เหล่านี้ช่วยให้พวกเขาเข้าใจบทบาทของตนเองในทีม สร้างความสัมพันธ์ที่ดี และรู้จักการแบ่งปันและเคารพความคิดเห็นของผู้อื่น ตัวอย่างกิจกรรม เช่น กิจกรรมพับ ดอกไม้จากใบเตย ที่วัดบ้านท่าบ่อแบง เด็กๆ ได้เรียนรู้การช่วยเหลือกันในกลุ่มเล็กๆ เพื่อสร้างดอกไม้ที่สวยงาม พร้อมทั้งฝึกสมาธิและความอดทนผ่านการทำงานที่ต้องใช้ความประณีต
  2. พัฒนาทักษะการแก้ปัญหา: การเผชิญหน้ากับอุปสรรค กิจกรรมที่ให้เด็กลงมือทำจริง เช่น การเรียนรู้การ แปรรูปหน่อไม้ ที่บ้านขามเปี้ย และการ เพาะเห็ดนางฟ้า ในชุมชน เด็กๆ ได้ลองสัมผัสกับกระบวนการตั้งแต่การเตรียมวัสดุไปจนถึงการดูแลขั้นตอนต่างๆ ซึ่งบางครั้งต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เช่น การหาวิธีทำให้ก้อนเห็ดเจริญเติบโตเร็วขึ้น หรือการใช้เครื่องมือที่ปลอดภัย กิจกรรมเหล่านี้ช่วยเสริมสร้างความคิดอย่างเป็นระบบและการแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์

ครูไนยนา เจริญราช ครูประจำศูนย์พัฒนาเด็กเล็กวัดบ้านนาตาหมุด กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเด็ก และครอบครัว ว่า "สถานการณ์สุขภาพของเด็กปฐมวัยในพื้นที่อยู่ในระดับที่ดี เด็กๆ มีความสนุกสนานกับกิจกรรมที่จัดขึ้นในพื้นที่ดีและสื่อดี เช่น ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก (ศพด.) วัดสะอาด และวัดบ้านนาตาหมุด ซึ่งช่วยลดการเล่นโทรศัพท์มือถือและการอยู่แต่ในห้องลงได้ชุมชนในพื้นที่ก็มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการพัฒนาเด็กให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี พร้อมช่วยเหลือกิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้น รวมถึงการพัฒนาพื้นที่ให้มีความปลอดภัย เข้าถึงง่าย และเอื้อต่อการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย"

ส่งเสริมกิจกรรมที่เชื่อมโยงกับภูมิปัญญาท้องถิ่น ทางโครงการมีการพัฒนากระบวนการกิจกรรมโดยใช้สภาพแวดล้อม มาเป็นสื่อเพื่อการเรียนรู้ของเด็กผ่านกิจกรรม เช่น

  1. กิจกรรมในแหล่งเรียนรู้ป่าชุมชนบ้านนาคิแลน เด็กๆ ได้ออกสำรวจ ป่าชุมชน เพื่อเรียนรู้พืชชนิดต่างๆ ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ เช่น หน่อไม้ เห็ด และสมุนไพรพื้นบ้าน พวกเขายังได้เรียนรู้ถึงอันตรายของพืชบางชนิดที่ไม่ควรสัมผัส การสำรวจนี้นอกจากจะสร้างความตื่นเต้นแล้ว ยังช่วยปลูกฝังให้เด็กๆ รักและหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติ
  2. การทำขนมพื้นบ้าน ผู้สูงอายุในชุมชนมีบทบาทสำคัญในการถ่ายทอดภูมิปัญญา เช่น การทำขนมพื้นบ้านในบ้านนาคิแลน เด็กๆ ได้เรียนรู้ตั้งแต่การเลือกวัตถุดิบ ห่อขนม และปรุงขนมพื้นบ้านที่เรียบง่ายแต่เต็มไปด้วยคุณค่า กิจกรรมนี้ช่วยสร้างความสัมพันธ์ระหว่างวัยในชุมชน
  3. พัฒนาสนามสร้างสรรค์จากวัสดุในพื้นที่ มีการพัฒนาสนามสร้างสรรค์ ส่งเสริมกิจกรรมทางกายของเด็กๆ เพื่อให้ห่างไกลจากหน้าจอ โดยพัฒนาจากล้อยาง ท่อนไม้ ทราย และการมัดเชือกเป็นตาข่ายสำหรับปีนป่าย เป็นพื้นที่ที่ช่วยพัฒนาทักษะการทรงตัว การประสานงานของกล้ามเนื้อมัดใหญ่ และการเล่นอย่างสร้างสรรค์ เด็กๆ ยังได้เรียนรู้ความปลอดภัยในการใช้อุปกรณ์ และวิธีการเล่นที่คำนึงถึงเพื่อนในกลุ่ม

จากการดำเนินกิจกรรมดังกล่าว ส่งผลผลลัพธ์ที่เด่นชัดให้กับเด็ก ครอบครัว และชุมชน กล่าวคือ

  • เด็ก มีพัฒนาการที่สมบูรณ์ในทุกด้าน ทั้งกาย ใจ อารมณ์ สังคม และสติปัญญา มีกิจกรรมสร้างสรรค์ส่งเสริมทักษะชีวิตและการแก้ปัญหา
  • ครอบครัว ผู้ปกครองเริ่มลดการใช้เทคโนโลยีในบ้าน และเพิ่มเวลากับลูกมากขึ้น เช่น การอ่านนิทาน การพูดคุย และการทำกิจกรรมร่วมกัน
  • ชุมชน เกิดความร่วมมือระหว่างผู้ปกครอง ครู ผู้นำชุมชน และจิตอาสา ในการดูแลพื้นที่เรียนรู้และถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น

นางสาวสายใจ คงทน จากกลุ่ม wearehappy ผู้เป็นแกนหลักสำคัญของโครงการ ได้กล่าวทิ้งท้าย ว่า "อยากจะเชิญชวนทุกคนมาร่วมสร้างนิเวศสื่อสุขภาวะสำหรับเด็กปฐมวัยในชุมชนของเรา ด้วยแนวคิด 3 ดี คือ สื่อดี พื้นที่ดี และภูมิดี ซึ่งเป็นแนวทางที่เราได้ทดลองทำมาแล้วและเห็นผลดีกับเด็กและครอบครัว เราสามารถเริ่มต้นได้ง่ายๆ ด้วยการทำความเข้าใจบริบทของชุมชนเราเอง ว่ามีจุดแข็งหรือภูมิปัญญาท้องถิ่นอะไรที่สามารถนำมาปรับใช้ได้ จากนั้นชวนคนในชุมชนมาร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ไม่ว่าจะเป็นผู้ปกครอง แกนนำชุมชน หน่วยงานท้องถิ่น หรือแม้แต่เด็กๆ เอง เพราะการมีส่วนร่วมคือหัวใจสำคัญที่จะทำให้โครงการยั่งยืน เราสามารถออกแบบกิจกรรมง่ายๆ ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชน เช่น การเล่านิทานท้องถิ่น การทำอาหารว่างร่วมกัน หรือการสร้างพื้นที่เล่นปลอดภัยในชุมชน ที่สำคัญคือการส่งเสริมให้ผู้ปกครองเข้าใจและใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้และเติบโตอย่างมีคุณภาพ ทุกคนสามารถเริ่มต้นได้จากสิ่งที่ใกล้ตัว ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ และสร้างเครือข่ายความร่วมมือในชุมชนของตัวเอง ถ้าเราช่วยกัน เชื่อว่าไม่ว่าใครก็สามารถสร้างสื่อดี พื้นที่ดี ภูมิดี ให้เด็กๆ ได้เรียนรู้และเติบโตอย่างมีความสุขได้"

สสส.สานพลังภาคีบ้านขามเปี้ย อุบลราชธานี ร่วมพลิกฟื้นภูมิดี สู่การสร้างนิเวศสื่อสุขภาวะในเด็กปฐมวัย