สจล. จัดตั้ง "คณะเทคโนโลยีนวัตกรรมบูรณาการ" มุ่งผลิตงานวิจัยด้านนวัตกรรมวัสดุและการผลิตอย่างครบวงจร ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรม
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) จัดตั้งคณะเทคโนโลยีนวัตกรรมบูรณาการ เพื่อตอบโจทย์สังคมด้านวัสดุศาสตร์และการผลิต ให้มีความเข้มแข็ง พร้อมรองรับอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในอนาคต และมุ่งส่งเสริมงานด้านเซมิคอนดักเตอร์ และ PCB ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมต้นน้ำ
ร.ศ. ดร.คมสัน มาลีสี อธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า การจัดตั้งคณะเทคโนโลยีนวัตกรรมบูรณาการ เป็นการรวมวิทยาลัยนวัตกรรมการผลิตขั้นสูง กับวิทยาลัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมวัสดุ ซึ่งรวมความเชี่ยวชาญของศาสตร์ด้านวัสดุ และการผลิตในระดับต่าง ๆ รวมทั้งมีนักวิชาการ นักวิจัยชั้นนำของประเทศ มีผลงานวิจัยคุณภาพสูง ได้รับการตีพิมพ์สูงที่ของ สจล. มุ่งเน้นและส่งเสริมงานด้านเซมิคอนดักเตอร์ และ PCB ที่เป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำที่สำคัญของประเทศ ซึ่งมีทิศทางของการเติบโตที่มีมูลค่าหลายพันล้านบาท พร้อมมีการขับเคลื่อนพัฒนานวัตกรในสถาบัน ซึ่งจะต้องเตรียมความพร้อมทั้งอาจารย์ และหลักสูตร โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยดำเนินงานตามแนวนโยบายของ สจล. เช่น Global Citizen และ Digital Technology เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดี และบูรณาการการทำงานได้ทุกคณะ/วิทยาลัย
ผศ. ดร.วิภู ศรีสืบสาย รักษาการแทนคณบดีคณะเทคโนโลยีนวัตกรรมบูรณาการ กล่าวว่า คณะเทคโนโลยีนวัตกรรมบูรณาการ (School of Integrated Innovative Technology) หรือ SIITec มีความพร้อมทั้งทางบุคลากร อาจารย์ นักวิจัยที่มคุณภาพ มีความพร้อมของห้องเรียน ห้องปฏิบัติการ เครื่องมือที่ใช้จริงในอุตสาหกรรมให้นักศึกษาได้ฝึกปฏิบัติ และมีศูนย์ทดสอบและวิเคราะห์เทคโนโลยีขั้นสูงที่ได้รับการยอมรับจากหน่วยงานภายนอก มีความร่วมมือกับองค์กรชั้นนำทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ บุคลากร นักศึกษา เพื่อพัฒนานวัตกรรมและองค์ความรู้อย่างมีคุณภาพ ทั้งนี้การเรียนการสอนในหลักสูตรต่าง ๆ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของภาคเอกชน อุตสาหกรรม และนโยบายรัฐบาล ทั้งในด้านอุตสาหกรรมการผลิต ด้านอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ด้านพลังงาน โดยนำเทคโนโลยีด้านวิศวกรรมการผลิต นาโนเทคโนโลยี และวัสดุศาสตร์ มาออกแบบการเรียนการสอน ทำให้นักศึกษาสามารถจบการศึกษาออกไปทำงานได้จริง ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงาน
ซึ่งคณะเทคโนโลยีนวัตกรรมบูรณาการ สจล. สามารถรองรับนักศึกษาใหม่ได้ประมาณ 60-100 คน ปัจจุบันเปิดสอนในหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมวัสดุนาโน, หลักสูตร Smart Materials Technology (Multidisciplinary)(International Program), หลักสูตร 2 ปริญญา B.Eng. (Smart Materials Technology) และ B.Eng. (Robotics and AI Engineering), หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมระบบการผลิต และหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมระบบการผลิต (ต่อเนื่อง 2 ปี) ซึ่งกำลังเปิดรับสมัครนักศึกษาในระบบ TCAS68 รอบที่ 2 (Quota) ในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม
ติดตามรายละเอียดหลักสูตรต่าง ๆ ได้ที่ https://curriculum.kmitl.ac.th/ ติดตามความเคลื่อนไหวของ สจล. ได้ทาง https://www.facebook.com/kmitlofficial และเว็บไซต์ https://www.kmitl.ac.th หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-329-8000
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit