มทร.ธัญบุรี พร้อมขับเคลื่อนนวัตกรรม งานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์

06 Jan 2025

รศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด รักษาการในตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) กล่าวว่า จากการที่กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มีนโยบายที่ให้ทุกมหาวิทยาลัยพัฒนาหลักสูตรที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อให้เกิดการต่อยอดนำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมนั้น ที่ผ่านมามทร.ธัญบุรี ได้เริ่มดำเนินการไปแล้วตามวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัย โดยงานวิจัยและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยได้มีการส่งเข้าประกวดทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง และเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ โดยต่อไปนี้งานวิจัยของมหาวิทยาลัยจะไม่เน้นแต่ที่ได้รับการตีพิมพ์ผลงานเพียงอย่างเดียว จะมุ่งเน้นไปที่ผลงานที่สามารถนำไปต่อยอดเทคโนโลยีและออกมาใช้ในเชิงพาณิชย์ได้

มทร.ธัญบุรี พร้อมขับเคลื่อนนวัตกรรม งานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์

ทั้งนี้ มทร.ธัญบุรี ได้จัดทำโมเดล RMUTT Holding Company ขึ้น เป็นการร่วมทุนในธุรกิจนวัตกรรมด้วยกลไก holding company เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามาร่วมกันพัฒนาธุรกิจ ซึ่งมหาวิทยาลัยจะนำศักยภาพที่มีจัดทำหลักสูตร 2 หลักสูตร ได้แก่ แนวคิดนวัตกรรมเพื่อการขับเคลื่อนธุรกิจในอนาคต และการเป็นผู้ประกอบการฐานนวัตกรรมยั่งยืน เพื่อมองหา Star up หน้าใหม่จากไอเดียนวัตกรรมของนักศึกษาและอาจารย์ ซึ่งเมื่อผ่านหลักสูตรแล้ว จะมีการขึ้นบัญชีนวัตกรรมผลงานที่มี High Impact และต่อยอดไปที่การร่วมทุนกันต่อไป

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยยังวางแผนการหารายได้จากงานวิจัย โดยมทร.ธัญบุรีจะเน้นการสร้างศักยภาพและเพิ่มจำนวนนักวิจัยสู่การแข่งขันที่ยั่งยืน โดยวางเป้าหมายเพิ่มจำนวนนักวิจัย 10%ต่อปี และมีรายได้จากเงินค่าธรรมเนียมอุดหนุนสถาบันเพิ่มขึ้น 10%ต่อปี ส่วนการหารายได้จากแหล่งทุนภายนอกมหาวิทยาลัยภายในปี 68 ตั้งเป้าหมายอัตราการเติบโตการเรียกเก็บเงินอุดหนุนสถาบันจากแหล่งทุนภายนอก มีอัตราการเติบโต 20% ของจำนวนทุนทั้งหมดที่ได้รับการสนับสนุนจากรายได้ จากการทำวิจัย บริการวิชาการ และอบรมจากภายนอก

รศ.ดร.สมหมาย กล่าวต่อว่า ส่วนการหารายได้จากงานบริการวิชาการนั้น มหาวิทยาลัยได้วางกรอบเริ่มตั้งแต่ปี 2568-2570 โดยจะจัดการอบรม สัมมนา เพื่อ Up-skill Re-skill และNew Skill เป็นการจัดสัมมนาในหัวข้อที่ได้รับความสนใจตามสถานการณ์ปัจจุบัน 30 หลักสูตร/ปี หรือคิดเป็นรายได้เพิ่มขึ้น 5% /ปี การบริการให้คำปรึกษาและวิเคราะห์ทดสอบ 50 หน่วยงานต่อปี หรือรายได้เพิ่มขึ้น 5% /ปี การบริการวิชาการร่วมกับหน่วยงานภายนอก เป็นการเสนอขอรับทุนสนับสนุนจากภาครัฐ หรือเอกชน เพื่อทำโครงการบริการวิชาการที่เกี่ยวข้องกับความต้องการของหน่วยงานนั้นๆ และสุดท้ายคือการจัดกิจกรรมเพื่อสังคมที่มีรายได้เสริม เช่น การรับจัดกิจกรรมเชิงวิชาการ พัฒนาโครงการที่สร้างผลกระทบต่อสังคม