อลิอันซ์เปิด Allianz Risk Barometer 2025 เผยปัจจัยเสี่ยงของธุรกิจไทยชูอัคคีภัยและการระเบิดขึ้นแท่นความเสี่ยงอันดับหนึ่งทางธุรกิจ

21 Jan 2025

  • อัคคีภัยและการระเบิดเป็นความกังวลทางธุรกิจอันดับหนึ่งในปีหน้า (48%)
  • ภัยธรรมชาติ (36%) และการหยุดชะงักทางธุรกิจ (30%) อยู่ในอันดับ 2 และ 3 ตามลำดับ
  • การหยุดชะงักทางธุรกิจ เหตุการณ์ทางไซเบอร์ และภัยธรรมชาติเป็นความเสี่ยงสูงสุดทั้งในระดับโลกและในเอเชีย
อลิอันซ์เปิด Allianz Risk Barometer 2025 เผยปัจจัยเสี่ยงของธุรกิจไทยชูอัคคีภัยและการระเบิดขึ้นแท่นความเสี่ยงอันดับหนึ่งทางธุรกิจ

อัคคีภัยและการระเบิดเป็นความกังวลอันดับหนึ่งของธุรกิจในประเทศไทยในปี 2568 ขึ้นจากอันดับ 4 มาอยู่ที่อันดับ 1 ตามรายงาน Allianz Risk Barometer ภัยธรรมชาติอยู่ในอันดับ 2 จากการคาดการณ์สภาพอากาศที่รุนแรง เช่น น้ำท่วม ซึ่งจะทวีความรุนแรงและเกิดขึ้นบ่อยครั้งขึ้น ในขณะที่การหยุดชะงักทางธุรกิจยังคงเป็นความเสี่ยงสำคัญในอันดับ 3

ในขณะที่ความเสี่ยงทางธุรกิจที่สูงที่สุดของโลกและเอเชีย ได้แก่ การหยุดชะงักทางธุรกิจ เหตุการณ์ทางไซเบอร์ และภัยธรรมชาติ จากรายงาน Allianz Risk Barometer ประจำปีนี้ ซึ่งวิเคราะห์จากข้อมูลเชิงลึกของผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารความเสี่ยงกว่า 3,700 คนจากกว่า 100 ประเทศ

วาเนสสา แม็กเวล Allianz Commercial Chief Underwriting Officer กล่าวว่า "ปี 2567 เป็นปีที่ไม่ปกติในแง่ของการบริหารความเสี่ยง และรายงาน Allianz Risk Barometer ประจำปีสะท้อนให้เห็นถึงความไม่แน่นอนที่บริษัทต่างๆ ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ ปีนี้แตกต่างจากปีอื่นๆ ตรงที่ ความเสี่ยงในอันดับสูงๆ สัมพันธ์กัน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เทคโนโลยีใหม่ กฎระเบียบ และความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์มีความสัมพันธ์กันมากยิ่งขึ้น ทำให้สาเหตุและผลที่ตามมาซับซ้อนมากขึ้น ธุรกิจต่างๆ จำเป็นต้องใช้แนวทางแบบองค์รวมในการบริหารความเสี่ยงและพยายามพัฒนาความสามารถในการฟื้นตัวอย่างสม่ำเสมอ

คริสเตียน แซนดริก Regional Managing Director of Allianz Commercial Asia กล่าวว่า "การหยุดชะงักทางธุรกิจเป็นความเสี่ยงที่สำคัญที่สุดสำหรับบริษัทในภูมิภาคนี้ ซึ่งไม่น่าแปลกใจเนื่องจากเศรษฐกิจเอเชียมีส่วนในการค้าโลกและในระดับภูมิภาคมากขึ้น การหยุดชะงักทางธุรกิจยังมักเกิดจากเหตุการณ์ เช่น เหตุการณ์ทางไซเบอร์หรือภัยธรรมชาติ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความเสี่ยงสูงสุดในภูมิภาค ท่ามกลางความเสี่ยงที่เชื่อมโยงกันมากขึ้นและมีความผันผวน ธุรกิจต้องใช้แนวทางแบบองค์รวมในการบริหารความเสี่ยงและสร้างความยืดหยุ่นในห่วงโซ่อุปทานและมาตรการรับมือมากยิ่งขึ้น ซึ่งรวมถึงการใช้มาตรการต่างๆ เช่น การป้องกันความสูญเสีย การใช้ซัพพลายเออร์หลายราย การโอนความเสี่ยงทางเลือก และนโยบายประกันภัยระดับนานาชาติ"

ลาร์ส ไฮบุทสกี้ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อลิอันซ์ อยุธยา ประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า "อัคคีภัยและความเสียหายต่อทรัพย์สินที่เกี่ยวข้อง เป็นความกังวลหลักของบริษัทในประเทศไทย เพราะเป็นสาเหตุสำคัญของการหยุดชะงักทางธุรกิจและการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน ธุรกิจต้องประเมินและปรับปรุงแนวทางการบรรเทาความเสี่ยงจากอัคคีภัยอย่างรอบคอบและสม่ำเสมอเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดความสูญเสียจากเหตุการณ์ใดๆ เมื่อเหตุการณ์สภาพอากาศรุนแรงเกิดขึ้นบ่อยครั้งขึ้น ภัยธรรมชาติและการหยุดชะงักทางธุรกิจจึงกลายเป็นความเสี่ยงอันดับต้นๆ ในประเทศไทย สิ่งนี้ตอกย้ำความสำคัญของห่วงโซ่อุปทานที่ยืดหยุ่น รวมถึงมาตรการโอนความเสี่ยงเพื่อป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากการหยุดชะงักทางธุรกิจที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้"

อัคคีภัยและการระเบิดเป็นความเสี่ยงอันดับ 1

อัคคีภัยและการระเบิดเป็นความเสี่ยงทางธุรกิจอันดับหนึ่งในประเทศไทย โดยขึ้นจากอันดับ 4 มาเป็นอันดับ 1 ความรุนแรงของภัยนี้ทำให้เกิดการหยุดชะงักอย่างมากและส่งผลให้การฟื้นตัวใช้เวลานานมากขึ้นเมื่อเทียบกับภัยด้านอื่นๆ โรงงานที่เสียหายอาจใช้เวลาหลายปีในการสร้างใหม่และกลับมาดำเนินการผลิตได้อย่างเต็มกำลัง

ในปี 2567 มีเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับอัคคีภัยและการระเบิดหลายเหตุการณ์ในประเทศไทยที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต ทรัพย์สินเสียหาย และธุรกิจหยุดชะงัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุเพลิงไหม้ถังเก็บสารเคมีที่นิคมอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกของไทย ระเบิดที่โรงงานเหล็กในจังหวัดระยอง เพลิงไหม้โรงงานสารตั้งต้นพลาสติกในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และระเบิดคลังดอกไม้ไฟในภาคกลาง

อลิอันซ์ คอมเมอร์เชียล วิเคราะห์การเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนประกันภัยการหยุดชะงักทางธุรกิจมากกว่า 1,000 รายในช่วงห้าปีซึ่งสิ้นสุดลงในปี 2566 (มูลค่าเกิน 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) และพบว่าอัคคีภัยเป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของการเรียกร้องค่าสินไหมเหล่านี้ และคิดเป็นมูลค่ามากกว่าหนึ่งในสามของมูลค่าการเรียกร้องค่าสินไหมทั้งหมด (36%)

ภัยธรรมชาติยังคงเป็นความกังวลหลัก

ภัยธรรมชาติจัดอยู่ในอันดับความเสี่ยงที่สำคัญเป็นอันดับสองในประเทศไทย ซึ่งแป็นหนึ่งในสี่ประเทศที่มีความเสี่ยงน้ำท่วมสูงที่สุดในโลก เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ตั้งแต่เดือนสิงหาคมถึงกันยายน 2567 ส่งผลกระทบต่อครัวเรือนมากกว่า 180,000 ครัวเรือนและส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อภาคเกษตรกรรม โดยมีมูลค่าความเสียหายประมาณ 4.34 หมื่นล้านบาท (1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการรับผิดชอบศูนย์ภัยพิบัติแห่งชาติที่มีหน้าที่ประสานงานการดำเนินงานเพื่อการบรรเทาทุกข์และป้องกันภัยพิบัติทางธรรมชาติ

ในเอเชีย ภัยธรรมชาติยังคงเป็นความเสี่ยงในอันดับ 3 โดยมีผู้ตอบข้อนี้ 27% อุณหภูมิของภูมิภาคเอเชียสูงขึ้นเร็วกว่าค่าเฉลี่ยของโลก โดยมีผู้เสียชีวิตและความสูญเสียทางเศรษฐกิจมากขึ้นจากน้ำท่วม พายุ และคลื่นความร้อนที่รุนแรงขึ้น ภัยธรรมชาติเป็นความเสี่ยงอันดับหนึ่งในญี่ปุ่น ซึ่งเผชิญกับแผ่นดินไหวขนาด 7.5 แมกนิจูดในคาบสมุทรโนโตะ ส่งผลให้เกิดความสูญเสียที่มีประกันภัยมูลค่าสามพันล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงในฮ่องกง ซึ่งประสบกับฝนตกหนักที่สุดในเดือนพฤศจิกายน 2567 นับตั้งแต่เริ่มมีการบันทึกเมื่อ 140 ปีที่แล้วจากไต้ฝุ่นไห่ขุย

ภัยพิบัติทางธรรมชาติยังคงเป็นความเสี่ยงในอันดับที่ 3 ของโลกโดยมีผู้ตอบแบบสอบถาม 29% ปี 2567 นับเป็นครั้งที่ 5 ติดต่อกันที่ความสูญเสียที่มีประกันภัยมีมูลค่าสูงเกินหนึ่งแสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ปี 2567 ซึ่งคาดว่าเป็นปีที่ร้อนที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกไว้ เป็นปีแห่งภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรง มีพายุเฮอริเคนและพายุรุนแรงในอเมริกาเหนือ น้ำท่วมรุนแรงในยุโรป และภัยแล้งในแอฟริกาและอเมริกาใต้

การหยุดชะงักทางธุรกิจสัมพันธ์กับความเสี่ยงด้านอื่นอย่างมาก

การหยุดชะงักทางธุรกิจเป็นความเสี่ยงอันดับ 3 ในประเทศไทย โดยธุรกิจต่างๆ เผชิญความเสี่ยงจากหลายด้าน การหยุดชะงักทางธุรกิจสัมพันธ์อย่างมากกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ ยกตัวอย่างเช่น น้ำท่วมในเดือนสิงหาคมและกันยายนปี 2567 ไม่เพียงแต่จะส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรเท่านั้น แต่ยังสร้างความเสียหายอย่างมากต่อภาคการท่องเที่ยว คิดเป็นมูลค่าประมาณ 491 ล้านบาท (14 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และส่งผลให้ไทยซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกยางพารารายใหญ่ที่สุดของโลกมีปริมาณการผลิตยางพาราลดลง 30% ในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน

ธุรกิจในประเทศไทยยังเผชิญกับการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นในระดับโลก เช่น การเข้ามาของสินค้านำเข้าราคาถูกซึ่งส่งผลให้โรงงานปิดตัวเพิ่มขึ้น 40% ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2566 ถึงมิถุนายน 2567 เมื่อเทียบกับ 12 เดือนก่อนหน้า ผู้ผลิตรายเล็กประสบปัญหาต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นและค่าแรงที่สูง

การหยุดชะงักทางธุรกิจเป็นความเสี่ยงอันดับหนึ่งในเอเชีย อยู่ในสามอันดับแรกในทุกประเทศและเขตการปกครอง และเป็นความเสี่ยงอันดับหนึ่งในจีน ฮ่องกง มาเลเซีย สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ สะท้อนให้เห็นถึงการหยุดชะงักอย่างรุนแรงของห่วงโซ่อุปทานในช่วงระหว่างและหลังการระบาดของโควิด 19

ในระดับโลก การหยุดชะงักทางธุรกิจเป็นความเสี่ยงในอันดับ 1 หรือ 2 ในการจัดอันดับความเสี่ยงของอลิอันซ์ทุกปีตลอดทศวรรษที่ผ่านมา และยังคงรักษาตำแหน่งอันดับ 2 ในปี 2568 โดยมีผู้ตอบข้อนี้ 31% โดยทั่วไปแล้วการหยุดชะงักทางธุรกิจเป็นผลมาจากเหตุการณ์ต่างๆ เช่น ภัยพิบัติทางธรรมชาติ การโจมตีทางไซเบอร์หรือระบบล่ม การล้มละลาย หรือความเสี่ยงทางการเมือง เช่น ความขัดแย้งหรือความไม่สงบในประเทศ ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถส่งผลกระทบต่อความสามารถในการดำเนินธุรกิจตามปกติ หลายเหตุการณ์ในปี 2567 ชี้ให้เห็นว่าทำไมบริษัทต่างๆ ยังคงมองว่าการหยุดชะงักทางธุรกิจเป็นภัยคุกคามหลักต่อโมเดลธุรกิจของพวกเขา การโจมตีของกลุ่มฮูธิในทะเลแดงทำให้ห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงักจากการเปลี่ยนเส้นทางของเรือขนส่งสินค้า นอกจากนี้ เหตุการณ์เช่นการพังทลายของสะพาน Francis Scott Key ในบัลติมอร์ยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อห่วงโซ่อุปทานทั้งในระดับโลกและท้องถิ่น การวิเคราะห์ของ Circular Republic ร่วมกับอลิอันซ์และองค์กรอื่นๆ พบว่าการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานที่ส่งผลกระทบในระดับโลก จะเกิดขึ้นโดยเฉลี่ยทุก 1.4 ปี และมีแนวโน้มสูงขึ้น การหยุดชะงักเหล่านี้ก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ตั้งแต่ 5% ถึง 10% ของต้นทุนผลิตภัณฑ์ และทำให้เกิดการหยุดทำงานในด้านต่างๆ เพิ่มเติม