จุดเริ่มต้นที่เกิดจากการเป็น "ผู้รับ" ด้วยการรับทุนจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อครั้งเป็นนิสิต เรียกได้ว่าเป็นการเปลี่ยนชีวิตจากการได้รับโอกาสทางการศึกษา ของ "ทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์" ก่อกำเนิดเป็นปณิธานอันยิ่งใหญ่ในการเป็น "ผู้ให้" ด้วยการแบ่งปันและมอบโอกาสให้ผู้อื่น ภายใต้ "ทุนวิจิตรพงศ์พันธุ์" ซึ่งเริ่มต้นขึ้นในปี 2553 โดยใช้เงินส่วนตัวเป็นทุนเพื่อนำไปช่วยเหลือคนกลุ่มต่าง ๆ ทั้งด้านศาสนา การศึกษา และสังคม และยังคงตอกย้ำเจตนารมณ์อันมุ่งมั่นที่จะมอบทุนต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี
เพราะการได้รับทุนการศึกษาในครั้งนั้น กลายเป็น "จุดเปลี่ยนของชีวิต" และเป็นใบเบิกทางที่ทำให้ "ทองมา" สามารถสร้างกิจการเป็นของตนเอง จนกลายเป็นนักธุรกิจที่ได้รับการยอมรับว่าประสบความสำเร็จคนหนึ่งของเมืองไทย และการได้เห็นความเหลื่อมล้ำในสังคมที่ยังคงมีอยู่เสมอ จึงได้ริเริ่ม "ทุนวิจิตรพงศ์พันธุ์" ขึ้น และหวังว่าจะเป็น "ส่วนเล็ก ๆ ของพลังการให้ที่ยิ่งใหญ่" ตอบแทนกลับคืนสังคม เฉกเช่นที่ตนเองเคยได้รับครั้งเมื่อสมัยอดีต
ปี 2567 นี้ นายทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ ผู้ริเริ่มและผู้ก่อตั้ง "ทุนวิจิตรพงศ์พันธุ์" และกรรมการ บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ได้มอบเงินสนับสนุนส่วนตัวในนาม"ทุนวิจิตรพงศ์พันธุ์" ให้กับวัด สถาบันการศึกษา โรงพยาบาล มูลนิธิ และองค์กรสาธารณประโยชน์ทั่วประเทศ รวม 45 องค์กร แบ่งเป็น ด้านศาสนา 7 หน่วยงาน จำนวน 4,850,000 บาท ด้านการศึกษา 22 หน่วยงาน 27,850,000 บาท และด้านสังคม 16 หน่วยงาน 15,815,520 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 48,515,520 บาท และในโอกาสที่การมอบทุนวิจิตรพงศ์พันธุ์ ดำเนินเข้าสู่ปีที่ 15 จึงได้จัดพิธีมอบทุน และกิจกรรมพิเศษ เปิดเวทีให้ผู้แทนองค์กรด้านศาสนา การศึกษา และสังคม มาร่วม Mini Talk ในหัวข้อ "เพราะมุ่งมั่นและตั้งใจ ทำอะไรก็สำเร็จ" เพื่อเล่าถึงแรงบันดาลใจ และเป้าหมาย ของโครงการที่ได้รับทุนวิจิตรพงศ์พันธุ์ไปช่วยขับเคลื่อนและต่อยอดด้วย
ด้านศาสนา นายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช กรรมการและ เลขานุการ มูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ซึ่งได้รับทุนวิจิตรพงศ์พันธุ์ต่อเนื่องเป็นปีที่ 10 ได้เล่าถึงโครงการวัดวิถีใหม่และประโยชน์ต่อวงการพระพุทธศาสนาที่ได้รับจากทุนวิจิตรพงศ์พันธุ์ในปีนี้
"ทุนวิจิตรพงศ์พันธุ์" มีวัตถุประสงค์สอดคล้องกับมูลนิธิฯ ในการสืบสานงานของท่านพุทธทาสเพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าถึงพระพุทธศาสนา โดยมูลนิธิฯ ได้นำเงินทุนที่ได้รับในปีนี้ไปต่อยอดโครงการวัดวิถีใหม่ ด้วยการพัฒนา ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน (Digital Transformation) เพื่อช่วยงานด้านการเผยแผ่พระศาสนาให้วัดต่าง ๆ มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยเหลืองานต่าง ๆ ของวัดและพระสงฆ์ ซึ่งที่ผ่านมาได้ถวายงานเขียนโปรแกรมให้กับวัดแล้วกว่า 30 โปรแกรม เช่น การช่วยเก็บ Data อย่างเป็นระบบ หรือโปรแกรมอบรมธรรมะออนไลน์ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงหัวข้อการอบรมธรรมะได้ง่ายขึ้น เป็นต้น ทุนวิจิตรพงศ์พันธุ์ ถือได้ว่ามีบทบาทสำคัญที่ช่วยลดภาระงานทางด้านสังคมของวัดและพระ ส่งเสริมให้พระสงฆ์ได้ศึกษาพระธรรม และสนับสนุนให้สามารถเผยแผ่พระพุทธศาสนา ช่วยให้คนรุ่นใหม่ได้เข้าถึงคำสอนทางพุทธศาสนาผ่านระบบออนไลน์ตามหัวข้อที่สนใจ ได้ทุกที่ ทุกเวลา ที่สะดวก โดยไม่ต้องเข้าวัด สอดคล้องกับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป และสามารถเป็นโมเดลต้นแบบนำไปถวายงานให้กับวัดและหน่วยงานอื่น ๆ ที่มีความต้องการได้อีกด้วย"
ด้านการศึกษา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชัยฤทธิ์ ศิลาเดช" อธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง เผยถึงโครงการเงินทุนเพื่อความยั่งยืนของนักศึกษาที่ได้รับการสนับสนุนจากทุนวิจิตรพงศ์พันธุ์ ต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 ว่า ""โครงการเงินทุนเพื่อความยั่งยืนของนักศึกษา" หรือเรียกสั้น ๆ ว่า "ทุนทำมาหากิน" ไม่ใช่ "ทุนสำหรับเด็กยากจน" แต่เป็น "ทุนสำหรับเด็กที่อยากรวย" ก่อตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้นักศึกษามีรายได้เสริมระหว่างเรียน มีทักษะและมีอาชีพติดตัวเมื่อเรียนจบ จบแล้วมีงานทำ และสามารถแบ่งเบาภาระครอบครัวได้ นักศึกษาที่ต้องการรับทุนนี้จะต้องเขียนแผนธุรกิจเสนอโครงการเพื่อรับการคัดเลือก และจะได้รับการบ่มเพาะจากที่ปรึกษาโครงการ เป็นการเน้นการสร้างประสบการณ์มากกว่าการทำกำไร ซึ่งเงินทุนจากทุนวิจิตรพงศ์พันธุ์ มีบทบาทสำคัญในการสร้างและขยายโอกาสทางการศึกษาให้กับนักศึกษา ช่วยให้มหาวิทยาลัยสามารถขยายจำนวนทุนได้มากถึงปีละ 60 ทุน และปัจจุบันมีนักศึกษาให้ความสนใจสมัครเข้าร่วมโครงการมากขึ้นทุกปี"
ด้านสังคม นายแพทย์ศิริศักดิ์ ธิติดิลกรัตน์" ประธาน มูลนิธิโรงพยาบาลศรีธัญญา ได้ร่วมแชร์ประโยชน์ยิ่งใหญ่ต่อกลุ่มผู้ป่วยจิตเวชจากโครงการ "ร้านเพื่อน" ที่ได้รับการสนับสนุนจากทุนวิจิตรพงศ์พันธุ์ต่อเนื่องเป็นปีที่ 11 ว่า "มูลนิธิฯ มุ่งมั่นช่วยฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวชให้หายดี สามารถกลับคืนสู่สังคม และลดโอกาสการกลับมาเข้ามารักษาที่โรงพยาบาลซ้ำ จึงได้จัดตั้งโครงการทดลองจ้างงานผู้ป่วยจิตเวช ในชื่อโครงการ "ร้านเพื่อน" ซึ่งได้รับทุนวิจิตรพงศ์พันธุ์มาร่วมสนับสนุนช่วยพัฒนาโครงการร้านเพื่อน ร้านค้าที่สร้างโอกาสและทักษะการใช้ชีวิต เป็นหนึ่งในเครื่องมือช่วยฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวชให้สามารถกลับสู่สังคม ใช้ชีวิตในสังคมได้ง่ายขึ้น ด้วยการสอนงาน ออมเงิน การทดลองงาน จ้างงาน มี Roleplay สอนการตัดสินใจในชีวิตประจำวันให้กับผู้ป่วยจิตเวชที่หายดี ให้สามารถใช้ชีวิตกลับสู่สังคม ลดโอกาสการกลับมาเข้ามารักษาที่โรงพยาบาลซ้ำ ซึ่งทุนวิจิตรพงศ์พันธุ์ที่ได้รับได้ช่วยสนับสนุนให้มูลนิธิฯ สามารถสร้างและขยายโครงการให้เติบโตได้อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน และ "ร้านเพื่อน" มีส่วนช่วยให้ผู้ป่วยมากกว่า 90% ไม่กลับเข้ามา Admit และมีรายได้ช่วยเหลือครอบครัวได้โดยไม่เป็นภาระ"
"ทุนวิจิตรพงศ์พันธุ์" มุ่งมั่นสานต่อเจตนารมณ์ในการส่งเสริมด้านศาสนา การศึกษา และสังคม ต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี นับตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบันรวมเป็นเวลากว่า 15 ปี โดยได้บริจาคเงินเพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางศาสนา การศึกษา และสังคม ผ่านมูลนิธิ สถาบันการศึกษา และองค์กรต่าง ๆ รวมทั้งสิ้น 112 องค์กร ทั่วประเทศ รวมถึงในเนปาล เป็นยอดเงินบริจาครวมมากกว่า 522 ล้านบาทซึ่งองค์กรที่ได้รับการสนับสนุนต่างก็ได้นำเงินไปใช้ประโยชน์เพื่อช่วยเหลือสังคม และผู้คนจำนวนมากมาย ตามวัตถุประสงค์ของแต่ละองค์กร
โดย"ทองมา" ยังสนับสนุนให้พนักงานได้มีส่วนร่วมในการตอบแทนสังคม เปิดโอกาสให้พนักงานของพฤกษา ร่วมเป็นพนักงานจิตอาสา ทำหน้าที่สำรวจความต้องการของแต่ละองค์กร ติดตามผลการดำเนินงาน ทำหน้าที่เป็นสะพานบุญในการนำเสนอความเห็นและหยิบยื่นโอกาสเหล่านี้ให้กับองค์กร มูลนิธิ สถาบันการศึกษา และองค์กรในท้องถิ่นของตนเอง ส่งเสริมให้พนักงานได้มีส่วนร่วมในฐานะผู้ให้และเป็นรากฐานเล็ก ๆ ในการพัฒนาชุมชนของตนไปพร้อม ๆ กัน
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit