เมื่อกล่าวถึงการขนส่งสาธารณะที่ใช้กันในปัจจุบัน มีตัวเลือกมากมายหลายหลายประเภทให้ผู้โดยสารเลือกใช้บริการได้อย่างเสรี รถไฟฟ้าก็เป็นหนึ่งในการให้บริการ ที่เข้ามามีบทบาทช่วยให้การเดินทางของผู้คน มีความสะดวกสบายและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เร่งด่วน การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. จึงไม่เพียงใส่ใจและให้ความสำคัญในด้านการเดินทางเท่านั้น แต่ยังเพิ่มการบริการที่เข้าใจและเข้าถึงผู้โดยสารทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่ เด็ก สตรี คนชรา ฯลฯ ครอบคลุมไปถึงกลุ่มผู้โดยสารบุคคลพิเศษ วันนี้ รฟม. จึงอยากพาทุกคนไปตามติด Facility ต่างๆ ของรถไฟฟ้า MRT ที่หลายคนอาจยังไม่เคยรู้ หรืออาจมีข้อสงสัย
เราจะมาหาคำตอบไปพร้อมกัน เพื่อเพิ่มความอุ่นใจให้ผู้โดยสารมั่นใจตลอดการเดินทาง
รู้หรือไม่...เรื่องที่ 1 ??? เริ่มกันที่สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับพื้นที่บริการของรถไฟฟ้า MRT ที่พร้อมรองรับผู้โดยสารทั่วไปรวมถึงกลุ่มบุคคลพิเศษ โดยรถไฟฟ้า MRT ได้ทำ "ทางลาดบริเวณทางเข้าและออกสถานี" ไว้รองรับสำหรับผู้โดยสารที่มีความจำเป็นต้องใช้รถเข็น โดยจะมีเจ้าหน้าที่คอยอำนวยความสะดวกทุกสถานี อีกทั้งในสถานีต่าง ๆ ของรถไฟฟ้า MRT ยังมี "ห้องน้ำบริการผู้โดยสาร" ที่ออกแบบเพื่อรองรับการใช้งานครอบคลุมสำหรับบุคคลทั่วไป ผู้พิการ ผู้สูงอายุ และสตรีมีครรภ์ ในขณะที่ "ลิฟต์โดยสาร" ในชั้นพื้นถนน และชั้นจำหน่ายตั๋วโดยสาร ก็พร้อมให้บริการสำหรับผู้สูงอายุ ผู้ที่ต้องใช้รถเข็น และมีปุ่มอักษรเบรลล์สำหรับผู้พิการทางสายตาอีกด้วย
นอกจากนี้ กลุ่มบุคคลพิเศษ สามารถใช้ "ช่องออกบัตรโดยสารสำหรับผู้พิการ" รวมถึงใช้ "พื้นผิวต่างสัมผัสเตือน" สำหรับผู้ที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น เพื่อเตือนให้ทราบว่าข้างหน้าเป็นบริเวณพื้นต่างระดับ ทางขึ้น - ลง ของทางลาดและบันได หน้าลิฟต์โดยสาร หน้าประตูกั้นชานชาลาสถานี เป็นต้น และอีกหนึ่งความสะดวกอย่างเท่าเทียมที่เราเห็นกันบ่อย ๆ ก็หนีไม่พ้น ที่นั่งสำรองสำหรับบุคคลพิเศษ ซึ่งมีให้บริการในทุกขบวนรถ จุดจอดรถเข็นในขบวนรถไฟฟ้า ที่สร้างความปลอดภัยตลอดการเดินทางด้วยราวจับ และสายล็อคนิรภัย นอกจากนี้ยังมีลิฟต์บันไดสำหรับผู้ที่นั่งรถเข็น ซึ่งมีให้บริการในรถไฟฟ้ามหานครสายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) สถานีบางพลู สถานีแยกนนทบุรี 1 และสถานีบางซ่อน
รู้หรือไม่...เรื่องที่ 2 ??? ต่อกันที่อุปกรณ์ที่อยู่ภายในรถไฟฟ้า อาทิ อุปกรณ์ฉุกเฉิน ถึงแม้รถไฟฟ้า MRT จะมีมาตรการด้านความปลอดภัยและมีอุปกรณ์ที่ใช้ในเหตุฉุกเฉินที่มีประสิทธิภาพ แต่หากมีเหตุการณ์ไม่คาดคิดเกิดในระหว่างที่อยู่ในขบวนรถไฟฟ้า หลายคนอาจยังไม่รู้ว่าอุปกรณ์เหล่านั้นใช้งานอย่างไร โดยเฉพาะที่เห็นอยู่บ่อยๆ ในขบวนรถไฟฟ้าอย่าง คันโยกสีแดง และ ปุ่มรูปกระดิ่ง ซึ่งอุปกรณ์ที่ว่านี้จะถูกติดตั้งอยู่บริเวณใกล้กับประตู ภายในขบวนรถไฟฟ้า คันโยกสีแดง คือ อุปกรณ์ปลดล็อกประตูรถไฟฉุกเฉิน (PER- Passenger Emergency Release) ซึ่งจะถูกติดตั้งไว้ภายในรถไฟฟ้าทุกขบวน ในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน ไม่ต้องการให้รถเคลื่อนที่ไปข้างหน้า หรือต้องการเปิดประตูแบบฉุกเฉินเท่านั้น และสำหรับปุ่มกระดิ่ง (PCU- Passenger Communication Unit) คือ อุปกรณ์ติดต่อสื่อสารระหว่างเจ้าหน้าที่ควบคุมรถกับผู้โดยสาร (Passenger Alarm Unit) หรือ อุปกรณ์สื่อสารแบบ Intercom ใช้ในกรณีผู้โดยสารต้องการขอความช่วยเหลือเมื่อมีเหตุฉุกเฉินในขบวนรถกับเจ้าหน้าที่ควบคุมรถไฟฟ้าโดยตรง ซึ่งสามารถพูดคุยแจ้งเหตุผ่านช่องรับเสียง จากนั้นเจ้าหน้าที่จะประสานงานไปยังส่วนงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ความช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว
รู้หรือไม่...เรื่องที่ 3 ??? บุคคลประเภทใดที่สามารถใช้ Priority Seat ที่นั่งพิเศษนี้ได้ คำตอบคือ จริง ๆ แล้วบุคคลทั่วไปก็สามารถใช้ที่นั่งสำรองสำหรับบุคคลพิเศษ หรือ Priority Seat ได้เช่นกัน โดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วน คนแน่นเต็มขบวน หากที่นั่งสำรองว่างก็สามารถนั่งได้โดยไม่ต้องรู้สึกกังวล แต่หากมีผู้โดยสารที่เป็นบุคคลพิเศษ อาทิ เด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้พิการ ผู้สูงอายุ และพระภิกษุสงฆ์ เข้ามาในขบวนรถไฟฟ้า เราควรให้ความร่วมมือ ลุกให้แก่บุคคลที่มีความจำเป็นใช้งานมากกว่านี้ได้นั่งก่อน เพื่อลดโอกาสเกิดอุบัติเหตุระหว่างเดินทางนั่นเอง
ทั้งหมดนี้ก็คือบริการดี ๆ จาก การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ที่พร้อมเดินหน้ายกระดับการให้บริการตอบโจทย์การเดินทางไปกับ รฟม.
สามารถติดตามรายละเอียดต่าง ๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับ รฟม. เพิ่มเติมได้ที่
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit