ประเทศไทยจะคว้าโอกาสในยุคทองของ super app ได้อย่างไร โดย นายบ๊อบ แกลลาเกอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอ๊พซินท์ เอเชีย จำกัด

30 Jul 2024

ในภูมิภาคอาเซียน ความพยายามในการรวบรวมบริการที่แตกต่างหลากหลายเข้ามาไว้บนแพลตฟอร์มเดียวกำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้นในหมู่ผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน โดยเทรนด์นี้มีผลมาจากความสำเร็จของซุปเปอร์แอปที่เกิดขึ้นในประเทศจีน องค์กรชั้นนำต่างหมายมั่นที่จะพัฒนาแพลตฟอร์มให้เป็นผู้นำตลาด และในประเทศไทยเองก็เช่นกัน คำว่า ซุปเปอร์แอป (super app) ถูกคิดขึ้นโดยผู้ก่อตั้งแบล็คเบอร์รี่ ไมค์ ลาซาริดิส ในปี 2553 ในงาน Mobile World Congress และให้นิยามไว้ว่า ซุปเปอร์แอป หมายถึง แพลตฟอร์มดิจิทัลแบบครบวงจรที่นำเสนอบริการที่หลากหลาย เช่น บริการส่งอาหาร บริการทางการเงิน อีคอมเมิร์ซ บริการเรียกรถ การส่งข้อความ หรือสาธารณูปโภค โดยทั้งหมดให้บริการอยู่ภายใต้แพลตฟอร์มเดียวกัน

ประเทศไทยจะคว้าโอกาสในยุคทองของ super app ได้อย่างไร โดย นายบ๊อบ แกลลาเกอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอ๊พซินท์ เอเชีย จำกัด

รายงานจาก Grand View Research บริษัทด้านการตลาดและที่ปรึกษาธุรกิจ เผยว่า ในปี 2565 ตลาดซุปเปอร์แอปทั่วโลกมีมูลค่า 61,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 2.145 ล้านล้านบาท และคาดว่าจะขยายตัวต่อปีที่ 28% (CAGR) ในระหว่างปี 2566 ถึง 2573 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการเติบโตอย่างต่อเนื่องของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตและสมาร์ทโฟน รวมถึงโอกาสในการเข้าถึงข้อมูล การเติบโตของอีคอมเมิร์ซ และการใช้งานระบบชำระเงินดิจิทัล

ซุปเปอร์แอปมีการใช้งานอย่างแพร่หลายโดยเฉพาะในเอเชียแปซิฟิกซึ่งมีประชากรกว่า 4.3 พันล้านคน หรือประมาณ 60% ของประชากรโลก มีการคาดการณ์ว่าภูมิภาคนี้จะเติบโตเร็วที่สุดในอนาคต เนื่องจากมีประชากรจำนวนมากที่ยังไม่สามารถเข้าถึงระบบธนาคาร และมีผู้ให้บริการซุปเปอร์แอปที่น่าจับตามมองหลายรายที่เปิดให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินและบริการดิจิทัลรูปแบบใหม่ ๆ ได้

ตัวอย่างของซุปเปอร์แอปชั้นนำได้แก่ WeChat ให้บริการโดย Tencent และ Alipay ให้บริการโดย Alibaba ในประเทศจีน ทั้งสองคือจุดประกายที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ซุปเปอร์แอปขึ้น ปัจจุบัน WeChatมีผู้ใช้งานต่อเดือนมากกว่า 1.3 พันล้านราย เป็นหนึ่งในซุปเปอร์แอประดับโลกรายแรก ๆ ที่รวมบริการมากมาย ตั้งแต่การเรียกรถโดยสาร การสั่งอาหาร ไปถึงการขอรับบริการทางการแพทย์ การซื้อประกัน หรือบริการที่จอดรถ ส่วน Alipay ของจีนนั้นเป็นซุปเปอร์แอปที่โดดเด่นอีกแอปหนึ่ง รวมถึง Grab จากสิงคโปร์ Gojek ของอินโดนีเซีย และ Kakao Talk ของเกาหลีใต้

ประเทศไทย: สมรภูมิต่อไปของตลาดซุปเปอร์แอป

ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้เล่นในตลาดซุปเปอร์แอปที่ให้บริการอยู่หลายราย อาทิ Grab ที่เปิดตัวในไทยเมื่อปี 2557 ปัจจุบันได้กลายมาเป็นผู้นำในตลาดได้รับความนิยมด้วยบริการหลายประเภท เช่น บริการเรียกรถ บริการส่งอาหาร และบริการส่งเอกสาร อย่างไรก็ตาม หากลองเปรียบเทียบกับ Grab ที่ให้บริการในอินโดนีเซียจะพบว่าบริการที่นำเสนอในประเทศไทยนั้นยังคงตามหลังอยู่มาก

ในปี 2564 Shopee แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ของสิงคโปร์ขยายบริการเพิ่มเติมจากบริการหลัก คือ เปิดตัวบริการส่งอาหาร รวมถึงยังให้บริการชำระเงินออนไลน์ภายใต้ ShopeePay และยังมีแผนที่จะขยายบริการเพิ่มเติมเป็นซุปเปอร์แอป ตัวอย่างแพลตฟอร์มซุปเปอร์แอปอื่น ๆ ยังมี Traveloka ของอินโดนีเซีย ที่ให้บริการเน้นในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นหลัก

สำหรับผู้ให้บริการในไทย เช่น Line Man และ Robinhood ประสบความสำเร็จจากความหลากหลายของบริการที่มีบนแพลตฟอร์ม ทั้งนี้ Robinhood จะปิดบริการในเดือนกรกฎาคม 2567 ในประเทศไทยยังมีผู้ให้บริการอื่น ๆ ที่ผันตัวเป็นซุปเปอร์แอปที่จำกัดบริการอยู่ในอุตสาหกรรมหลักของแบรนด์ เช่น TrueMoney ที่ขยายบริการจากกระเป๋าเงินดิจิทัล เป็นซุปเปอร์แอปทางการเงินแบบครบวงจร และ 7-Eleven ที่ครองตลาดค้าปลีก ทั้งการค้าปลีกออนไลน์สู่ออฟไลน์ อีคอมเมิร์ซ บริการทางการเงิน แคมเปญ และความบันเทิง จะเห็นได้ว่าในประเทศไทยนั้น ยังต่างจากประเทศใกล้เคียง คือยังไม่มีซุปเปอร์แอปที่ถูกพัฒนาขึ้นเองและให้บริการครอบคลุมหมวดหมู่ที่หลากหลาย

7 ปัจจัยสำคัญสู่ความสำเร็จของซุปเปอร์แอป

การเปลี่ยนผ่านความสำเร็จจากการเป็นแอปที่ได้รับความนิยมในอุตสาหกรรมหนึ่ง สู่แอปที่ผู้บริโภคเลือกใช้ในชีวิตประจำนั้นไม่ใช่โจทย์ที่ง่าย แอปจำนวนมากเน้นไปที่เนื้อหาไลฟ์สไตล์เพื่อดึงดูดให้คนเข้ามาใช้มาก ๆ แต่เมื่อไปดูที่การใช้งานจริง ๆ มักพบว่าคนจะยังคงใช้เฉพาะบริการหลักของแอปเท่านั้น ความสำเร็จของซุปเปอร์แอปนั้นเป็นโจทย์ที่ท้าทาย แต่ปัจจัยดังต่อไปนี้สามารถเพิ่มโอกาสประสบความสำเร็จให้กับซุปเปอร์แอปได้

1.บริการหลักชัดเจน หากมองย้อนกลับไปซุปเปอร์แอปชั้นนำทุกวันนี้ล้วนมีจุดเริ่มต้นจากจากพยายามที่จะแก้ไขปัญหาบางอย่างให้กับผู้ใช้งาน เช่น การส่งข้อความ หรือ การชำระเงิน/โอนเงิน ผ่านอินเทอร์เน็ต ซึ่งเหล่านี้เป็นปัญหาที่พบเป็นวงกว้าง ทำให้ผู้ให้บริการที่ปรับตัวและเริ่มให้บริการเป็นเจ้าแรก ๆ สามารถที่จะสร้างฐานผู้ใช้งานจำนวนมากได้ไว รวมถึงมีการต่อยอดบริการเสริมซึ่งแตกออกจากบริการหลัก ตัดกลับมาในปัจจุบัน หากคิดจะเริ่มต้นสร้างแอปใหม่โดยหวังจะให้เป็นซุปเปอร์แอปเลยนั้นเป็นโจทย์ที่ท้าทายอย่างมาก โดยเฉพาะในยุคที่บริการดิจิทัลเฟื่องฟูอย่างปัจจุบัน ดังนั้น หนทางสู่ความสำเร็จจึงไม่ใช่การริเริ่มสร้างแอปใหม่ แต่สำหรับผู้ประกอบการไทย คือการต่อยอดฟังก์ชันเพิ่มขึ้นจากบริการหลักที่มีฐานผู้ใช้งานมั่นคงอยู่แล้ว

2.มีบริการที่คนต้องใช้ซ้ำ ๆ สิ่งที่ซุปเปอร์แอปที่ประสบความสำเร็จมีเหมือนกัน คือ กลยุทธ์ "hook and expand" หมายถึง การดึงดูดคนด้วยบริการที่ต้องเรียกใช้บ่อย ๆ และมีราคาไม่สูงนัก ก่อนที่จะนำเสนอบริการอื่น ๆ ที่สามารถทำรายได้ที่สูงกว่าให้กับธุรกิจ เช่น บริการของ Meituan ในจีนเติบโตอย่างรวดเร็ว มีจุดเริ่มต้นจากบริการจัดส่งอาหาร ซึ่งเป็นบริการหลัก ในตอนแรกไม่ได้กำไร แต่ช่วยปูทางไปสู่บริการอื่น ๆ อีกกว่า 200 บริการ สำหรับแอปพลิเคชันในไทยที่สร้างพฤติกรรมให้คนกลับมาใช้งานในแอปได้เป็นประจำอยู่แล้ว นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และเป็นโอกาสที่จะขยายไปยังบริการอื่น ๆ ที่เพิ่มมูลค่าให้กับผู้ใช้และธุรกิจหลักได้

3.โฟกัสชัดเจน เนื่องจากซุปเปอร์แอปเป็นคำที่ใช้วงกว้าง การตีความในแต่ละบุคคล แต่ละธุรกิจจึงมีความแตกต่างกัน สำหรับธุรกิจที่มีแผนพัฒนาซุปเปอร์แอป จำเป็นที่จะต้องกำหนดนิยามและวิสัยทัศน์ให้ชัดเจน บางครั้งการกำหนดให้ประเภทของบริการอยู่ในกรอบจำกัดจะส่งผลดีต่อธุรกิจมากกว่าการเพิ่มประเภทบริการให้หลากหลายมาก ๆ ตัวอย่างเช่น ในช่วงโควิด AirAsia มุ่งสู่การเป็นบริษัทดิจิทัลไลฟ์สไตล์ โดยเปลี่ยนชื่อแบรนด์เป็น AirAsia Superapp และเข้าซื้อธุรกิจของ Gojek ในประเทศไทยเพื่อใช้เป็นฐานหลักในการดำเนินธุรกิจในประเทศ อย่างไรก็ตาม เมื่อปีที่แล้วบริษัทฯ ปรับแผนที่ต้องการจะเป็นซุปเปอร์แอปที่ครอบคลุมทุก ๆ ด้าน โดยรีแบรนด์เป็น AirAsia Move เพื่อผลักดันเพิ่มยอดขายในบริการที่ทำได้ดีที่สุดอยู่แล้ว นั่นคือ การเดินทาง

4.ผู้บริโภคไว้ใจ ปัจจัยสำคัญที่จะเอาชนะใจผู้ใช้งานได้คือความไว้วางใจ จากการสำรวจผู้บริโภคของ PYMNTS พบว่า ความกังวลอันดับหนึ่งในการใช้งานซุปเปอร์แอป คือ ความปลอดภัยของข้อมูล โดยปัจจัยที่มีผลต่อความไว้วางใจก็คือ ความสามารถในการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล และ ชื่อเสียงของผู้ให้บริการ ดังนั้น แบรนด์ที่จะขึ้นแท่นเป็นซุปเปอร์แอปเบอร์ต้นในไทยได้ จึงมีแนวโน้มที่จะเป็นแอปพลิเคชันที่ทุก ๆ คนรู้จักกันเป็นอย่างดีและอาจใช้งานกันเป็นประจำอยู่แล้ว

5.สร้างระบบนิเวศรองรับพันธมิตร มีซุปเปอร์แอปเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่พัฒนาและบริหารจัดการบริการทั้งหมดเองภายในองค์กร (เช่น Grab) ซุปเปอร์แอปจากจีนส่วนใหญ่จะเน้นพัฒนาบริการหลักและทำการวางระบบในรูปแบบของแพลตฟอร์ม เพื่อให้ง่ายต่อการเพิ่มบริการใหม่ ๆ ที่พัฒนาขึ้นโดยพันธมิตรทางธุรกิจ โดยผู้ให้บริการซุปเปอร์แอปจะเป็นผู้กำหนด "ความเปิดกว้าง" ของแพลตฟอร์ม (เจ้าของซุปเปอร์แอปคัดเลือกพันธมิตรเอง หรือ เปิดกว้างและยอมรับการเชื่อมต่อกับพันธมิตรทุกราย) ไม่ว่าจะเป็นวิธีการใดระบบแพลตฟอร์มคือปัจจัยสำคัญที่เป็นตัวกระตุ้นการเติบโต จะพบว่าแอปพลิเคชันที่มีแนวโน้มจะกลายเป็นซุปเปอร์แอปในไทยกำลังเพิ่มบริการใหม่ ๆ โดยเริ่มจากบริการในกลุ่มธุรกิจหลักของตนก่อน นับเป็นก้าวเริ่มต้นที่ดี แต่ท้ายที่สุดแล้วการเปิดรับพันธมิตรธุรกิจอื่น ๆ จะเป็นตัวขับเคลื่อนให้แอปสามารถเติบโตแบบก้าวกระโดด

6.การกำกับดูแลมินิแอป Gartner ให้คำจำกัดความซุปเปอร์แอปไว้ว่า "แอปพลิเคชันที่เปิดให้ผู้ใช้งานเข้าถึงบริการหลัก และบริการส่วนเสริมอื่น ๆ ผ่านมินิแอปที่สร้างขึ้นอย่างอิสระ" สำหรับผู้ให้บริการซุปเปอร์แอปที่เลือกร่วมมือกับพันธมิตรธุรกิจเพื่อขยายเครือข่ายของบริการ จำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญกับการกำกับดูแลมินิแอป ทั้งในแง่มุมของกระบวนการบูรณาการ การอนุญาตให้เข้าถึงแพลตฟอร์ม และวิธีการแบ่งปันข้อมูลระหว่างกัน วิธีการกำกับดูแลมินิแอปคือการบริหารความสมดุลระหว่าง "การควบคุม"และ "ความยืดหยุ่น" ดังนั้น ก่อนลงมือพัฒนาใด ๆ จำเป็นที่จะต้องกำหนดโมเดลการทำซุปเปอร์แอปให้ชัดเจน เพื่อที่จะได้วางโครงสร้างทางเทคนิคให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

7.มีพื้นฐานเทคโนโลยีที่แข็งแกร่ง ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความสำเร็จของซุปเปอร์แอปไม่แพ้การมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนและเฉียบคม คือโครงสร้างอื่น ๆ ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญไม่แพ้กัน ทั้งเทคโนโลยีที่ใช้เชื่อมต่อระบบของผู้ให้บริการต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ความสามารถในการสเกลระบบให้รองรับผู้ใช้งานหลักล้าน งานด้านความปลอดภัยเพื่อปกป้องคุ้มครองข้อมูลจำนวนมหาศาลที่เกิดขึ้น การใช้ AI ให้เป็นประโยชน์ ดังคำกล่าวที่ว่า ความรู้คือพลัง และข้อมูลคือหัวใจสำคัญที่ทำให้ซุปเปอร์แอปชั้นนำประสบความสำเร็จอย่างที่เห็นในทุกวันนี้ ยิ่งผู้ใช้งานมีการเข้าใช้แอปใดแอปหนึ่งมากเท่าไหร่ แอปนั้นก็จะยิ่งรู้จักผู้ใช้รายนั้นมากขึ้น ก่อให้เกิดการพัฒนาประสบการณ์ที่เจาะจงเฉพาะบุคคลได้มากขึ้น (personalised experience) ทำให้แอปนั้นโดดเด่นและสามารถดึงดูดผู้ใช้งานได้มากกว่าผู้ให้บริการแอปรายอื่น ๆ ดังนั้นแล้ว การพัฒนาซุปเปอร์แอปจำเป็นต้องมีเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อทำให้การพัฒนาประสบความสำเร็จ

หนทางข้างหน้า

ในประเทศไทยมีองค์กรที่อยู่ในจุดที่พร้อมพัฒนาสู่การเป็นซุปเปอร์แอป แต่ความสำเร็จนั้น ไม่มีทางลัด การสร้างซุปเปอร์แอปเป็นการลงทุนระยะยาว เราไม่สามารถสรุปได้ว่าความสำเร็จที่เกิดขึ้นในตลาดอื่นจะสามารถนำมาใช้และจะเกิดผลลัพธ์แบบเดียวกันให้เห็นทันตา เพราะทุก ๆ ตลาดมีคุณลักษณะเฉพาะตัวที่ต่างกัน ดังนั้น จึงต้องมีกลยุทธ์ที่สอดคล้องกับแต่ละท้องถิ่นอย่างแท้จริง ทั้งความเข้าใจพฤติกรรมผู้ใช้งาน และเครือข่ายพันธมิตรธุรกิจที่จะช่วยส่งเสริมกัน ทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นกุญแจสู่ความสำเร็จทั้งสิ้น

แอปพลิเคชันที่มีท่าทีจะปรับตัวไปเป็นซุปเปอร์แอปคือผู้ให้บริการที่มีจุดแข็งในตลาดชัดอยู่แล้ว และต้องคิดวิธีการปรับเอานวัตกรรมมาใช้เพื่อสร้างการเติบโต คำถามตั้งต้นคือ จะนำเอาทรัพยากรที่มีอยู่ปรับเปลี่ยนรูปแบบใหม่ ๆ อย่างไร? พันธมิตรรายใดจะสามารถช่วยเพิ่มบริการใหม่ ๆ หรือช่วยให้ทดสอบบริการรูปแบบใหม่ ๆ ได้อย่างรวดเร็ว? ข้อมูลที่มีอยู่ในองค์กรจะนำไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์เหนือคู่แข่งได้อย่างไร? อะไรคือข้อได้เปรียบ หรือความโดดเด่นที่ผู้เล่นรายอื่นไม่สามารถทำได้? ผมเชื่อว่าด้วยการสร้างกลยุทธ์ซุปเปอร์แอปที่เหมาะสม จะทำให้องค์กรเข้าถึงโอกาสทองนี้ได้

 

ประเทศไทยจะคว้าโอกาสในยุคทองของ super app ได้อย่างไร โดย นายบ๊อบ แกลลาเกอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอ๊พซินท์ เอเชีย จำกัด
ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit