ลุย 'ลพบุรี' เดินหน้าเปิดตัวสภาผู้บริโภค ยกระดับงานผู้บริโภคในพื้นที่

07 Aug 2024

สภาผู้บริโภคเดินหน้าขับเคลื่อนงานคุ้มครองผู้บริโภคสู่ จ.ลพบุรี ยกระดับความเข้มแข็งผู้บริโภคและหน่วยงานภาครัฐ - เอกชน พร้อมจับมือหน่วยงานแก้ไขปัญหาปัญหาผู้บริโภค ผลักดันนโยบายคุ้มครองผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพ

ลุย 'ลพบุรี' เดินหน้าเปิดตัวสภาผู้บริโภค ยกระดับงานผู้บริโภคในพื้นที่

เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2567 สภาผู้บริโภคลงพื้นที่ จ.ลพบุรี จัดงาน "สภาองค์กรของผู้บริโภค เพื่อเพื่อนผู้บริโภค จังหวัดลพบุรี" เพื่อสร้างความเข้าใจการทำงานคุ้มครองผู้บริโภค พร้อมผลักดันให้องค์กรและเครือข่ายผู้บริโภคพื้นที่ จ.ลพบุรี เข้าจดแจ้งเป็นองค์กรของผู้บริโภค มุ่งขยายฐานเครือข่ายภาคประชาชนระดับพื้นที่ในการช่วยเหลือการคุ้มครองผู้บริโภคชาวลพบุรี โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคร่วมกิจกรรมในครั้งนี้

เพื่อฉายภาพให้เห็นถึงสถานการณ์ปัญหาของผู้บริโภคในพื้นที่ จ.ลพบุรี นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 - กรกฎาคม 2567 มีผู้บริโภคในพื้นที่ จ.ลพบุรี ร้องเรียนมาที่สภาผู้บริโภค จำนวนทั้งหมด 93 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นปัญหาด้านสินค้าและบริการ โดยเฉพาะปัญหาการซื้อสินค้าออนไลน์ รองลงมาเป็นปัญหาด้านการเงินและการธนาคาร ที่ผู้บริโภคร้องเรียนเกี่ยวกับแอปพลิเคชันกู้เงินออนไลน์ที่มีการคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด อย่างไรก็ตาม เพื่อขยายฐานการคุ้มครองผู้บริโภคให้ครอบคลุมในหลายจังหวัดมากขึ้นนั้น สภาผู้บริโภคจึงได้จัดงานดังกล่าวขึ้นเพื่อผลักดันให้เกิดองค์กรของผู้บริโภคใน จ.ลพบุรี ที่ปัจจุบันสภาผู้บริโภคยังไม่มีองค์กรสมาชิกอยู่ในพื้นที่นี้

"การเปิดตัวสภาผู้บริโภคใน จ.ลพบุรี ครั้งนี้เป็นไปเพื่อเชิญชวนองค์กรที่ทำงานคุ้มครองผู้บริโภคในพื้นที่ จ.ลพบุรี เข้ามาทำงานคุ้มครองผู้บริโภคเพิ่มขึ้น ซึ่งจังหวัดลพบุรีเป็นจังหวัดหนึ่งที่สภาผู้บริโภคให้ความสำคัญและต้องการผลักดันและพัฒนาให้เกิดองค์กรของผู้บริโภคที่เข้มแข็งขึ้นให้ได้" นางสาวสารี กล่าว

เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค ยังกล่าวถึงประโยชน์ที่ผู้บริโภคจะได้รับจากสภาผู้บริโภค คือการได้รับการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคใน 9 ด้าน โดยได้ยกตัวอย่างกรณีสภาผู้บริโภคได้ให้ความช่วยเหลือ และนโยบายที่กำลังผลักดันเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค เช่น ปัญหาเงินกู้ ปัญหาค่ายแนะแนวโฆษณาเกินจริง นโยบายขนส่งมวลชน ทุกคนขึ้นได้ และนโยบายหน่วงเงินมาตรการป้องกันมิจฉาชีพออนไลน์ และสำหรับสิทธิและประโยชน์ของสมาชิกนั้น จะได้รับการสนับสนุนในการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อให้การคุ้มครองผู้บริโภคในพื้นที่มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น องค์กรสมาชิกสามารถเสนอข้อคิดเห็น หรือคำแนะนำในประเด็นงานคุ้มครองผู้บริโภค

ในวันเดียวกัน มีการนำประเด็นสถานการณ์ผู้บริโภคหารือเพื่อสร้างความร่วมมือในการคุ้มครองผู้บริโภคร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยในเวทีเสวนา "สถานการณ์ผู้บริโภค ร่วมมือกันคุ้มครองผู้บริโภคจังหวัดลพบุรี" นายภัณฑิล น่วมเจิม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎร ให้ความเห็นว่า นอกจากการคุ้มครองผู้บริโภคและการสนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้บริโภคเท่าทันกับปัญหาแล้ว หน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ต้องทำให้เกิดการแข่งขันของผู้ประกอบการที่มากขึ้นในการให้บริการผู้บริโภค เพื่อให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกในการซื้อหรือใช้สินค้าและบริการ นอกจากนี้ยังได้เสนอให้มีการปรับปรุงกฎหมายเพื่อพัฒนาการคุ้มครองผู้บริโภค ได้แก่ การปรับปรุง พ.ร.บ คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ให้มีความเท่าทันกับโลกในปัจจุบัน รวมทั้งการผลักดันให้เกิดกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้น อีกทั้ง ยังขอสนับสนุนแนวคิดนโยบายหน่วงเงินก่อนโอนของสภาผู้บริโภค ที่จะช่วยป้องกันผู้บริโภคจากอาชญากรรมออนไลน์ได้

"ควรมีการผลักดันกฎหมายทางการค้าให้เกิดขึ้นด้วย เพื่อลดปัญหาการบริการที่ผูกขาดเพียงเจ้าใดเจ้าหนึ่ง ผลักดันเปิดโอกาสให้มีการแข็งขันของผู้ประกอบมากขึ้นในอนาคต เช่น บริการสื่อสารโทรคมนาคม ที่ปัจจุบันมีเพียงไม่กี่เจ้า ผู้ประกอบการไม่พยายามแข็งขันกัน ส่งผลให้ผู้บริโภคมีทางเลือกน้อยและถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบการ" นายภัณฑิล กล่าว

สำหรับประเด็นปัญหาด้านอาหารและยาของจังหวัดลพบุรีนั้น ภญ.ตุลาภรณ์ รุจิระยรรยง หัวหน้ากลุ่มคุ้มครองผู้บริโภคและเภสัชสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลพบุรี ให้ข้อมูลว่า ปัญหาส่วนใหญ่ที่พบจะเป็นเรื่องของโฆษณาเกินจริงของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ขายในแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งผู้บริโภคส่วนใหญ่ตกเป็นเหยื่อคำโฆษณาเหล่านั้นและซื้อมารับประทาน โดยเรื่องนี้เป็นอีกหนึ่งภารกิจที่หน่วยงานพยายามแก้ไข แต่มองว่าสิ่งสำคัญที่สุดที่ช่วยป้องกันได้เบื้องต้น คือผู้บริโภคต้องมีข้อมูลที่จะสามารถดูแลตัวเองได้ ทั้งนี้ หากพบผลิตภัณฑ์ที่เป็นอันตรายหรือได้รับความเสียหายสามารถแจ้งมา สสจ.จังหวัด เพื่อตรวจสอบและยังช่วยป้องกันผู้บริโภครายอื่นด้วย

"เรามุ่งมั่นตั้งใจทำงานเพื่อพี่น้องประชาชน เราพยายามควบคุมกำกับให้บริการสุขภาพ และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เหล่านี้ให้มีมาตรฐานตามกฎหมายกำหนด ให้ผู้ประกอบการทำสิ่งที่เป็นมาตรฐาน นอกจากนี้เรายังมีหน่วยงานในสังกัด ไม่ว่าจะเป็น โรงพยาบาล สาธารณสุขอำเภอ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และที่จะเป็นกำลังสำคัญที่สุดคือภาคประชาชน และกลุ่มอาสาสมัครในการคุ้มครอง ผู้บริโภคด้านสุขภาพ ทั้งในโรงเรียนและในชุมชน หรือที่เรียกว่า อย.น้อย ที่จะช่วยกันทำให้การคุ้มครองผู้บริโภคครอบคลุมทุกพื้นที่ในจังหวัดลพบุรี หากจ.ลพบุรีมีสภาผู้บริโภคเข้ามาคุ้มครองผู้บริโภคในพื้นที่ จะทำให้การทำงานคุ้มครองผู้บริโภคครอบคลุมมากยิ่งขึ้น เพราะเราจะทั้งภาครัฐ และภาคประชาชนที่ช่วยกันซึ่งเป็นสิ่งที่ดี และวันนี้ดีใจมากที่จะมีหน่วยงานมาช่วยกันมากยิ่งขึ้น" ภญ.ตุลาภรณ์ กล่าว

ขณะที่ รศ.ดร.กาสัก เต๊ะขันหมาก ผู้อำนวยการสถาบันนารายณ์เพื่อการพัฒนาจังหวัดลพบุรี ให้ความเห็นว่า หากภาคประชาชนแข็งแรงการคุ้มครองกันก็จะมีความแข็งแรงยิ่งขึ้น แต่ทั้งนี้ บางปัญหาอาจยากเกินกว่าที่ประชาชนจะดูแลตัวเองได้ จึงต้องมีองค์กรของผู้บริโภคมาช่วยกันดูแล รวมทั้งยังต้องส่งเสริมให้มีภาคธุรกิจที่ต้องทำสินค้าและบริการที่มีมาตรฐาน รวมถึงภาครัฐต้องควบคุมไม่ให้ผู้ประกอบการเอาเปรียบประชาชน

"รัฐมีหน้าที่ดูแลประชาชน ไม่มีเรื่องไหนที่ไม่มีหน่วยงานภาครัฐดูแล และยังมีบางปัญหาที่มีหน่วยงานของรัฐหลาย ๆ องค์กรที่ช่วยดูและ หากมองเช่นนี้จะเห็นว่าประชาชนจะปลอดภัย เพราะมีรัฐช่วยดูแล แต่ความเป็นจริงประชาชนก็ยังคงพบปัญหามาตลอด สุดท้ายประชาชนต้องพึ่งตัวเอง ดูแลตัวเองเป็นหลัก จึงเป็นที่มาว่าต้องทำอย่างไรประชาชนจึงจะพึ่งตัวเองได้ แต่บางปัญหามันเกินที่กว่าที่ประชาชนจะดูแลตัวเองได้จึงต้องมีองค์กรของผู้บริโภคมาช่วยกันดูแลกัน เพื่อให้ประชาชนได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง" รศ.ดร.กาสัก ระบุ

ส่วน นางสาวชลดา บุญเกษม กรรมการนโยบายเขตพื้นที่ภาคกลาง สภาผู้บริโภค กล่าวว่า ประเด็นสำคัญของการคุ้มครองผู้บริโภค คือการรับเรื่องร้องเรียน ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ เพราะเมื่อรับเรื่องร้องเรียนมาแล้ว ต้องช่วยกันแก้ไขไม่ว่าจะเป็นติดต่อผู้ประกอบการไกล่เกลี่ย ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้แก้ไข ตลอดจนผู้บริโภคได้รับความเป็นธรรม แต่ปัญหาคือผู้บริโภคส่วนหนึ่งไม่รู้ว่าตัวเองกำลังโดนละเมิดสิทธิ และไม่รู้ว่ามีหน่วยงานไหนบ้างที่ให้ความช่วยเหลือ

"ปัญหาส่วนหนึ่งคือผู้บริโภคไม่รู้สิทธิของตัวเอง จึงไม่ร้องเรียน และพวกเราในฐานะผู้แทนผู้บริโภคจึงมีหน้าที่ประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภครับรู้ถึงสิทธิของตัวเอง เมื่อผู้บริโภครู้ถึงสิทธิของตัวเองจะรู้ว่าตัวเองถูกละเมิด และปกป้องสิทธิตัวเองด้วยการร้องเรียน แต่หากพื้นที่ไหนไม่มีองค์กรของผู้บริโภค ผู้บริโภคก็จะไม่รู้ว่าจะไปร้องเรียนที่ไหน และสิ่งที่สำคัญอีกเรื่องคือการประชาสัมพันธ์ตัวเองเพื่อให้ผู้บริโภครู้ว่าเราคือใคร และช่วยเหลือพวกเขาได้อย่างไรบ้าง" นางสาวชลดา กล่าว

อย่างไรก็ตามในเวทีเปิดตัวสภาผู้บริโภค จ.ลพบุรี ยังได้รับความร่วมมือจาก นางสาววีราภรณ์ ชินวงศ์ ผู้อำนวยการส่วนงานกิจการองค์กรของผู้บริโภค สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ได้ให้คำแนะนำถึงวิธียื่นแจ้งสถานะ และเอกสารสำหรับการจดแจ้งเป็นองค์กรของผู้บริโภคแก่ผู้เข้าร่วมเวทีครั้งนี้ โดยการยื่นแจ้งนั้นสามารถยื่นผ่านช่องทางออนไลน์ ได้ที่เว็บไซต์ www.oca.go.th (งานกิจการองค์กรของผู้บริโภค) มีเอกสารที่ประกอบไปด้วย 6 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 ข้อมูลคำขอแจ้งและรายละเอียด ได้แก่ ชื่อองค์กร และข้อมูลผู้มายื่น ส่วนที่ 2 หนังสือให้ความยินยอม ส่วนที่ 3 รายละเอียดข้อมูลองค์กรของผู้บริโภคที่จดแจ้ง ส่วนที่ 4 รายชื่อคณะกรรมการ ส่วนที่ 5 แบบแสดงผลการดำเนินงาน (ผลงาน) ต้องเป็นผลงานเชิงประจักษ์ ที่ผลการดำเนินงานโดยตรงกับประชาชน และมีการรับรองของหน่วยงานภาครัฐ และส่วนสุดท้าย วัตถุประสงค์ขององค์กรเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค หรือเกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค

ทั้งนี้ ไม่ว่าผู้บริโภคจะอยู่จังหวัดใดก็ตาม หากได้รับความเดือดร้อน สามารถปรึกษา หรือร้องเรียนปัญหาผู้บริโภคได้ที่หน่วยงานประจำจังหวัดของสภาผู้บริโภคใกล้บ้านท่าน (ดูรายชื่อหน่วยงาน และช่องทางติดต่อได้ที่ https://www.tcc.or.th/tcc-agency/) หรือร้องเรียนมาที่สำนักงานสภาผู้บริโภค สายด่วนสภาผู้บริโภค 1502 ในวันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 9.00 - 17.00 น. หรือช่องทางอื่น ๆ ดังนี้ ร้องเรียนผ่านเว็บไซต์ tcc.or.th อินบ็อกซ์เฟซบุ๊ก (Facebook Inbox) สภาองค์กรของผู้บริโภค หรือไลน์ออฟฟิเชียล (Line Official) : @tccthailand

ฝากข่าวประชาสัมพันธ์?

ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit