กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) กระทรวงอุตสาหกรรม ผนึกกำลัง สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ร่วมติดปีกอุตสาหกรรมอนาคต ด้วยเศรษฐกิจอวกาศ ผ่านเครือข่ายความร่วมมือ (DIPROM CONNECTION) ด้วยการเพิ่มโอกาสให้กับภาคอุตสาหกรรมให้เข้าสู่ห่วงโซ่อุตสาหกรรมการบินและอวกาศ ยกระดับมาตรฐานด้านการทดสอบและวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการในการทดสอบวัสดุ ชิ้นส่วนด้านอากาศยาน และอวกาศ เพื่อเป็นฐานการประกอบธุรกิจด้านการบินและอวกาศ โดยการเพิ่มการลงทุนด้านอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล ตลอดจนการนำทรัพยากรมาใช้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างเต็มประสิทธิภาพสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปสู่โลกอนาคต
นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามนโยบาย IGNITE THAILAND ของรัฐบาลที่มุ่งเป้าพัฒนาประเทศไทยให้กลายเป็นศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลก ซึ่งอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มการเติบโตสูงทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก และยังเป็น S-Curve ใหม่ ที่เป็นพื้นฐานที่สำคัญในการต่อยอดเทคโนโลยีต่าง ๆ ในอนาคต รวมทั้งเศรษฐกิจอวกาศยังเอื้อประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอีกมากมาย ด้วยเหตุนี้ เทคโนโลยีอวกาศ จึงช่วยยกระดับขีดความสามารถด้านการแข่งขันของไทยให้ทัดเทียมกับประเทศชั้นนำของโลก และก้าวนำประเทศคู่แข่งที่อยู่ในระดับเดียวกัน ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้ร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เข้ามาสร้างโอกาสการพัฒนาอุตสาหกรรมด้านเศรษฐกิจอวกาศให้กับภาคอุตสาหกรรม โดยจะพัฒนาเพื่อให้เกิดเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ ๆ และขยายผลไปสู่เชิงพาณิชย์ได้ในหลากหลายมิติ ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ในการส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมด้วยการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะเข้ามาเติมเต็มการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอวกาศอย่างยั่งยืนในอนาคต
นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเผยว่า หนึ่งในการดำเนินงานที่สำคัญของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) คือการมุ่งเน้นด้านการวิจัยและนวัตกรรม ที่ตอบโจทย์ ตรงกับความต้องการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นภาคส่วนเศรษฐกิจกระแสหลักของประเทศ โดย อว. ตั้งเป้าขยายผลการใช้ประโยชน์ของนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาต่อยอดการใช้งานในภาคอุตสาหกรรม จึงให้ความสำคัญในการส่งเสริม การสร้างและสนับสนุนผู้ประกอบการนวัตกรรมในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับเยาวชน Startup SMEs และบริษัทขนาดใหญ่ ดังนั้นความร่วมมือระหว่างสองกระทรวงในครั้งนี้ ถือเป็นอีกก้าวสำคัญที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการเพื่อก้าวสู่ภารกิจด้านกิจการอวกาศของไทย โดยได้มอบหมายให้ GISTDA เป็นกำลังหลักในการสนับสนุนองค์ความรู้ เพื่อสร้างนวัตกรรมจากเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ และเพื่อขยายระบบโครงสร้างอุตสาหกรรมการบินและอวกาศของประเทศ โดยหน่วยงานรัฐและเอกชนทุกภาคส่วนจะมีโอกาสเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอวกาศ ซึ่งจะผลักดันให้ไทยเข้าสู่ Global Value Chain ด้านอวกาศอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ขานรับข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับนโยบาย "RESHAPE THE FUTURE : โลกเปลี่ยน อุตสาหกรรมปรับ พร้อมรับอนาคต" ด้วยการบูรณาการเครือข่ายความร่วมมือ (DIPROM CONNECTION) ผ่านลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ร่วมติดปีกอุตสาหกรรมอนาคต ด้วยเศรษฐกิจอวกาศ กับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจอวกาศ โดยใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ มาต่อยอดในการดำเนินธุรกิจในมิติต่าง ๆ เพื่อก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมเป้าหมายแห่งอนาคตโดยการบ่มเพาะผู้ประกอบการด้านนวัตกรรมเศรษฐกิจอวกาศ ตลอดจนแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม และฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงเข้าสู่ห่วงโซ่มูลค่าในระดับโลก พร้อมยกระดับมาตรฐานด้านการทดสอบและวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการในการทดสอบวัสดุและชิ้นส่วนด้านอากาศยานและอวกาศ สนับสนุนการเป็นฐานการประกอบธุรกิจด้านการบินและอวกาศ รวมถึงสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ เพื่อเพิ่มการลงทุนด้านอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล ตลอดจนการนำทรัพยากรของประเทศมาใช้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งนอกเหนือจากการพัฒนาผู้ประกอบการร่วมกันแล้ว ทั้งสองหน่วยงานจะร่วมกันสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนด้านองค์ความรู้ เครื่องมือ อุปกรณ์ กลไกต่าง ๆ รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากร รองรับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมต่อไปอีกด้วย
ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA กล่าวว่า GISTDA มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการบินและอวกาศของประเทศ ด้วยการสนับสนุนข้อมูลจากดาวเทียมและเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ ซึ่งปัจจุบันได้นำมาประยุกต์ใช้ในหลายอุตสาหกรรม ดังนั้น การลงนามครั้งนี้เป็นโอกาสอันดีที่ GISTDA จะได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาและผลักดันการใช้ เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการธุรกิจอุตสาหกรรมในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน GISTDA ได้ตระหนักถึงความสำคัญและแนวโน้มของเศรษฐกิจอวกาศใหม่ ซึ่งถือว่าเป็นเศรษฐกิจยุคใหม่ที่มีเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยตัวเลขพบว่าทั่วโลกมีอัตราเติบโตถึงร้อยละ 8.1 มูลค่าสูงราว 415 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นครั้งแรกที่มีมูลค่าสูงกว่า 400 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และจากการศึกษาวิเคราะห์ของ GISTDA พบว่า ประเทศไทยมีธุรกิจที่ต่อยอดจากการใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีอวกาศ มากกว่า 35,600 กิจการ คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 56,000 ล้านบาทต่อปี จึงสะท้อนได้ว่าอุตสาหกรรมนี้เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่จะช่วยสร้างการเติบโตให้กับเศรษฐกิจไทยได้อีกมากในอนาคต ดังนั้น GISTDA จึงได้เตรียมความพร้อมในด้านโครงสร้างพื้นฐาน เครื่องมือและอุปกรณ์ บุคลากร ตามมาตรฐานอุตสาหกรรมการบินและอวกาศ ที่จะสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีอวกาศสู่ภาคเอกชน ตลอดจนการดำเนินงานต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นภายใต้การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เพื่อมุ่งเน้นให้เกิดการสร้างสรรค์ธุรกิจอุตสาหกรรมอวกาศใหม่ ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชน เพื่อประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาประเทศต่อไป ดร.ปกรณ์ กล่าวทิ้งท้าย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit