สัญญาณ-อาการเตือน โรคไบโพลาร์ หรือ อารมณ์สองขั้ว

05 Aug 2024

เคยสังเกตคนใกล้ตัวบ้างไหม ?  เดี๋ยวก็อารมณ์ดี  เดี๋ยวก็โวยวาย โมโห หรือบางทีก็เศร้า แต่พอผ่านไปสักพักอารมณ์กลับเปลี่ยนแปลงไป ทำอะไรสุดโต่งที่ผิดปกติไปจากตัวตน จริง ๆ แล้วอาการเหล่านี้อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ  หรือ อาจเป็นสัญญาณของอาการป่วยที่เรียกว่า "โรคไบโพลาร์" หรือ "โรคอารมณ์สองขั้ว"

สัญญาณ-อาการเตือน โรคไบโพลาร์ หรือ อารมณ์สองขั้ว

โรคอารมณ์สองขั้ว หรือ โรคไบโพลาร์(Bipolar Spectrum Disorders)

คือโรคที่ผู้ป่วยมีอารมณ์ผิดปกติอย่างเด่นชัด เป็นหนึ่งในโรคทางจิตเวชที่เกี่ยวข้องกับความผิดปกติทางอารมณ์ ผู้ที่เป็นโรคนี้มักจะเผชิญกับช่วงเวลาที่มีอารมณ์สุดขั้วสองขั้ว  เป็นภาวะที่มีการเปลี่ยนแปลงอารมณ์อย่างรุนแรง คือช่วงอารมณ์ร่าเริง (Mania) และช่วงภาวะซึมเศร้า (depression) การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ไม่ใช่เพียงแค่การขึ้นลงของอารมณ์ปกติ แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีผลกระทบอย่างมากต่อชีวิตประจำวัน ความสัมพันธ์ และความสามารถในการทำงาน   

ลองเช็คอาการหรือพฤติกรรม ที่เป็นสัญญาณเตือนของโรคไบโพลาร์คืออารมณ์สองขั้ว มีดังนี้

อาการคลุ้มคลั่ง

  • อารมณ์ดีผิดปกติหรือหงุดหงิดมากเกินไป
  • มีพลังงานหรือความกระตือรือร้นมากเกินไป
  • มั่นใจในตัวเองเกินจริง
  • นอนหลับน้อยลง แต่รู้สึกสดชื่น
  • พูดมากเกินไป คิดเร็ว
  • ความคิดฟุ้งซ่าน
  • ไม่สามารถจดจ่อกับสิ่งใดได้
  • มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น ใช้เงินเกินตัว มีเพศสัมพันธ์อย่างไม่ยับยั้ง

อาการในช่วงซึมเศร้า

  • อารมณ์เศร้า หดหู่
  • สูญเสียความสนใจในกิจกรรม
  • น้ำหนักลดหรือเพิ่มอย่างมาก
  • นอนไม่หลับหรือหลับมากเกินไป
  • เหนื่อยล้า ไม่มีแรง
  • รู้สึกไร้ค่าหรือผิดหวัง
  • ความจำสั้น ไม่สามารถจดจ่อ
  • คิดถึงการตายหรือฆ่าตัวตาย

อาการแบบผสม

ในบางกรณี ผู้ป่วยอาจมีอาการทั้งช่วงคลุ้มคลั่งและช่วงซึมเศร้าพร้อมกัน ซึ่งอาจทำให้การวินิจฉัยซับซ้อนอาการเหล่านี้จะต้องส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันอย่างมีนัยสำคัญ จึงจะสามารถวินิจฉัยว่าเป็นโรคอารมณ์สองขั้วได้

ระยะเวลาของอาการ

  • อาการคลุ้มคลั่ง: ต้องมีอาการอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 1 สัปดาห์ (หรือระยะเวลาใดก็ได้หากจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล) ในช่วงเวลานี้ ผู้ป่วยจะมีอารมณ์ดีผิดปกติ หงุดหงิด หรือมีพลังงานและความกระตือรือร้นมากเกินไป
  • อาการซึมเศร้า: ต้องมีอาการอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ในช่วงเวลานี้ ผู้ป่วยจะมีอารมณ์เศร้าหรือสูญเสียความสนใจในกิจกรรมต่างๆ พร้อมกับอาการซึมเศร้าอื่นๆ
  • อาการแบบผสม: ผู้ป่วยอาจมีอาการคลุ้มคลั่งและซึมเศร้าพร้อมกัน ระยะเวลาของอาการแบบผสมอาจแตกต่างกันไป แต่ต้องเป็นไปตามเกณฑ์ของอาการคลุ้มคลั่งและซึมเศร้า

อาการเหล่านี้อาจไม่ปรากฏในทุกราย แต่เป็นสิ่งที่ควรสังเกตกับตนเอง หรือคนรอบตัว   หากคิดว่าเรามีพฤติกรรมที่เข้าข่าย  และไม่มั่นใจในพฤติกรรมที่ผ่านมาของเรา ควรปรึกษาจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยา เพื่อให้ได้การวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสม

ปัจจุบันผู้ป่วยโรคอารมณ์สองขั้ว มีอยู่จำนวนมาก และขาดการดูแลจนส่งผลกระทบต่อผู้ที่ทำงานด้วยจำนวนมาก โดยคนที่ป่วยเป็นไบโพลาร์ มีจำนวนมาก แต่หลายคนไม่ได้เข้าสู่กระบวนการรักษา ขณะที่หลายคนปฏิเสธรักษา เพราะกลัวถูกมองว่าเป็นคนบ้า ทั้งที่จริงเป็นความผิดปกติด้านอารมณ์ ที่เรียกว่าอารมณ์สองขั้ว เพราะด้านหนึ่งเป็นอารมณ์ซึมเศร้า อีกขั้วเป็นอาการคลุ้มคลั่ง

ดังนั้น การทำความเข้าใจ สังเกตพฤติกรรมของตนเอง และคนรอบข้าง จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยทำให้ผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้ ไม่มีอาการลุกลาม จนสร้างผลกระทบต่อคนอื่นๆ ในวงกว้าง.  เพราะการเข้าใจโรคไบโพลาร์และอาการที่เกี่ยวข้องเป็นขั้นตอนสำคัญในการรับมือและการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ การรักษาโรคไบโพลาร์ หลัก ๆ คือการใช้ยา ซึ่งยาที่ใช้รักษา ได้แก่ กลุ่มยาควบคุมอารมณ์ ยาต้านโรคจิต และยาต้านเศร้า ซึ่งการใช้ยาเหล่านี้ขึ้นกับการพิจารณาของแพทย์ที่รักษาผู้ป่วย นอกจากนี้ การรักษาอาจใช้ยาควบคู่กับการทำจิตบำบัด ปรับพฤติกรรม หรือการรักษาด้วยไฟฟ้าในกรณีที่มีอาการรุนแรง และต้องการผลการรักษาที่ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว

เป้าหมายของการรักษาโรคไบโพลาร์ คือการที่ผู้ป่วยสามารถกลับไปทำงานเป็นคนเดิม และใช้ชีวิตในสังคมได้ แต่การรักษาอาจไม่หายขาด วันดีคืนดีอาจกลับมามีอาการอีก โดยเฉพาะในรายที่มีจาก อาการป่วยมาหลายครั้งหรือค่อนข้างถี่ แต่ละครั้งอาการรุนแรง แพทย์อาจพิจารณาให้ยาต่อเนื่อง เพื่อป้องกันไม่ให้อาการกลับมาอีก

แพทย์หญิงอริยาภรณ์ ตั้งชีวินศิริกูล จิตแพทย์ โรงพยาบาล BMHH - Bangkok Mental health Hospital