กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) เดินหน้ายกระดับสินค้าเกษตรสู่เกษตรอุตสาหกรรม ผ่านกิจกรรม "การใช้เทคโนโลยีเกษตรอุตสาหกรรมอัจฉริยะผ่านการประกวด DIPROM Agro-Machinery Award 2024" เพื่อส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม ภูมิปัญญา กระบวนการผลิตเกษตรอุตสาหกรรมอัจฉริยะให้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และวิสาหกิจชุมชนให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ พร้อมมอบรางวัล 5 ต้นแบบการใช้เทคโนโลยีอัจฉริยะ ประกอบด้วยผลงานการพัฒนาในขั้นตอนต่าง ๆ ตั้งแต่เตรียมวัตถุดิบ การแปรรูป และควบคุมคุณภาพและยืดอายุการเก็บรักษาก่อนการบรรจุ เพื่อเป็นแบบอย่างให้แก่ธุรกิจเกษตรในพื้นที่ต่าง ๆ ในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีได้อย่างเหมาะสมต่อไปในอนาคต ซึ่งคาดว่าจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจกว่า 100 ล้านบาท
นายภาสกร ชัยรัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันสินค้าเกษตรเป็นหนึ่งในสินค้าที่สำคัญของไทย และเป็นแหล่งรายได้ให้กับเกษตรกรทั่วประเทศ แต่ที่ผ่านมาเกษตรกรส่วนใหญ่ยังมีรายได้ต่ำ เนื่องจากจำหน่ายผลผลิตในรูปแบบของสินค้าวัตถุดิบที่ไม่ผ่านการแปรรูป ตลอดจนธุรกิจเกษตรยังขาดการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรม ภายใต้การนำของ นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้มีนโยบายขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและการกระจายรายได้ของประเทศไทย จึงได้มอบหมายให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) เร่งดำเนินการสนับสนุนการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในกระบวนการผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและแปรรูปสินค้าเกษตรทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ ช่วยยกระดับมาตรฐานและความปลอดภัย รวมถึงสามารถทดแทนแรงงานและเพื่อขีดความสามารถในการแข่งขันได้ในอนาคต
นายภาสกร กล่าวว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ ดีพร้อม (DIPROM) ได้กำหนดนโยบาย"RESHAPE THE FUTURE : โลกเปลี่ยน อุตสาหกรรมปรับ พร้อมรับอนาคต" ภายใต้กลยุทธ์การปรับตัวให้ก้าวทันเศรษฐกิจยุคใหม่ (RESHAPE THE INDUSTRY) ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตของธุรกิจเกษตร ทั้งในส่วนของเทคโนโลยีทุ่นแรง และเทคโนโลยีการผลิตชั้นสูงสำหรับเกษตรแปรรูป ผ่านกิจกรรม "การใช้เทคโนโลยีเกษตรอุตสาหกรรมอัจฉริยะผ่านการประกวด DIPROM Agro-Machinery Award 2024" ด้วยการส่งเสริมการพัฒนาอุปกรณ์เครื่องจักรให้แก่วิสาหกิจในแต่ละภูมิภาคให้สามารถดำเนินการได้ดีขึ้นผ่านฟังก์ชันการทำงานต่าง ๆ เพื่อให้ธุรกิจเกษตรมีกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพ และการบริหารจัดการในต้นทุนที่ต่ำ โดยยังคงคุณภาพและความสม่ำเสมอของผลิตภัณฑ์ ตลอดจนการสร้างโอกาสในด้านเกษตรกรรม และแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรให้แก่เกษตรกรที่มีศักยภาพในการผลิต เพื่อเพิ่มมูลค่า รายได้ และเป็นแบบอย่างให้แก่ธุรกิจเกษตรในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีได้อย่างเหมาะสมต่อไปในอนาคต
ในปัจจุบัน ดีพร้อม ได้ดำเนินการพัฒนาเทคโนโลยีเกษตรอุตสาหกรรมอัจฉริยะให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ต่าง ๆ ผ่านการดำเนินงานของศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมทั้ง 11 แห่งทั่วประเทศ รวมทั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาวัสดุอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ด้วยการส่งเสริมและพัฒนาการใช้เครื่องจักร เทคโนโลยีการผลิต และการแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรให้แก่ผู้ประกอบการในพื้นที่ทั่วประเทศ จำนวน 218 กิจการ โดยมีผู้รับบริการจากหลากหลายประเภทธุรกิจ ทั้งธุรกิจประเภทแปรรูปอาหาร เช่น ปลากะตักต้มตากแห้ง ขั่วหมี่กรอบโคราช เนื้อแผ่น คั่วไก่อบแห้ง กล้วยกรอบแก้ว ข้าวเกรียบ ข้าวหมาก ขิงแปรรูป น้ำผึ้ง ช็อกโกแลต โกโก้ กาแฟ และน้ำผลไม้ เป็นต้น รวมถึงธุรกิจประเภทแปรรูปที่ไม่ใช่อาหาร เช่น กระเป๋าต้นกก น้ำมันนวดสมุนไพร เครื่องสำอาง ผ้าพิมพ์ใบไม้ และน้ำยาซักผ้าไหม เป็นต้น
นายภาสกร กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะเดียวกันกิจกรรมดังกล่าว ดีพร้อม ยังได้จัดมอบรางวัล DIPROM Agro-Machinery Award 2024 อย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 โดยการคัดเลือกจากผลงานของทีมต่าง ๆ เพื่อเป็นแบบอย่างการใช้เทคโนโลยีเกษตรอุตสาหกรรมอัจฉริยะ จำนวน 5 ผลงาน ได้แก่ 1) รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ระบบ AI สำหรับตรวจวัดปริมาณอาหารในการเลี้ยงกุ้ง 2) รางวัลรองชนะเลิศรองอันดับ 1 ได้แก่ เครื่องฝานกล้วย 3) รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ เครื่องผ่าผลสดโกโก้แบบอัตโนมัติ 4) รางวัล Technical Challenge ได้แก่ หม้อต้มปลาอัจฉริยะ (Boiler Machine) และ 5) รางวัล Knowledge Sharing ได้แก่ ระบบควบคุมอุณหภูมิและแสดงผลในกระบวนการผลิตแบบเรียลไทม์เพื่อควบคุมอุณหภูมิไอน้ำที่ใช้ในรางนึ่งเส้นก๋วยเตี๋ยว อีกทั้งยังได้มอบเกียรติบัตรให้แก่ 20 ทีมที่เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว ทั้งนี้ เชื่อมั่นได้ว่าเทคโนโลยีการผลิตและแปรรูปจะช่วยยกระดับรายได้ของธุรกิจเกษตรต่อยอดสู่การเป็นเกษตรอุตสาหกรรม อันเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยคาดว่าในปี 2567 จะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 100 ล้านบาท
นอกจากนี้ ดีพร้อม ยังมีการให้คำปรึกษาและแนะนำเพื่อให้การพัฒนาปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของผู้ใช้งาน การฝึกอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับเครื่องจักรและการใช้งานให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งเกิดประโยชน์และมีความเหมาะสมในด้านต่าง ๆ อาทิ ตอบโจทย์กำลังการผลิต มีความคุ้มค่ากับระดับการผลิตของวิสาหกิจ สามารถควบคุมคุณภาพได้อย่างสม่ำเสมอ ลดขั้นตอนการทำงานและแรงงาน ใช้งานง่ายสะดวก ดูแลและบำรุงรักษาง่าย ซึ่งส่งผลให้ธุรกิจมีของเสียลดลง ต้นทุนลดลง และยอดขายเพิ่มขึ้น ตลอดจนการเผยแพร่องค์ความรู้ที่ได้จากการดำเนินกิจกรรมให้สามารถนำไปเป็นแบบอย่างที่ดีสำหรับธุรกิจเกษตรในท้องถิ่นต่าง ๆ ที่คล้ายคลึงกัน ผ่าน Facebook : DIPROMAgro-MachineryContest2024 เพื่อให้สามารถเรียนรู้กระบวนการผลิตและเทคนิคการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อโอกาสในการพัฒนาต่อยอด และขยายผลแบบอย่างเพื่อพัฒนาสู่ธุรกิจที่เติบโตยั่งยืนยิ่งขึ้น นายภาสกร กล่าวทิ้งท้าย
สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารรายละเอียดกิจกรรม ได้ที่ Facebook : DIPROMAgro-MachineryContest2024 หรือ www.diprom.go.th หรือ www.facebook.com/dipromindustry หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักเลขานุการกรม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โทรศัพท์ 0 2430 6865 - 66
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit