เปิดคัมภีร์ดูแล "สัตว์เลี้ยงสูงวัย" สุขภาพดีอย่างมืออาชีพ ต้อนรับมหกรรมใหญ่ Pet Expo Championship 2024

06 Aug 2024

ปัจจุบันการเลี้ยงสัตว์ได้เปลี่ยนโฉมหน้าไปจากอดีตค่อนข้างมาก เพราะความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ที่เคยมองสัตว์เลี้ยงเป็นเพียงแค่สัตว์เลี้ยงตัวหนึ่งนั้น ค่อย ๆ เลือนหายไป และถูกแทนที่ด้วยความรู้สึกที่เปรียบเสมือนสัตว์เลี้ยงคือสมาชิกคนหนึ่งของครอบครัว จนกลายเป็นเทรนด์ใหม่ของโลก นั่นคือ เทรนด์การปฏิบัติต่อสัตว์เลี้ยงเสมือนมนุษย์ หรือ Pet Humanization ซึ่งกำลังได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน

เปิดคัมภีร์ดูแล "สัตว์เลี้ยงสูงวัย" สุขภาพดีอย่างมืออาชีพ ต้อนรับมหกรรมใหญ่ Pet Expo Championship 2024

แน่นอนว่าด้วยกระแสของ Pet Humanization ที่มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลล่าสุดของ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ประเมินว่า มูลค่าตลาดสัตว์เลี้ยงไทย ในปี 2567 จะมีมูลค่ากว่า 7.5 หมื่นล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้นถึง 12.4% เมื่อเทียบกับปี 2566 เป็นผลมาจากรูปแบบการเลี้ยงสัตว์แบบ Pet Humanization มีแนวโน้มสูงขึ้น โดย ttb analytics ได้ประเมินค่าใช้จ่ายในการดูแลสัตว์เลี้ยงเสมือนสมาชิกในครอบครัว ส่งผลให้เจ้าของจะมีภาระค่าใช้จ่ายเฉลี่ยถึง 41,100 บาทต่อตัวต่อปี สูงกว่าการเลี้ยงดูแบบปล่อยอิสระที่จะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 7,745 บาทต่อตัวต่อปี

ด้วยความสำคัญของการสัตว์เลี้ยงผ่านความรู้สึกผูกพันเสมือนคนในครอบครัว การดูแลเอาใจใส่จึงต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ โดยเฉพาะเมื่อเพื่อนรักตัวน้อยของเรากำลังเข้าสู่วัยชรา ร่างกายและระบบภูมิคุ้มกันเริ่มอ่อนแอลง ดังนั้นการดูแลที่เหมาะสมจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม และจำเป็นต้องดูแลสัตว์เลี้ยงอย่างถูกวิธี เพื่อให้สัตว์เลี้ยงของเรามีความสุข มีสุขภาพที่ดี และอยู่เป็นเพื่อนกับผู้เลี้ยงได้นานที่สุด

โดยอายุเฉลี่ยของสัตว์เลี้ยงนั้น ปกติแล้วอายุของสัตว์เลี้ยงประเภทต่าง ๆ จะมีความแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ ขนาดร่างกาย และสภาพแวดล้อมที่อาศัยอยู่ โดยสุนัขนั้นจะมีช่วงอายุเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 10-15 ปี แต่บางสายพันธุ์สามารถมีอายุนานถึง 15-20 ปีก็ได้ และสุนัขขนาดใหญ่มักจะมีอายุสั้นกว่าสุนัขขนาดเล็กโดยทั่วไป ขณะที่แมวมักจะมีอายุประมาณ 15-20 ปี โดยมีบางบุคคลรายงานว่าแมวสายพันธุ์บางอย่างอาจมีอายุยืนยาวกว่านั้น ส่วนกระต่ายมักมีอายุประมาณ 8-12 ปี แต่กระต่ายที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีและได้รับการดูแลอย่างดีอาจมีอายุยืนยาวกว่านี้ได้

อย่างไรก็ดีในส่วนของข้อแนะนำในการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงสูงวัยนั้น ผู้เลี้ยงควรหมั่นสังเกตอาการผิดปกติ เพราะสัตว์สูงวัยอาจมีอาการเจ็บป่วยได้ง่าย และควรสังเกตอาการผิดปกติ เช่น กินอาหารน้อยลง น้ำหนักลด ขนร่วง เคลื่อนไหวช้าลง หรือมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลง และควรการพาสัตว์เลี้ยงไปพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพเป็นประจำ อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง จะช่วยให้สามารถตรวจพบโรคได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรกและรักษาได้ทันท่วงที

ขณะเดียวกันการปรับเปลี่ยนอาหารก็มีส่วนสำคัญ โดยอาหารสำหรับสัตว์สูงวัยควรมีคุณค่าทางอาหารสูง ง่ายต่อการย่อย อีกทั้งควรปรับปริมาณอาหารควบคู่กับการออกกำลังกายให้เหมาะสมกับอายุ และสุขภาพของสัตว์ ควบคู่ไปกับการสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย เช่น ควรจัดเตรียมที่นอนนุ่มๆ ให้สัตว์เลี้ยงได้พักผ่อน และจัดเตรียมพื้นที่ให้เดินเล่นได้อย่างสะดวกสบาย แต่ที่สำคัญมากที่สุดนั่นคือ การให้ความรักและความอบอุ่นแก่สัตว์สูงวัยจะช่วยให้เขารู้สึกปลอดภัยและมีความสุขด้วย

ส่วนข้อควรระวังในการเลี้ยงสัตว์เลี้ยงสูงวัย ผู้เลี้ยงควรเฝ้าระวังการบาดเจ็บจากการลื่นล้มหรือกระแทก หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมอย่างกะทันหัน ระมัดระวังในการให้ยาใหม่หรือการรักษาใหม่ๆ รวมถึงให้ความสำคัญกับการควบคุมน้ำหนัก เนื่องจากสัตว์สูงวัยมักเคลื่อนไหวน้อยลง และระวังภาวะซึมเศร้าในสัตว์เลี้ยงสูงวัย รวมทั้งสังเกตอาการของโรคเรื้อรังที่พบบ่อยในสัตว์สูงวัย เช่น โรคข้อเสื่อม โรคหัวใจ หรือโรคไต

เมื่อสัตว์เลี้ยงสูงวัยมากขึ้น อวัยวะต่างๆ เริ่มเสื่อมถอย และทำให้เกิดโรคต่างๆ ตามมาได้ง่าย โดยมีตัวอย่างของ 5 โรคหลักที่มักเจอได้บ่อยสำหรับสัตว์เลี้ยงสูงวัย นั่นคือ

1.โรคหัวใจและหลอดเลือด โดยมีอาการที่พบได้ เช่น หอบ เหนื่อยง่าย ไม่สามารถออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมหนักๆ ได้ อาจจะเป็นลม ร่วมกับบางตัวแสดงอาการไอ โดยควรทำการตรวจวัดความดันร่างกายเป็นประจำอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง

  1. โรคไตวายเรื้อรังมักพบในสัตว์สูงวัย โดยอาการทางคลินิกของไตวายเรื้อรังที่เจอได้บ่อย คือ กระหายน้ำมากขึ้น และปัสสาวะบ่อยขึ้น แนะนำให้ทำการตรวจเลือด Complete blood count (CBC) และตรวจปัสสาวะทุกๆ 6-12 เดือน ในสุนัขและแมวสูงวัย
  2. โรคข้ออักเสบ โดยอาการต่างๆ ที่พบได้แก่ เดินกะเผลก ไม่ชอบขึ้นบันได ยืนหรือเดินลำบาก แสดงความเจ็บปวดเมื่ออุ้มขึ้นมา แสดงอาการเลียบริเวณข้อที่ปวดบ่อย หรือบางตัวเริ่มแสดงอาการหงุดหงิดง่าย ปัจจุบันแม้ว่าจะไม่มีวิธีรักษาโรคข้ออักเสบ แต่การให้ยาตามดุลยพินิจของสัตวแพทย์หรือการดูแลด้านโภชนาการที่เหมาะสมก็สามารถลดอาการปวดและชะลอการลุกลามได้
  3. โรคทางทันตกรรม โดยอาจสังเกตเห็นว่าสัตว์เลี้ยงน้ำลายไหลมากเกินไป เริ่มมีกลิ่นปาก เหงือกอักเสบ หรือฟันโยกหรือฟันหลุด โรคฟันสามารถนำไปสู่ภาวะเบื่ออาหาร ไม่อยากกินอาหาร น้ำหนักตัวลดลง เกิดการติดเชื้อในระบบร่างกาย ก่อให้เกิดโรคหัวใจ หรือโรคไตได้ในที่สุด ดังนั้นจึงควรพาพวกเค้าไปตรวจสุขภาพช่องปากกับสัตวแพทย์เป็นประจำ
  4. โรคต้อกระจก เมื่อเลนส์ตาขุ่นมัว เกิดฝ้าขาวๆ ที่เลนส์ตา ทำให้สูญเสียการมองเห็นในที่สุด อาการที่พบ เช่น เดินชนสิ่งของ หรือเดินแล้วชะงักโดยที่ไม่ทราบสาเหตุ เห่าสิ่งของในระยะที่ไม่เคยรู้สึกรำคาญมาก่อน ซึ่งการรักษาโรคต้อกระจกสามารถทำให้สัตว์เลี้ยงของคุณกลับมามองเห็นได้อีกครั้ง ซึ่งการรักษาสามารถทำได้โดยการผ่าตัดแก้ไข แต่ต้องได้รับการประเมินและวินิจฉัยทางสัตวแพทย์เฉพาะทางด้านโรคตาก่อน

สำหรับผู้ที่ต้องการรับทราบข้อมูลการดูแลสัตว์เลี้ยงสูงวัยมากกว่านี้ สามารถรับฟังข้อมูล และการให้คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพสัตว์เลี้ยง และชมนวัตกรรมการดูแลสัตว์เลี้ยงอีกมากมายได้ภายในงาน Pet Expo Championship 2024 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15 - 18 สิงหาคม 2567 นี้ เริ่มตั้งแต่ 10.00 - 20.00 น. บริเวณฮอลล์ 6 - 8 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สามารถติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.petexpothailand.com เฟซบุ๊ก Petexpoclub, Twitter: @PetexpoclubTH1 หรือแอดไลน์ @petexpoclub