"น้ำพริกสัญจร" สู่ภาคเหนือ สะท้อนความหลากหลายของน้ำพริกผ่านทรัพยากร ความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ พร้อมแลกเปลี่ยนทิศทางอนาคตน้ำพริก มุ่งต่อยอดสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์
องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ ไทยพีบีเอส โดยศูนย์สื่อศิลปวัฒนธรรม ส่งน้ำพริก สัญจรทั่วไทย เปิดโลกความหลากหลาย โชว์ภูมิปัญญาแม่ครัวน้ำพริกท้องถิ่น ร่วมแลกเปลี่ยน เรียนรู้ กิจกรรมสัญจร เวทีเสวนา "น้ำพริก" โภชนวัฒนธรรมแห่งยุค ครั้งที่สองในภาคเหนือ กับหัวข้อ "น้ำพริกบ้านเฮา เลือกเอาเต๊อะนาย" โดยมี รศ. ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการ ส.ส.ท. เป็นประธานเปิดงาน เมื่อวันเสาร์ที่ 3 สิงหาคม 2567 ณ โอลด์ เชียงใหม่ (ศูนย์วัฒนธรรมฯ) จ.เชียงใหม่
"ในนามของไทยพีบีเอส รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้จัดกิจกรรมน้ำพริกสัญจรมาที่ภาคเหนือ ถือว่าเป็นครั้งที่ 2 แล้ว ของโครงการน้ำพริกสัญจร ซึ่งทางศูนย์สื่อศิลปวัฒนธรรมจับมือกับสำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ เพื่อทำให้เรื่องของน้ำพริกมีกิจกรรมที่ลงไปสัมผัสกับผู้คนจริงๆ เข้าถึงน้ำพริกที่เป็นของพื้นบ้าน ทั้งหมดนี้จึงเกิดเป็นกิจกรรมน้ำพริกสัญจรขึ้น เพื่อที่จะนำไปสู่ รายการเรียลิตี้ "ยกพลคนน้ำพริก" ที่เป็นโครงการใหญ่ของไทยพีบีเอสในปีหน้า ที่หยิบยกเรื่องน้ำพริก ที่เป็นอาหารที่อยู่ในชีวิตของผู้คนทุกภูมิภาค ทำให้เห็นวิถีชีวิตของผู้คน ประวัติศาสตร์ ไปจนถึงเศรษฐกิจ ซึ่งจะสะท้อนถึงมุมต่าง ๆ ของ "น้ำพริก" ที่เป็นทุนทางวัฒนธรรม และสามารถนำไปเป็นทุนของประเทศที่มีความยั่งยืน และต่อยอดสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ต่อไป " รศ. ดร.วิลาสินี กล่าว
ในงาน "น้ำพริกสัญจร" ทีจังหวัดเชียงใหม่ มีการจัดเวทีเสวนาที่น่าสนใจ ถึง 2 หัวข้อ ได้แก่ "น้ำพริกบ้านเฮา เลือกเอาเต๊อะนาย" ที่ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองต่อน้ำพริกแบบคนเหนือบ้านเฮา โดยผู้รู้ด้านวัฒนธรรมอาหารเหนือ ได้แก่ รศ.ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง นักรัฐศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญวัฒนธรรมอาหารเหนือ, คุณสนั่น ธรรมธิ ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมล้านนา, คุณนันทกานต์ เกษร เครือข่ายเกษตรอินทรีย์สันทราย จ.เชียงใหม่, คุณสมฤทธิ์ ลือชัย นักวิชาการด้านอุษาคเนย์ ซึ่งเป็นผู้ดำเนินรายการเสวนาในครั้งนี้
โดย คุณนันทกานต์ ได้แสดงมุมมองถึงน้ำพริกที่มีการปรับตัวว่า "เดี๋ยวนี้ผู้บริโภคน้ำพริก ไม่ใช่แค่คนไทย คนเก่าคนแก่ แต่ชาวต่างชาติ คนรุ่นใหม่ก็กิน จะชอบน้ำพริกรสกลางๆ ไม่เผ็ดมาก ใส่แค่พริกกับเกลือ เป็นเรื่องความถูกจริต รสมือที่ถูกใจ ส่วนคนรุ่นใหม่ก็กินน้ำพริก แต่รูปแบบแตกต่างจากก่อน ชอบน้ำพริกรสกลางๆ ไม่เผ็ดมากเกิน จะมีแค่พริกเกลือไม่เผ็ดนัก ขึ้นอยู่กับคนชอบ น้ำพริกเองก็ถูกพัฒนารูปแบบให้หลากหลายด้วยเหมือนกัน"
และอีกหนึ่งเวทีเสวนา "แลหน้า น้ำพริก-ของกิ๋นล้านนาสู่สากล" ที่ แลกเปลี่ยนมุมมองต่อน้ำพริกแบบคนเหนือบ้านเฮา นอกจากความหลากหลายของน้ำพริกที่สะท้อนผ่านทรัพยากร ความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ภาคเหนือ อนาคตน้ำพริกจะไปในทิศทางไหนต่อ โดยมีผู้ร่วมวงเสวนา ได้แก่ ดร.ประทีป ปัญญาดี ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤกษศาสตร์, คุณปริญญา เสมอใจ เชฟ-ครูสอนทำอาหารเหนือ, คุณศศิธร คำฤทธิ์ สเตรนส์ นักปฏิบัติการอาหารท้องถิ่น, คุณอนุสรณ์ ติปยานนท์ Food activist นักเขียนผู้สนใจความเคลื่อนไหวและเปลี่ยนแปลงในโลกของอาหาร ดำเนินการเสวนา
"ในสายตาชาวต่างชาติต่างแดน น้ำพริกยังไม่เป็นที่รู้จักมาก แต่ฝรั่งที่มาเมืองไทยที่ไปตามร้านอาหาร ชนบท เขารู้ว่านี่บ่งบอกถึงอาหารไทย ไม่ใช่แค่ผัดไทย แกงเขียวหวาน พะแนง แต่น้ำพริกก็สามารถเป็นอาหารที่ชาวต่างชาติอยากลิ้มลองมากขึ้นได้ อยากให้ร้านอาหารไทยต่างแดน มีเมนูน้ำพริกมากขึ้น และต้องขายน้ำพริกควบคู่ไปกับผักเป็นแพ็กเกจ จะได้สร้างทางเลือก สร้างอาชีพให้ท้องถิ่น ผลักดันผักพื้นบ้านให้เป็นพืชเศรษฐกิจไปพร้อมกับความเป็นท้องถิ่น เพราะไม่ใช่แค่ระบบนิเวศ แต่เป็นเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ ของที่นั่นด้วย" คุณปริญญากล่าว
นอกจากนี้ ในงานยังมีนิทรรศการ ให้ความรู้เกี่ยวกับน้ำพริกภาคเหนือ ทั้งน้ำพริกจากพงไพร, น้ำพริกชาติพันธุ์, น้ำพริกคนเมือง และกิจกรรมต่าง ๆ ที่น่าสนใจ อาทิ "การชิมน้ำพริก" เช่น น้ำพริกจากพงไพร ที่นำวัตถุดิบจากป่า, น้ำพริกชาติพันธุ์ เช่น น้ำพริกน้ำปู๋ จากชุมชนไทลื้อบ้านลวงเหนือ และ น้ำพริกคนเมือง ที่มาทำกันสดๆให้ได้ชิมกับบรรยากาศแบบล้านนา และกิจกรรม ปักหมุด "ถิ่นน้ำพริกไทย กับ C -Site" หมุดหมายที่จะทำให้ได้รู้ว่า น้ำพริกในประเทศไทยมีความหลากหลาย ทั้งรสชาติ วัตถุดิบ ที่สามารถสะท้อนถึงอัตลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ได้อย่างชัดเจน และ ชมการแสดงดนตรีโฟล์คซอง จาก คุณสายกลาง จินดาสุ ศิลปินและนักโบราณคดีชำนาญการ กรมศิลปากร
โดยหลังจากนี้ "น้ำพริกสัญจร" จะสัญจรไปยังปักษ์ใต้บ้านเรา เผ็ดร้อน ถึงเครื่องแกง หรอยแรง ที่สถาบันทักษิณคดีศึกษามหาวิทยาลัยทักษิณ จ.สงขลา กับหัวข้อเสวนา "น้ำชุบ หรอยแรง เครื่องแกงใต้ วันที่ 24 ส.ค. นี้
ไทยพีบีเอส มุ่งตอกย้ำ การผลักดัน Soft Power ด้านอาหาร เรื่องราวจาก "น้ำพริก" ที่มีศักยภาพในฐานะ Thai Soft Power ในรายการเรียลลิตี้ "ยกพลคนน้ำพริก" ซึ่งเป็นรายการที่จะพาผู้ชมไปรู้จัก น้ำพริก ทั่วไทย ปลุกกระแสน้ำพริก ในแนวคิด กิน "น้ำพริก" เห็น "คน" รู้จักชุมชน เข้าใจวิถี ผ่านเวทีประลอง "รสมือ" เพื่อระดมยอดฝีมือด้านน้ำพริก ค้นหา "ดาว" ที่สามารถต่อยอดภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมอาหารไทย เป็นสะพานเชื่อมเศรษฐกิจระหว่างท้องถิ่นสู่สากล
สามารถติดตามกิจกรรม "น้ำพริกสัญจร" และ รายการเรียลลิตี้ "ยกพลคนน้ำพริก" ได้ทางช่องทางออนไลน์ www.thaipbs.or.th, Facebook Fan page : ไทยบันเทิง Thai PBS , Artclub Thai PBS, Localist, The North องศาเหนือ, อยู่ดีมีแฮง, แลต๊ะแลใต้ และ นักข่าวพลเมือง Thai PBS
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit