ผักสลัดเมนูหลักสำหรับคนรักสุขภาพ "สลัด" ที่ปรุงจากผักสลัดชนิดต่างๆมีให้เลือกกันมากมาย ทั้งสลัดใบเขียวอ่อน เขียวเข้ม สีแดงๆ หน่อย ผักสลัดเหล่านี้ บางครั้งก็ไปเป็นเครื่องเคียงในอาหารจานโปรด บางครั้งก็ไปเป็นพระเอกในจานสลัด กับน้ำสลัดที่มีให้เลือกกันมากมายหลายชนิด หลายคนทานแล้วติดอกติดใจ แต่ก็อาจไม่รู้ว่า ผักสลัดแต่ละชนิดนี่เค้ามีชื่อเรียกว่าอะไร แล้วมีประโยชน์อย่างไรกันบ้าง วันนี้ไลฟ์เซ็นเตอร์บล็อกมีข้อมูลความรู้ดีๆ เกี่ยวกับผักสลัดชนิดต่างๆ มาฝากกันค่ะ
กรีนโอ๊ค (Green Oak)ผักชนิดนี้จะเป็นรูปทรงพุ่มๆ ใบหยัก มีสีเขียว ใบจะนิ่มๆ อ่อนๆ ฟูๆ จับแล้วจะนุ่มมือ คล้ายๆ กับผักกาดหอมบ้านเรา เดิมกรีนโอ๊คเป็นผักที่ปลูกในต่างประเทศ ต่อมา มีการนำเข้าเมล็ดพันธุ์จากประเทศฮอลแลนด์ เข้ามาในประเทศไทย จนทุกวันนี้มีการปลูกกันอย่างแพร่หลายจนเป็นหนึ่งในผักยอดนิยมของคนรักผัก ก็เพราะความนุ่มของใบที่ทำให้ซึมซับน้ำสลัดได้ง่าย เมื่อเอามาปรุงจึงได้รสชาติที่อร่อย รับประทานได้ง่าย
ประโยชน์เด่นๆ ของกรีนโอ๊ค คือ การช่วยในเรื่องของการสร้างเม็ดเลือด บำรุงสายตา อุดมไปด้วยวิตามิน และเอนไซม์ที่มีประโยชน์ เราสามารถนำกรีนโอ๊คไปทานคู่กับเมนูที่หลากหลาย อย่างเช่น นำไปทำเป็นซุชิ พล่า ก็ได้ค่ะ
เรดโอ๊ค (Red Oak)ชื่อคล้ายๆ กับกรีนโอ๊ค นั่นเป็นเพราะรูปทรงที่คล้ายๆ กัน จะแตกต่างกันก็ที่สีสันของผักทั้งสองชนิด เรดโอ๊คจะมีสีแดงเข้มบริเวณขอบใบ และกลางใบจะมีสีเขียวเข้ม ใบหยักนุ่ม และเป็นพุ่มฟู เนื้อค่อนข้างนุ่มเช่นกัน จึงเหมาะกับการรับประทานสดๆ
ประโยชน์ของเรดโอ๊ค : เนื่องจากมีกากใยที่สูง จึงช่วยล้างผนังลำไส้ให้สะอาด ช่วยกำจัดไขมัน ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งลำไส้ นอกจากนั้นยังอุดมไปด้วยวิตามิน ช่วยป้องกันการเกิดโรคปากนกกระจอก สำหรับการนำไปปรุงอาหารนั้น ด้วยความที่เรดโอ๊คมีลักษณะใบที่อ่อนนุ่ม จึงเหมาะกับการทานสดๆ คู่กับน้ำพริก สลัด หรือเมนูยำง่ายๆ ที่ไม่ผ่านความร้อนสูง เพื่อรักษาคุณค่าที่ดีจากธรรมชาติเอาไว้
เรดคอรัล (Red coral)หลายๆ คนแทบจะแยกไม่ออกระหว่าง เรดโอ๊ค กับ เรดคอรัล เพราะสีแดงๆ ที่สดใสไม่ต่างกันเท่าไรนัก แต่ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นว่าเจ้าเรดคอรัลนี้จะมีลักษณะใบที่หยัก และฟูมากกว่าเรดโอ๊ค มองไปมองมาก็คล้ายๆ กับปะการัง สมกับชื่อของเขาเลยล่ะ รสชาติของเรดคอรัลนั้นจะออกหวานนิดๆ กรอบหน่อยๆ ต่างจากเรดโอ๊คที่จะมีรสขมนิดหน่อย เรดคอรัลจึงทานง่ายกว่า โดยเฉพาะกับเด็กๆ ค่ะ
ประโยชน์ของเรดคอรัล : มีปริมาณกากใยอาหารที่สูง จึงช่วยในเรื่องของการขับถ่ายของเสีย ทั้งช่วยล้างผนังลำไส้ กำจัดไขมัน ต้านอนุมูลิสระ ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งลำไส้ ทั้งยังให้วิตามินซีสูง ช่วยป้องกันอาหารหวัด นอกจากนั้น สารอาหารที่มีประโยชน์มากมายของเรดคอรัล ยังช่วยป้องกันโรคโลหิตจางอีกด้วยเรดคอรัลเหมาะกับการนำไปทำเป็นเป็นสีสันให้จานสลัดดูน่าทานขึ้นจากสีแดงๆ สดใส นอกจากนั้นยังสามารถนำไปทำยำ หรือเป็นผักเครื่องเคียงกับเมนูต่างๆ ได้ตามใจชอบ
บัตเตอร์เฮด (Butter head)ผักที่มีรอยหยักสวยๆ เหมือนกับกลีบของดอกไม้สีเขียวที่เบ่งบาน ถ้าใครได้ลองปลูกบัตเตอร์เฮดไว้ที่บ้านอาจจะไม่อยากตัดมารับประทานกันสักเท่าไร ก็เพราะเสียดายในความสวยนี่ล่ะค่ะ บัตเตอร์เฮดมีใบมน เนื้อนุ่ม ตรงกลางอัดแน่นเนื่องจากเป็นใจผัก รสชาติออกหวาน กรอบ ไม่ขม
ประโยชน์ของบัตเตอร์เฮด: ช่วยบำรุงสายตา บำรุงเส้นผม บำรุงระบบประสาท บำรุงกล้ามเนื้อ บำรุงผิว ช่วยลดครอเลสเตอรอล นำไปปรุงอาหารได้หลากหลายเมนู อย่างเช่น นำไปทำแกงจืดบัตเตอร์เฮด หรือใช้ใบที่หนาสักนิดนำไปห่อเมี่ยงคำ นำไปลงกระทะผัดร้อนๆ หรือจะใส่ในแกงส้ม ต้มยำก็อร่อยค่ะ
คอส (Cos)หลายๆ คนติดใจผักชนิดนี้ คงเพราะชื่อจำง่าย หน้าตาก็แปลกแยกไม่เหมือนผักสลัดชนิดอื่นมากนัก โดยเฉพาะถ้าใครชอบทานซีซาร์สลัดก็คงจะรักผักคอสไปโดยปริยาย กับความกรอบอร่อย ที่ยิ่งทานก็ยิ่งติดใจล่ะค่ะ คอสมีใบที่เรียวยาว สีเขียวเข้ม ทรงสูง ด้วยความที่เป็นผักเนื้อกรอบ รสชาติออกหวานหน่อยๆ และไม่มีกลิ่นรบกวนสำหรับผู้ที่ไม่ชอบกลิ่นเหม็นเขียวของผัก คอสจึงเข้ามาครองใจคนรักสุขภาพได้ง่ายๆ
ประโยชน์ของคอส: ผักชนิดนี้มีมากมายเลยค่ะ ไม่ว่าจะเป็นวิตามิน และธาตุเหล็กที่มีอยู่สูง ช่วยเพิ่มประมาณเม็ดเลือดแดงในร่างกาย เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นโรคโลหิตจาง และคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ นอกจากนั้น คอส ยังมีปริมาณคาร์โบไฮเดรตน้อย เหมาะกับผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน มีกากใยสูงช่วยในเรื่องของระบบขับถ่าย และการขับของเสียออกจากลำไส้ อีกด้วยค่ะ
รู้จักผักสลัดชนิดต่างๆ กันมาพอสมควรแล้ว ถ้าใครยังนึกไม่ออกว่าจะหยิบเจ้าผักสลัดชนิดต่างๆ ไปปรุงเป็นเมนูอะไรดี แนะนำว่าให้ลองหยิบจานสลัดใบใหญ่มาซักใบ ล้างผักให้สะอาด จัดวางผักสดๆ ใส่จาน โรยหน้าด้วยน้ำสลัดที่ถูกใจ ทานคู่กับน้ำผลไม้เย็นๆ ซักแก้ว ง่ายๆ เพียงแค่นี้ ก็ทั้งอร่อย ทั้งได้ประโยชน์กันแล้วล่ะค่ะ
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit