วันที่ 20 มิถุนายน 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข เปิดเวทีประลองฝีมือ "เยาวชนดนตรีชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี" โดยมี นายทวี เวริมภักดีกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสรรค์ เป็นประธานในการเปิดการแข่งขัน และ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวเป้าหมายการจัดงานในครั้งนี้ และมีนายจิตตเกษมณ์ นิโรจน์ธนรัฐ นายกเทศมนตรีนครสวรรค์ กล่าวต้อนรับ ทั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก นายภิญโญ นิโรจร์ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และผู้บริหารจังหวัดนครสวรรค์ ร่วมชมการประกวด ในการแข่งขันเยาวชนดนตรี รอบสุดท้าย อำนวยการแสดงโดย รองศาสตราจารย์ ดร.สุกรี เจริญสุข ประธานมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข ณ พาสาน อาคารสัญลักษณ์ต้นน้ำเจ้าพระยา จังหวัดนครสวรรค์
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ร่วมกับ มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข และสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เล็งเห็นความสำคัญของพลังเยาวชนและพลังของเสียงดนตรี ในการเสริมสร้างสมรรถนะให้แก่เยาวชน วช. จึงให้การสนับสนุนการดำเนินการ"โครงการจัดการประลองวงเยาวชนดนตรี ระดับอุดมศึกษา ชิงถ้วยพระราชทาน" เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนได้แสดงความสามารถและเชื่อมโยงกับนักดนตรีมืออาชีพ โดยเน้นการพัฒนาศักยภาพและการแก้ไขปัญหาในสถานการณ์ต่าง ๆ รวมถึงการมุ่งเน้นการสร้างสรรค์และเปิดพื้นที่ให้เยาวชนได้มีโอกาสแสดงศักยภาพของตน นอกเหนือจากการประลองรอบชิงชนะเลิศในวันนี้ ยังมีการบรรเลงเพลงของวงไทยซิมโฟนีออเคสตร้าที่เป็นผลงานจากการวิจัย มาเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมดนตรีของชาติให้ประชาชนได้รับรู้ ผ่านการบอกเล่าวิถีความเป็นอยู่ของชุมชนผ่านเสียงดนตรีที่มีความสำคัญในชุมชนและสังคม
รองศาสตราจารย์ ดร.สุกรี เจริญสุข ประธานมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข กล่าวว่า โครงการ "วัฒนธรรมดนตรีเพื่อพลังสร้างสรรค์เศรษฐกิจใหม่โดยวงไทยชิมโฟนีออร์เคสตรา" เปิดรับสมัครเยาวชนไทยที่มีความสามารถด้านดนตรี ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายถึงระดับอุดมศึกษา อายุระหว่าง 15-25 ปี เข้าร่วมการแข่งขันในรูปแบบวง วงละ 2-5 คน ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยแบ่งการแข่งขันออกเป็น 2 รอบ รอบแรก คัดเลือกจากวงต่างๆ ที่มีการสมัครมาจากทั่วประเทศ ให้เหลือ 11 วง และรอบที่ 2 คัดเลือกเหลือ 6 วง เข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ โดยวงที่เข้ารอบชิงชนะเลิศทั้ง 6 วง ได้นำเสนอผลงานเพลงที่เรียบเรียงใหม่ โดย ดร.ธีรนัย จิระสิริกุล และร่วมบรรเลงกับวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตรา ด้วย
สำหรับผลการแข่งขันเยาวชนดนตรีประลองฝีมือในครั้งนี้ -ทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ วงพิชชโลห์ จากวิทยาลัยการดนตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา จะได้รับถ้วยรางวัลพระราชทาน จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมเงินรางวัล จำนวน 100,000 บาท -ทีมที่ได้รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 ได้แก่ วง Chicken Wind Quintet จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จะได้รับถ้วยรางวัลพร้อมเงินรางวัล จำนวน 50,000 บาท -ทีมที่ได้รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 ได้แก่ วงอุดรถิ่นอีสาน จาก มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี จะได้รับถ้วยรางวัลพร้อมเงินรางวัลจำนวน 30,000 บาท -ทีมที่ได้รับรางวัล รางวัลชมเชย จำนวน 3 รางวัล ได้แก่ 1)วงบ้านแขก จาก วิทยาลัยการดนตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จ เจ้าพระยา 2)วงลวนรินทร์ จาก มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี จังหวัดลพบุรี และ 3)วงศิลป์บรรลือ จาก จังหวัดเลย โดยได้รับถ้วยรางวัล พร้อมเงินรางวัล จำนวน 20,000 บาท และ-รางวัลขวัญใจมิตรรักแฟนเพลง ได้แก่ วงลวนรินทร์ จาก มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี จังหวัดลพบุรี
ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมการแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศในครั้งนี้ จะได้ร่วมแสดงในงาน "อว. FAIR 2024" ในเดือนกรกฎาคม 2567 โครงการนี้ ถือเป็นการสร้างโอกาสให้เยาวชน ได้แสดงฝีมือบนเวทีระดับประเทศ หล่อหลอมให้เป็นนักดนตรีที่มีคุณภาพ และนำดนตรีไทยไปสู่เวทีโลก