ยังคงเนื้อหอมต่อเนื่องตรึงใจนักท่องเที่ยวนานาชาติ เมื่อกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาของไทยเปิดสถิตินักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเยือนบ้านเราในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ ตั้งแต่ 1 มกราคม - 31 พฤษภาคม 2567 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติสะสม 14,760,911 ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้น 38% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว สร้างรายได้ตลาดต่างประเทศสะสม 701,429 ล้านบาท
และในช่วงที่เหลือของปี 2567 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยว 20.3 ล้านคน มัดรวมจำนวนนักท่องเที่ยวตลอดทั้งปีคาดว่ามีจำนวน 35 ล้านคน
วาร์ปไปอีกเรื่องราวดี ๆ วันนี้ยังไม่หมดง่าย ๆ เมื่อ ประเทศไทย สามารถครองอันดับ 1 จากการจัดอันดับ 10 ประเทศที่เป็นมิตรกับชาวต่างชาติในการมาอยู่อาศัย จากการจัดอันดับของ AbroadHub
เหตุผลก็คือ ประเทศไทย มีความร่ำรวยและมีจุดเด่นสำคัญทั้งในแง่ของวัฒนธรรม อาหารการกิน ผู้คนที่มีความเป็นมิตรค่าครองชีพที่ต่ำ และสถานที่ท่องเที่ยวหลากหลาย ทั้งภูเขา ทะเล น้ำตก รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ เช่น วัดวาอารามที่สวยงามอีกด้วย
นับเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดสำหรับชาวต่างชาติที่อยากย้ายมาอาศัยในประเทศที่มีค่าครองชีพที่ประหยัด ไม่ต้องปรับตัวกับสภาพแวดล้อมใหม่มากนัก เพราะสะดวกสบายในการใช้ชีวิต
สมเป็นสยามเมืองยิ้ม เอิบอิ่มหัวใจแบบฉ่ำ ๆ
แหล่งท่องเที่ยวบ้านเรา ไม่ใช่แค่แม่เหล็กดึงดูดการพักผ่อนหย่อนใจเท่านั้น หลายๆ แห่งยังมีศักยภาพเหมาะเป็นแหล่งเรียนรู้ที่บูรณาการหลากหลายวิชา เพิ่มพูนทักษะประสบการณ์อีกด้วย
วันนี้เรามีแหล่งเรียนรู้ดี ๆ จากคลังสื่อการสอน Myipst เนื้อหาสอดคล้องกับหนังสือเรียนชีววิทยาเพิ่มเติมเล่ม 6 ของ สสวท. ชวนกันไปเก็บเกี่ยวความรู้ด้วยกันกับวีดิทัศน์สื่อการเรียนรู้ "การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ : การอนุรักษ์และรักษาสิ่งแวดล้อม" https://myipst.ipst.ac.th/medias/26-9018
เสริมความเข้าใจในความสำคัญของ "ระบบนิเวศ" ซึ่งเป็นระบบที่กลุ่มสิ่งมีชีวิตอาศัยในแหล่งที่อยู่เดียวกันมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน และมีความสัมพันธ์กับแหล่งที่อยู่นั้นด้วย
พาชั้นเรียนไปจับตาตัวอย่างการอนุรักษ์และรักษาสิ่งแวดล้อมของสองตัวอย่างน่าชื่นชม
ที่คุ้งบางกะเจ้า จังหวัดสมุทรปราการ แหล่งเรียนรู้ชีววิทยาที่มีดีมากกว่าแค่ปักหมุดเช็คอิน
ตัวอย่างแรกคือ "กลุ่มอนุรักษ์ลำพูบางกระสอบ" ที่คุ้งบางกระเจ้า ซึ่งอนุรักษ์ต้นลำพูให้เป็นที่อยู่อาศัยของหิ่งห้อย และพันธ์ไม้ชายเลนอื่น ๆ
เมื่อมนุษย์ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมทั้ง ดิน น้ำ อากาศ ให้สมบูรณ์เหมาะกับการดำรงชีวิตของหิ่งห้อย สัตว์น้ำและพืชพันธ์นานาชนิดที่ล้วนเกื้อกูลต่อกันอย่างพอเหมาะ มนุษย์ และ ธรรมชาติ ก็สามารถอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน กลายเป็นเสน่ห์ดึงดูดความสนใจทั้งด้านการท่องเที่ยวและการเรียนรู้ สร้างคุณค่าให้แก่ชุมชน
หลาย ๆ คนที่เคยซาบซึ้งกับแสงวิบวับของหิ่งห้อย ต้นลำพูชายน้ำ เสียงระริกไหลของสายธาร และความรักโรแมนติกจากวรรณกรรมสุดคลาสสิก คงอดหลับตาจินตนาการต่อไม่ได้เลย
จากนั้นไปซึมซับความเข้าใจกับ ตัวอย่างที่สองคือ วัดจากแดง ที่คุ้งบางกะเจ้า ซึ่งมีแนวทางจัดการขยะโดยใช้หลักอิทธิบาท 4 อันเป็นธรรมสู่ความสำเร็จ เป็นประทีปนำปัญญา
ภายใต้การลงมือปฏิบัติเชื่อมโยงกับความรู้ วิทยาศาสตร์ สามารถนำสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มได้
ประจักษ์กับแนวทางจัดการขยะจำนวนมาก การคัดแยกขยะผ่านการจัดการด้วยความรู้ นำสู่การแก้ปัญหา สร้างสรรค์ผลผลิตใหม่ ๆ ตอบโจทย์การดำเนินชีวิต เช่น แปรรูปขวดพลาสติกเป็นเส้นใยทอจีวร นำขยะพลาสติกไปทำหลังคาหรือแผ่นอิฐ ตลอดจนเครื่องใช้ต่าง ๆ ภายใต้ความร่วมมือร่วมใจของชุมชนเพราะมองเห็นประโยชน์ที่คืนคุณค่าสู่ท้องถิ่นนั่นเอง
สัมผัสกับคุณค่าของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การอนุรักษ์และรักษาสิ่งแวดล้อม กับสื่อการเรียนรู้คู่ชั้นเรียนที่เติมเต็มความเข้าใจได้ที่ https://myipst.ipst.ac.th/medias/26-9018