ดร.อุเทน คำน่าน รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ล้านนา เปิดเผยว่า นโยบายของรัฐบาลกำหนดให้มีการปฏิรูปและพลิกโฉมประเทศ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม ได้แบ่งกลุ่มมหาวิทยาลัยออกเป็น 5 กลุ่ม ซึ่งในส่วนของ 9 มทร. อยู่ในกลุ่มที่ 2 กลุ่มพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม ซึ่งในส่วนของ 9 มทร. ได้มีการดำเนินงานร่วมมกันภายใต้สมุดปกขาว หรือยุทธศาสตร์ 9 มทร. ที่สำคัญ เช่น ยุทธศาสตร์แรก การพลิกโฉมระบบนิเวศ การผลิตกำลังคนทักษะชั้นสูง การสร้างนวัตกรมืออาชีพ ยุทธศาสตร์ที่สอง การเปลี่ยนผ่านภาคการเกษตร ภาคการผลิต และภาคการบริการไปสู่ภาคการเกษตรที่มีมูลค่าสูง ยุทธศาสตร์ที่สาม การผนึกพลังของชุมชนในพื้นที่ของ 9 มทร.ที่มีอยู่ 36 แคมปัส 23 จังหวัด เพื่อทำให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง ดังนั้นการจะทำให้ชุมชนชุมชนเกิดความเข้มแข็งได้นั้นทั้ง 9 มทร.จึงต้องร่วมมือกัน
รักษาการอธิการบดี มทร.ล้านนา กล่าวอีกว่า ในส่วนของ มทร.ล้านนา มีแผนความเป็นเลิศที่เราจะดำเนินการ โดยเน้นในเรื่อง "ครีเอทีฟล้านนา" ซึ่งเรื่องนี้จะไปสัมพันธ์กับสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่ได้มีการแบ่งพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งภาคเหนือ Northern Economic Corridor: NEC - Creative LANNA ถูกกำหนดไว้ 4 จังหวัด คือ เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง และลำพูน ดังนั้นหากพูดถึงเรื่องนโยบายสำคัญ ๆ ในระดับประเทศ เรามีความชัดเจนว่าเราจึงมุ่งเน้นไปที่เรื่อง มทร.ล้านนาสร้างสรรค์ ขณะเดียวกันเรามีความเชื่อว่า กำลังคนที่มีคุณภาพและศักยภาพ จะเป็นกำลังสำคัญในการเปลี่ยนแปลงประเทศได้ ดังนั้น มทร.ล้านนา จึงจะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนากำลังคนเฉพาะทาง ตามความต้องการของประเทศ มีการผลักดัน "ครีเอทีฟล้านนา" เข้าไปส่งเสริมเศรษฐกิจในพื้นที่ให้เจริญเติบโตได้ด้วยอาชีพและการค้าใหม่ๆ ทั้งการปลุกปั้นสตาร์ทอัพ และบริษัทใหม่ๆ ที่เกิดจากนักศึกษาของเราเอง หรือการที่มหาวิทยาลัยเข้าไปช่วยสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงก็ได้ ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นการเชื่อมต่อนโยบายของ ดร.จัตตุฤทธิ์ ทองปรอน อดีตรักษาการอธิการบดี มทร.ล้านนา ที่ได้ทำเอาไว้แล้วด้วย
ดร.อุเทน กล่าวต่อไปว่า มทร.ล้าน เราต้องการบ่มเพาะนักศึกษา กลุ่มกำลังคนที่อยู่นอกภาคการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรซึ่งอยู่ในภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตร ภาคการบริการ หรือแม้แต่กลุ่มเด็กที่มีความเปราะบางในสังคมในทุกระดับ ดังนั้นจึงต้องมีการเตรียมความพร้อมการบริหารจัดการมหาวิทยาลัย ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน กำลังคน อาจารย์ ทั้งสายสนับสนุน และสายวิชาการ ขณะเดียวกันต้องจัดเตรียมหลักสูตรที่พร้อม โดย มทร.ล้านนา ได้ร่วมกับสภาวิชาชีพต่างๆจัดทำขึ้น เช่น คณะวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมกับสภาวิชาชีพวิศวกร เป็นต้น เพื่อกำหนดไว้ชัดเจนว่าวิชาเลือกต้องเรียนอะไร วิชาบังคับต้องเรียนอะไรบ้าง เพื่อให้หลักสูตรมีคุณภาพ และเป็นไปตามความต้องการของสถานประกอบการอย่างแท้จริง
"ทั้งนี้ยิ่ง "Markets" และ "Product" ซึ่งเป็นนักศึกษาที่เรียนในระบบ เช่น เด็กที่จบ ม. 6 ปวช. และปวส.มาแล้วเข้าสู่การเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย การศึกษาแบบนี้ถือว่ามีความเสี่ยง เพราะเทคโนโลยีและโครงสร้างประชากรได้เปลี่ยนแปลงทุกวัน อัตราการเกิดต่ำกว่าอัตราของผู้สูงวัย ดังนั้นถ้าเรามีความเสี่ยงของบุคลากรที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัย นักศึกษาที่อยู่ในมหาวิทยาลัยยังเป็นกลุ่ม ม.6 ปวช. และปวส.อยู่ แถมตัวป้อนที่จะเข้าสู่มหาวิลัยวิทยาลัยยังลดน้อยลงเรื่อย ๆ อีก ดังนั้นวิธีการในการบริหารจัดการเรื่องนี้ คือการรักษาคุณภาพของหลักสูตรเหล่านี้ไว้ให้ได้ และหลักสูตรที่อาจจะมีตัวป้อนน้อยลงหรือทรัพยากรต่างๆอาจจะมีความไม่เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เราก็อาจจำเป็นจะต้องปิดหลักสูตรเหล่านี้" ดร.อุเทน กล่าวและว่า นอกเหนือจาก Product เดิมที่ต้องรักษา และพัฒนาให้มีคุณภาพแล้ว มทร.ล้านนา จะมองไปยังต้องป้อนกลุ่มใหม่ที่จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ เช่น มหาวิทยาลัยมีหลักสูตรอิเล็กทรอนิกส์และออโตเมชัน ที่สอนนักศึกษาในมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว ต่อไปในอนาคตเราอาจจะนำหลักสูตรดังกล่าวไปขายในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งที่ผ่านมา มทร.ล้านนา ได้ดำเนินการไปบ้างแล้ว ซึ่งพบว่าได้รับเสียงตอบรับจากสถานประกอบการในนิคมอุตสากกรรมให้นำหลักสูตรดังกล่าวเข้าไปสอนบุคลากรของบริษัทต่างๆ เป็นจำนวนมาก เช่น กลุ่มช่างเทคนิคที่สมัครเข้าทำงานในระดับ ปวส. วันนี้ทำงานมานานมีความรู้ ความสามารถที่สามารถขึ้นเป็นระดับเอนจิเนียร์ได้ เราก็จะใช้หลักสูตรนี้เข้าไปพัฒนาและยกระดับให้มีวุฒิการศึกษาในระดับปริญญาตรี แต่การจะทำเช่นนี้ได้ก็ต้องอาศัยหลักสูตรของมหาวิทยาลัย บวกกับนวัตกรรมการจัดการเรียนการสอนเพราะอาจารย์จะต้องเข้าไปช่วยสอนภายในโรงงานอุตสาหกรรม ดังนั้นกระบวนการจัดการเรียนการสอน รูปแบบการเรียนการสอน รูปแบบสนับสนุนการเรียนการสอนจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนใหม่ ต่างๆเหล่านี้จะทำให้เราได้นวัตกรรมในการจัดการเรียนการสอนแบบใหม่ทั้งการเรียน การสอน และการสนับสนุนการสอน
รักษาการอธิการบดี มทร.ล้านนา กล่าวว่า สิ่งที่ มทร.ล้านนา อยากจะก้าวไปให้ได้มากที่สุดก็คือ กลุ่ม"Markets" และ Product ใหม่ เราอยากเอาทรัพยากรและองคาพยพที่เรามีอยู่ทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นอาจารย์และนักศึกษาในมหาวิทยาลัยออกไปทำงานร่วมกับผู้ประกอบการข้างนอก เพื่อร่วมกันเปลี่ยนผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ทั้งภาคบริการ ภาคการเกษตร หรือแม้แต่ภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการเปลี่ยนแปลงธุรกิจ ยกตัวอย่างเช่นผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับน้ำมันต้องการจะเปลี่ยนไปทำธุรกิจที่มีอนาคตมากกว่าเดิมอาจจะหันไปทำเกี่ยวกับอุตสาหกรรมไฮโดรเจนแทนอุตสาหกรรมน้ำมัน เป็นต้น ซึ่งจุดนี้ มทร.ล้านนา จะเข้าไปเป็นตัวช่วยผลักดันเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง นาอกจากนี้มหาวิทยาลัยังมีความต้องการ ที่จะจะปั้นนักศึกษาของเราทั้งในระดับที่ต่ำกว่าปริญญาตรีและสูงกว่าปริญญาตรี บุคลากรของมหาวิทยาลัย ทั้งสายวิชาการและสายสนับสนุนให้มีโอกาสผันตัวเองไปเป็นสตาร์ทอัพภายใต้กระบวนการ Incubator การค้นหาและพัฒนา และ Accelerator การส่งเสริมธุรกิจเพื่อเร่งการเติบโตและเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจได้อย่างรวดเร็วในระยะเวลาอันสั้นของมหาวิทยาลัย เพื่อที่วันหนึ่งจะได้มีโอกาสเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศโตมากขึ้น
"สิ่งที่อยากจะฝากไปยังนักเรียน นักศึกษา ประชาชนทั่วไป และสถานประกอบการ ก็คือ ยุคนี้ถือเป็นยุคทองของนักศึกษาทั้งในระบบ และกลุ่มบุคลากรที่อยู่นอกระบบการศึกษา โดยเฉพาะในภาคแรงงาน สามารถเข้ามาใช้บริการภายในมหาวิทยาลัยได้ เพราะมหาวิทยาลัยเปิดแบบ 360 องศาให้ทุกคนสามารถเข้ามาเพื่อรับบริการด้านการศึกษาได้ตลอด มหาวิทยาลัยจะทำตัวเป็น Service Platform เพื่อให้บริการไม่ทั้งด้านงานวิจัย งานด้านการบริการวิชาการ การบริการ ส่งเสริมการเป็นผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ ส่งเสริมให้คนได้ทำอาชีพ หรือธุรกิจใหม่ ๆ ขณะเดียวกัน มทร.ล้านนา จะ ส่งเสริมให้นักศึกษา อาจารย์ และผู้ประกอบการจากข้างนอกสามารถเข้ามาพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เป็นของตัวเองได้ ที่สำคัญ มทร.ล้านนา มีพื้นที่ครอบคลุมการให้บริการใน 6 จังหวัดภาคเหนือ ทั้งเชียงราย เชียงใหม่ ตาก ลำปาง น่าน และพิษณุโลก ซึ่งทั้ง 6 จังหวัดนี้มีด่านชายแดนที่สำคัญ ๆ ที่เชื่อมต่อกับต่างประเทศ ทั้งยังครอบคลุมนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง ดังนั้น มทร.ล้านนา จะเดินหน้าตามแนวทางที่กำหนดไว้ คือ "ครีเอทีฟล้านนา" ซึ่งจะมุ่งเน้นการเป็นมหาวิทยาลัยที่เป็นที่พึ่งให้กับชุมชนและสังคม โดยเฉพาะการทลายกับดักรายได้ปานกลาง รวมถึงการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความยากจนให้กับคนของประเทศ โดยจะใช้เทคโนโลยีที่เรามีอยู่เข้าไปมีส่วนช่วยแก้ปัญหายากจนและความเหลื่อมล้ำ ซึ่งผมเชื่อมั่นว่าหลังจากนี้เมื่อ มทร.ล้านนา จัด Service Platform ที่ดี มีรูปแบบการพัฒนาผู้ประกอบการและนักศึกษาได้อย่างเป็นระบบเราจะสามารถแก้ปัญหาในเรื่องต่างๆ ของประเทศเหล่านี้ได้อย่างแน่นอน" ดร.อุเทน กล่าว