สกสว. ผสานกำลัง 4 หน่วยงาน ผลักดันเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพไทย ใช้ ววน. ช่วยยกระดับธุรกิจฐานนวัตกรรม - เพิ่มขีดความสามารถขยายตลาด

18 Jun 2024

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดพื้นที่เชิญภาครัฐ และภาคเอกชน ร่วมระดมความเห็น ผ่านเวทีเสวนา "การยกระดับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ" ครั้งที่ 6 : Next's step for Innovation Driven Enterprises (IDEs) in Thailand เพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการวางแผนและออกแบบการจัดสรรงบประมาณวิจัยและพัฒนานวัตกรรม สำหรับขับเคลื่อนประเด็นด้านการพัฒนาธุรกิจฐานนวัตกรรม (IDEs) ของประเทศในแผนงานที่เกี่ยวข้องการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเป้าหมายได้อย่างเหมาะสม

สกสว. ผสานกำลัง 4 หน่วยงาน ผลักดันเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพไทย ใช้ ววน. ช่วยยกระดับธุรกิจฐานนวัตกรรม - เพิ่มขีดความสามารถขยายตลาด

ดร.สราวุธ สัตยากวี รักษาการผู้อำนวยการสำนักพัฒนากองทุนและการสื่อสารเชิงกลยุทธ์ สกสว. กล่าวว่า จากการหารือร่วมกัน ทั้ง 4 หน่วยงานเห็นตรงกันว่าการวิจัยและนวัตกรรมเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของไทยไปสู่ระบบเศรษฐกิจบนฐานนวัตกรรม สร้างมูลค่า และยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไปสู่ระดับสากล ดังนั้น การเสวนา "การยกระดับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ" ในครั้งนี้จึงมุ่งเน้นประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจฐานนวัตกรรม (IDEs) รวมถึง SMEs และสตาร์ทอัพที่จะสามารถพัฒนาศักยภาพและต่อยอดเพื่อก้าวไปสู่การเป็น IDEs ของประเทศไทยได้อย่างเข้มแข็ง

คุณมนันยา ชุณหวุฒิยานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายระบบนิเวศส่งเสริมศักยภาพนวัตกรรมของผู้ประกอบการ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้อธิบายถึงสถานการณ์และภาพเชิงระบบในกลไกการสนับสนุน IDEs ของประเทศว่า ความรู้และความสามารถในหลายบริษัทของไทยนั้น ยังไม่เพียงพอต่อการสร้างนวัตกรรมที่จะช่วยให้บริษัทเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด เราจึงจำเป็นต้องนำความรู้และเทคโนโลยีจากภายนอกมาช่วยสร้างนวัตกรรม โดยต้องมีที่ปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญทั้งภาครัฐและเอกชนให้คำแนะนำอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ในปัจจุบันไทยมีมาตรการในการส่งเสริมการจ้างงานบุคลากรผู้มีทักษะสูงด้าน STEM และการพัฒนาบุคลากร ให้สามารถนำไปลดหย่อนภาษีเงินได้ เพื่อเป็นการกระตุ้นการพัฒนาศักยภาพบุคลากร อีกด้วย

ขณะที่ ดร.อธิป อัศวานันท์ ผู้อำนวยการสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย (DCT) กล่าวว่า ปัจจุบันหลายหน่วยงานยังมีความเข้าใจถึงบริบทของ SMEs และสตาร์ทอัพ คลาดเคลื่อนอยู่มาก แม้จะเป็นธุรกิจขนาดเล็กเหมือนกัน แต่เป้าหมายระหว่างทางนั้นแตกต่างกันสิ้นเชิง เนื่องจากในกลุ่มสตาร์ทอัพ จะเป็นกลุ่มที่การลงทุนมีความเสี่ยงสูงกว่า พร้อมย้ำว่า ภาครัฐควรช่วยแบ่งความเสี่ยงการลงทุนในกลุ่มสตาร์ทอัพ เช่น การร่วมลงทุน หรือ Co-Investment ซึ่งต้องการการสนับสนุนอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านการเพิ่มจำนวนเงินให้เพียงพอต่อการพัฒนาธุรกิจ และเร่งพัฒนาบุคลากรทั้งทางด้าน STEM ดิจิทัล และภาษาอังกฤษ

นอกจากนี้ ในช่วงเสวนา "ความท้าทายของการสร้าง IDEs ในประเทศไทย" ได้รับเกียรติจากหน่วยงานร่วมแลกเปลี่ยนในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้ รศ. ดร.ชาลีดา บรมพิชัยชาติกุล รองผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กล่าวถึง ประเด็นที่ท้าทาย คือ 1. ทำให้ IDEs มองภาพธุรกิจได้ชัดเจนและระยะยาว 2. สร้างทิศทาง แนวทาง ที่มีกลยุทธ์ ให้สามารถสร้างผลกระทบได้ 3. ประสิทธิภาพของการบริหารทรัพยากร 4. ความสำเร็จคุ้มค่าทางการเงิน ที่ต้องมี Impact กลับมา มีรายได้เพิ่มขึ้นที่แสดงถึงเป้าหมาย และ 5. องค์กรยั่งยืน ส่วน ดร.สุรอรรถ ศุภจัตุรัส รองผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NIA) กล่าวถึงประเด็นที่ท้าทายคือ 1. ผู้ประกอบการความไม่เข้าใจว่านวัตกรรมคืออะไร 2. การขาด Mindset ในการทำธุรกิจนวัตกรรม หรือ Business Model 3. การจัดการทรัพย์สินทางปัญญา หลังจากได้สร้างนวัตกรรมขึ้นมา เพื่อช่วยในการปกป้องสิทธิ์ในผลงานด้าน ววน. 4. การจัดองค์กร หรือทีม เป็นสิ่งสำคัญในการทำธุรกิจนวัตกรรม และ 5. ความไม่เข้าใจกลไกการสนับสนุนจากภาครัฐ

ดร.ชินาวุธ ชินะประยูร ผู้ช่วยผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมระบบนิเวศเศรษฐกิจดิจิทัล สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ระบุถึง สถานการณ์ในปัจจุบันที่ยังมีช่องว่างอีกจำนวนมากที่ประเทศไทยต้องพัฒนา โดยเฉพาะการเป็น Thailand 4.0 ที่ต้องพัฒนาเทคโนโลยีได้เอง แต่ในหลายภาคธุรกิจของไทยยังอยู่ในระดับเริ่มรู้จักเทคโนโลยี หรือในระดับเริ่มใช้เทคโนโลยีเท่านั้น ดร.ชาญชัย สิริเกษมเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ย้ำว่า การมองเป้าหมายระยะยาวเป็นสิ่งที่สำคัญ โดยต้องมีหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาช่วยสนับสนุน SMEs และสตาร์ทอัพให้เข้มแข็ง เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs และ Startup ให้สามารถโตไปสู่ IDEs ได้ และ ผศ. ดร.กาญจนา ส่งวัฒนา คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์และการลงทุน มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ให้ความเห็นในฐานะที่เป็น IBDS (Innovation Business Development Service) ว่า งานของ IBDS เป็นการรับช่วงต่อมาจากคนกลาง (Intermediary) โดยเป็นการใช้ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาเติมเต็มในส่วนที่ผู้ประกอบการ IDEs ยังขาด ให้มีความสามารถมากขึ้น โดยมักจะทำงาน Co-creation กับผู้ประกอบการ เพื่อช่วยในเรื่องของการตลาด และศึกษาดูว่าตรงไหนที่ยังต้องการ Market Research เพิ่มเติม

ไม่เพียงเท่านั้น ทางภาคเอกชนได้ร่วมแลกเปลี่ยนในประเด็น "โอกาสในการก้าวเป็น IDEs ของไทย" ของภาคเอกชนของไทยโดย คุณไชยยศ รุ่งเจริญชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท เพอร์มา คอร์ปอเรชั่น จำกัด ระบุว่า ในการออกไปแข่งกับต่างประเทศค่อยข้างมีความท้าทาย จึงอยากได้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งช่วยเป็นที่ปรึกษา ให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง (3-5 ปี) โดยเฉพาะเรื่องงบประมาณการลงทุนในด้านธุรกิจ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการทำงาน และอยากให้มีคนกลางเข้ามาช่วยในการวิเคราะห์ปัญหาและร่วมพูดคุยถึงแนวทางการพัฒนาต่อยอดว่าเป็นไปในมิติใดได้บ้าง เพื่อช่วยให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ไปได้เร็วขึ้น คุณเสริมศักดิ์ วงศ์ชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท กลัฟเท็กซ์ จำกัด เปิดเผยว่า ในปี ค.ศ. 2028 บริษัทมีตั้งเป้าหมายไว้ดังนี้ 1. มีขยายตลาดด้านค้าปลีกเพิ่มขึ้น 50% 2. มีขยายตลาดส่งออกเพิ่มขึ้น 30% 3. ใช้กลยุทธ์ด้าน Innovation & Standard เป็นกลยุทธ์หลักเพื่อผลักดันสินค้าที่ผลิตในประเทศไทยให้สามารถแข่งขันในตลาดต่างประเทศได้ 4. ใช้สินค้า Green เป็นกลยุทธ์สำคัญในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนในอนาคต และ คุณมาลีพรรณ ผาสุพงษ์ CEO, Ravis Technology กรรมการสมาคมการค้าเฮลท์เทคไทย ได้ย้ำถึงโจทย์ที่ว่า จะทำอย่างไรให้ประเทศสามารถต่อยอดไปได้อีก รวมทั้งการปรับกระบวนการต่าง ๆ ของภาครัฐให้มีความรวดเร็วขึ้น และช่วยโปรโมทเทคโนโลยีของภาคเอกชนไทยให้มากขึ้น อีกด้วย

ทั้งนี้ จากการเสวนาชี้ให้เห็นว่า การยกระดับ SMEs และสตาร์ทอัพไทยสู่ธุรกิจฐานนวัตกรรมให้ยั่งยืนด้วย ววน. นั้น ต้องอาศัยปัจจัยในหลากหลายด้าน ทั้งการยกระดับการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีให้กับผู้ประกอบการ การสร้างระบบรับรองมาตรฐานให้กับผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในประเทศ ตลอดจนภาครัฐควรช่วยเหลือ หรือเป็นที่ปรึกษาให้กับผู้ประกอบการในด้านต่าง ๆ อย่างครบถ้วน เพื่อผลักดันผลิตภัณฑ์ของไทยให้สามารถขายได้ในตลาดโลก อันนำไปสู่การเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศต่อไป