ธนาคารกรุงเทพ หนุนเอสเอ็มอีไทย เร่งปรับตัวรับมือ 4 ความท้าทาย ท่ามกลางยุคดิจิทัล การตลาด-เทคโนโลยี-แบรนด์-เงินทุน พร้อมผนึกกำลังพันธมิตรชั้นนำทั้งภาครัฐและเอกชน เสริมความรู้ผู้ประกอบการ SME ไทย ดันขายสินค้าในตลาดโลก ผ่านทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมชี้ปัจจัยเสี่ยงและข้อกีดกันด้านการให้ผู้ประกอบการเตรียมพร้อมปรับตัวอย่างยั่งยืน
นายรชฏ เสกตระกูล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้อำนวยการลูกค้าธุรกิจรายปลีก นครหลวง ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การเข้าสู่ยุคดิจิทัลในปัจจุบันนับเป็นการเปลี่ยนแปลงสำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอีต้องเร่งปรับตัว โดยเฉพาะเศรษฐกิจอัจฉริยะ (Intelligence Economy) ที่นำเอาความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้เพื่ออำนวยความสะดวกให้ดำเนินธุรกิจได้สะดวก รวดเร็ว ช่วยวางแผนและจัดการด้วยระบบต่าง ๆ ที่ช่วยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การปรับตัวให้สอดรับกับทิศทางดังกล่าวอาจยังไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะธุรกิจยังต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายหลักถึง 4 เรื่อง ตั้งแต่การตลาดสมัยใหม่ที่เป็น Digital Commerce ทักษะด้านเทคโนโลยีของแรงงาน การสร้างแบรนด์อย่างเข้มแข็ง และสุดท้ายคือการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่จะมาช่วยสนับสนุนให้เกิดการลงทุนเพื่อยกระดับศักยภาพธุรกิจ
เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการมีความพร้อมสำหรับการปรับตัวยุคดิจิทัล ธนาคารกรุงเทพ ในฐานะ "เพื่อนคู่คิด" ที่พร้อมเคียงข้างทุกช่วงจังหวะชีวิตธุรกิจ ได้ร่วมมือกับ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และ แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ Alibaba.com ร่วมจัดสัมมนา "โอกาสใหม่ สู่ตลาดโลก ผ่าน Cross Border E-commerce" เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการก้าวไปสู่โอกาสใหม่ๆ ในตลาดโลกที่กำลังเปิดต้อนรับการทำธุรกิจข้ามพรมแดนมากขึ้นเรื่อย ๆ ผ่านรูปแบบ E-Commerce ตลอดจนสิ่งที่ผู้ประกอบการจะต้องรับมือพร้อมเครื่องมือที่จะส่งเสริมให้ธุรกิจปรับตัวได้อย่างราบรื่น
"การเข้าสู่ตลาด E-Commerce อย่างมีประสิทธิภาพนั้น ผู้ประกอบการต้องเรียนรู้และเตรียมพร้อมหลายด้าน ทั้งการศึกษาวิจัยตลาดของสินค้าตัวเอง การพัฒนาสินค้า ช่องทางการจัดจำหน่ายที่เหมาะสม ทั้งรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ รวมทั้งข้อกีดกันทางการค้า โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อมที่ทั่วโลกให้ความสำคัญและจะเริ่มเห็นกฎเกณฑ์จากประเทศต่างๆ ชัดเจนมากขึ้นในปี 2568 สิ่งเหล่านี้เป็นความเสี่ยงที่ผู้ประกอบการจะต้องพร้อมรับมือ แต่หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นที่จุดไหน ดังนั้น ธนาคารจึงตั้งใจที่จะเป็นสื่อกลางเชื่อมโยงผู้ประกอบการกับผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆมาเจอกัน เพื่อให้ได้รับคำปรึกษาได้อย่างตรงจุดกับธุรกิจมากที่สุด รวมถึงช่วยให้ผู้ประกอบการมีศักยภาพที่สามารถรับมือกับปัจจัยความท้าทายต่างๆ ทั้งเรื่องการตลาดและกิจกรรมส่งเสริมการขายผ่านดิจิทัล การส่งเสริมทักษะด้านเทคโนโลยีของแรงงาน และการสร้างแบรนด์ให้พร้อมก้าวเข้าสู่ตลาดโลกได้อย่างแข็งแกร่ง ตลอดจนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ธนาคารมีความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว" นายรชฏ กล่าว
ที่ผ่านมาธนาคารได้ออกโครงการช่วยเหลือลูกค้า SME ด้วยการให้สินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษภายใต้โครงการ "สินเชื่อบัวหลวงเพื่อการปรับตัวธุรกิจ (Bualuang Transformation Loan)" วงเงินโครงการ 20,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยพิเศษคงที่ 5% ต่อปี ระยะเวลาสินเชื่อ 5 ปี โดยพิจารณาให้วงเงินสินเชื่อสูงสุด 10 ล้านบาทต่อราย เพื่อสนับสนุนให้ภาคธุรกิจปรับตัวเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้สามารถเติบโตอย่างยั่งยืน โดยผู้ประกอบการที่สนใจ ทั้งลูกค้าปัจจุบันหรือลูกค้าใหม่ สามารถติดต่อสมัคร สินเชื่อบัวหลวงเพื่อการปรับตัวธุรกิจ ได้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 - 31 มกราคม 2568 (หรือเมื่อมีลูกค้าใช้สินเชื่อเต็มวงเงินของโครงการ)
นางสาวเรขา ศรีสมบูรณ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์สถานการณ์ และเตือนภัยทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า ปัจจุบันไทยมีผู้ประกอบการ SME อยู่ราว 3.2 ล้านราย โดยอยู่ในกลุ่มภาคการค้ามากที่สุด 1.34 ล้านราย รองลงมาคือภาคบริการ 1.30 ล้านราย และ ภาคการผลิต 5.15 แสนราย ซึ่งจากทั้งหมดนี้มีกลุ่มธุรกิจเพียง 22,429 ราย (ปี 2566) ที่ส่งออกสินค้าไปขายในต่างประเทศ ซึ่งอยู่ในกลุ่มของอุปกรณ์ไฟฟ้าและส่วนประกอบ, อัญมณีและเครื่องประดับ, น้ำตาลและผลไม้เป็นหลัก โดยตลาดส่งออกสำคัญของกลุ่ม SME ยังคงเป็นตลาดอาเซียน ขณะที่ตลาดสหรัฐฯและจีนพบว่าขยายตัวเพิ่มขึ้นมาก โดยไทยได้อานิสงส์ในการส่งออกหลังทั้งสองประเทศกีดกันทางการค้าระหว่างกัน
"แม้กลุ่ม SME จะมีจำนวนมากที่สุดในประเทศ แต่เมื่อดูสัดส่วนของผู้ประกอบการที่ส่งออกสินค้าไปขายต่างประเทศกลับมีเพียงร้อยละ 0.7 ของจำนวนผู้ประกอบการ SME ทั้งหมด ที่เป็นเช่นนี้เพราะมีผู้ประกอบการอีกมากที่ขาดการเข้าถึงข้อมูล แหล่งเงินทุนเพื่อพัฒนาธุรกิจของตัวเองไปสู่การส่งออกได้ ขณะที่กลุ่มผู้ประกอบการที่ส่งออกสินค้าอยู่แล้วก็ยังขาดการอัพเดทเทรนด์การค้า แรงงานที่มีทักษะด้านเทคโนโลยีในการใช้แพลตฟอร์มการผลิตและการค้าต่างๆ รวมทั้งการปรับเปลี่ยนกฎข้อบังคับการส่งออกสินค้าและแหล่งเงินทุนในการปรับปรุงธุรกิจ" นางสาวเรขา กล่าว
ทั้งนี้ ในปี 2566 มูลค่าการส่งออกของกลุ่ม SME ขยายตัวได้ 26.3% และตลอดช่วง 5 ปี (2562-2566) มูลค่าการส่งออกของกลุ่มเอสเอ็มอีไทย ยังขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ 5.2% ซึ่งจากการร่วมมือสนับสนุนทั้งจากภาครัฐ เอกชน และสถาบันการเงิน เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการพัฒนาศักยภาพธุรกิจในภาวะการแข่งขันที่ท้าทายได้อย่างแข็งแรง เชื่อว่าในปี 2567 นี้ มูลค่าการส่งออกของกลุ่มผู้ประกอบการ SME จะขยายเพิ่มขึ้นได้อีกร้อยละ 8-10
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit