องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ร่วมกับยูเนสโก และภาคีเครือข่ายด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนจากชาติอาเซียน ร่วมส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนด้วยมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมและเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ในเส้นทางการท่องเที่ยวทางน้ำของอาเซียน จากกระบวนการมีส่วนร่วม เชื่อมโยงภาครัฐและเอกชนในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ร้อยเรียงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของภูมิภาคอาเซียน เสริมการแลกเปลี่ยนเชิงวัฒนธรรมและสร้างความตระหนักถึงรากเหง้ามรดกวัฒนธรรมสู่ระดับชุมชน สอดคล้องหลักการพัฒนาขององค์การการท่องเที่ยวโลก (UNWTO) ที่ให้ความสำคัญกับการปกป้องรักษามรดกและทรัพยากรทางวัฒนธรรม ส่งเสริมการยกระดับการท่องเที่ยวในภูมิภาคอาเซียนเป็นจุดหมายปลายทางเดียวกันด้านการท่องเที่ยว (Single Tourism Destination) ตามวิสัยทัศน์ด้านการท่องเที่ยวของประชาคมอาเซียน และยังตอบโจทย์นโยบาย Ignite Tourism Thailand ให้ไทยเป็นศูนย์กลางของอาเซียนอีกด้วย
วันที่ 17 กรกฎาคม 2567 นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการ อพท. กล่าวภายหลังพิธีปิด "โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนด้วยมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมและเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ในเส้นทางการท่องเที่ยวทางน้ำของอาเซียน (Achieving Sustainable Tourism with Intangible Cultural Heritage and Creative City Network in Waterway Cities of ASEAN)" ว่าความร่วมมือในครั้งนี้ อพท. เริ่มขับเคลื่อนตามแผนงานความร่วมมือตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 ที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนภาครัฐและเอกชนร่วมมือกันส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วยมรดกภูมิปัญญาและอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรมที่มีรากเหง้าร่วมกัน และสร้างเครือข่ายของผู้ประกอบอาชีพด้านการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงต่อยอดการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนในเมืองริมแหล่งน้ำในกัมพูชา สปป.ลาว และไทย โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนอาเซียน-ตุรกี (ASEAN-Turkiye Fund) โดยจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นและสร้างเครือข่ายของประเทศสมาชิก ดำเนินการมาแล้ว 5 ครั้ง มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมรวมกว่า 600 คน โดยเริ่มจากการส่งเสริมศักยภาพการท่องเที่ยวโดยชุมชนจะเป็นแบบธุรกิจที่ยั่งยืนในพื้นที่ลุ่มน้ำของอาเซียนได้อย่างไร การสร้างประสบการณ์วัฒนธรรมอาหารที่ยั่งยืนในแหล่งพื้นที่มรดกโลก UNESCO การใช้เครื่องมือดิจิทัลเพื่อการมีส่วนร่วมของชุมชนในการเล่าเรื่องการท่องเที่ยวโดยชุมชน และประสบการณ์ของชนพื้นเมืองจากแหล่งที่มาของแม่น้ำเพื่อการเดินทางท่องเที่ยวที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น รวมไปถึงการจัดการกับความท้าทายของการใช้พลาสติกในการเดินทาง โดยหัวข้อการประชุมทั้งหมดเพื่อส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และร่วมกันขับเคลื่อนการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เพิ่มมูลค่าการท่องเที่ยว ควบคู่สมดุลวัฒนธรรมคงอยู่ สิ่งแวดล้อมยั่งยืน
ผู้อำนวยการ อพท. กล่าวย้ำอีกว่า "นอกจากความมุ่งมั่นที่จะเพิ่มมูลค่าการท่องเที่ยวของกลุ่มประเทศอาเซียน โดยใช้ผลพวงของรากเหง้าวัฒนธรรมที่ลื่นไหลตามในลุ่มน้ำอาเซียนแล้วนั้น เรายังปิดท้ายโครงการด้วยประเด็นสำคัญด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ที่เป็นเทรนด์โลก คือ การจัดการกับความท้าทายของการใช้พลาสติกในการเดินทาง โดยกระบวนการตั้งแต่การกำหนดนโยบายสู่การนำไปปฏิบัติได้จริง ซึ่งในประเด็นนี้ อพท. ไม่เพียงมุ่งหวังแค่การสร้างความตระหนักและจิตสำนึกที่ดีในการร่วมรักษาสมดุลสิ่งแวดล้อมในแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษ เราจะขยายผลความเป็นต้นแบบภาคการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนไปสู่ความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับภูมิภาคและระดับสากลต่อไปด้วย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit