กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว) โดยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาด้านนาโนเทคโนโลยี การบริการวิชาการ และการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน นำร่องพัฒนาต้นแบบระบบน้ำกรองของโรงเรียนบ้านผือ อุดรธานี ขับเคลื่อนการสร้างกำลังคนภายใต้ "ยุวชนอาสา" และต่อยอดขยายความร่วมมือทางด้านสิ่งแวดล้อมและเซ็นเซอร์ ยกระดับคุณภาพชีวิตด้วย วทน. เชิงพื้นที่แบบยั่งยืน
ดร.วรรณี ฉินศิริกุล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. กล่าวว่า นาโนเทค และมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี มีความร่วมมือกันมาแล้วตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2561 ภายใต้โครงการจัดการน้ำอุปโภคบริโภคให้แก่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน บ้านเทพภูเงิน จังหวัดอุดรธานี ตามพระราชดำริฯ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชกระแสในการประชุมคณะกรรมการมูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริฯ ครั้งที่ 2/2561 เมื่อวันศุกร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ 2561 ว่า โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน บ้านเทพภูเงิน จังหวัดอุดรธานี มีปัญหาเรื่องการปนเปื้อนยากำจัดศัตรูพืชจากสวนยางพาราในอ่างเก็บน้ำโรงเรียนทำให้โรงเรียนจำเป็นต้องซื้อน้ำขวดรับประทาน มูลนิธิเทคโนโลยีสารสนเทศตามพระราชดำริ ควรหาทางให้ความช่วยเหลือแก้ไขปัญหา โดย ดร.จามร เชวงกิจวณิช ได้ร่วมใช้องค์ความรู้ในการจัดการน้ำร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรอย่างกรมทรัพยากรน้ำบาดาล และมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี สนับสนุนระบบกรองน้ำสำหรับอุปโภคและบริโภคสำหรับโรงเรียน ตชด. เทพภูเงิน ซึ่งปัจจุบันยังดำเนินการอยู่ร่วมกัน
"นาโนเทคมีพันธกิจในการดำเนินงานวิจัย พัฒนา ออกแบบและวิศวกรรม ประยุกต์นาโนเทคโนโลยี และบูรณาการกับพันธมิตร ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้เกิดความเป็นเลิศและสามารถถ่ายทอดผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ให้กับภาคการผลิต และภาคสังคม รวมถึงการเพิ่มคุณภาพชีวิตภายใต้ความตระหนักในการใส่ใจต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม นำไปสู่การบูรณาการความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานีทางด้านนาโนเทคโนโลยีสู่ชุมชน รวมถึงการพัฒนากำลังคนที่เป็นทรัพยากรสำคัญในการพัฒนาประเทศในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะการพัฒนาประเทศบนฐานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี" ดร. วรรณี กล่าว
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. คณิศรา ธัญสุนทรสกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นโอกาสดีที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานีได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเป็นเครือข่ายความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาด้านนาโนเทคโนโลยีเพื่อการบริการวิชาการและถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน ซึ่งจะเป็นการดำเนินที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยในการเป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งการเรียนรู้สู่การพัฒนาท้องถิ่น ผลิตผู้นำทางวิชาการ แหล่งสร้างนวัตกรรมและปัญญา
"มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานีพร้อมให้การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาด้านนาโนเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มความเข้มแข็งทางวิชาการร่วมกัน ในขณะเดียวกัน ก็จะสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรในมหาวิทยาลัย ทั้งในด้านการบริการวิชาการ และการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน เพื่อสร้างพี่เลี้ยงการวิจัย ส่งเสริมการดำเนินงานวิจัยให้เกิดองค์ความรู้และนวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในชุมชน" อธิการบดี มรภ. อุดรธานีกล่าวความร่วมมือระหว่างสองหน่วยงานที่ได้เริ่มดำเนินการนำร่องคือ การจัดการน้ำอุปโภคบริโภคสำหรับโรงเรียนบ้านผือ เทศบาลตำบลกงพานพันดอน อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี ภายใต้แผนงานบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ประจำปีงบประมาณ 2567 โดย ดร. กฤตภาส เลาหสุรโยธิน ทีมวิจัยกระบวนการระดับนาโนเพื่ออุตสาหกรรมเกษตร นาโนเทค สวทช. ร่วมกับคณาจารย์จากสาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม นำนวัตกรรมนาโนเทคโนโลยีสร้างประโยชน์กับนักเรียนในพื้นที่
ดร. กฤตภาส กล่าวว่า "นาโนไฮบริดเมมเบรน" เป็นผลงานที่นาโนเทค สวทช. พร้อมกับผู้ร่วมวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (SIIT) ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อพัฒนาและออกแบบนาโนไฮบริดเมมเบรนพร้อมระบบชุดกรองน้ำแบบไหลข้าม (crossflow) สำหรับการกำจัดไอออนแคลเซียมและเกลือคลอไรด์จากกลไกการดูดซับและการแยกไอออนจากลักษณะชั้นระดับนาโน (nanochannel) จากการซ้อนทับกันของกราฟีนออกไซด์และนาโนเคลย์ โดยมีประสิทธิภาพและความเป็นไปได้ในการพัฒนาต่อให้เกิดประโยชน์กับชุมชน ซึ่งเป็นเป้าหมายหนึ่งที่ต้องการให้เกิดขึ้นได้จริง
"นาโนไฮบริดเมมเบรน" เป็นการผสานวัสดุกราฟีนออกไซด์และนาโนเคลย์ สู่แผ่นเมมเบรนที่มีรูพรุนระดับนาโน/ไมครอนสำหรับใช้ในระบบกรอง ถอดเปลี่ยน-ล้าง (regenerate) ใหม่ได้ เป็นการวิจัยและพัฒนาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการระบบการบำบัดน้ำบาดาลที่มีการปนเปื้อนไอออนต่างๆ เช่น เหล็ก แมงกานีส แคลเซียม เกลือ โดยภายใต้การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นการต่อยอดพัฒนาต้นแบบระบบน้ำกรองของโรงเรียน ณ จังหวัดอุดรธานี ซึ่งจะเป็นการสำรวจคุณภาพน้ำและทำการปรับปรุงฟื้นฟูระบบกรองน้ำที่มีอยู่เดิมให้มีประสิทธิภาพดีขึ้นอีกครั้งโดยการใช้ระบบตกตะกอน การให้อากาศ และการกรองผ่านระบบไมโครเมมเบรนนาโนไฮบริด โดยจะมีการติดตาม ทดสอบผลเปรียบเทียบความแตกต่างของระบบที่ติดตั้ง เพื่อรวบรวมเป็นผลงานวิจัยเชิงวิชาการ และร่วมกับการพัฒนาทักษะและความเข้าใจให้กับโรงเรียนและชุมชนผู้ดูแลระบบในพื้นที่จริง ให้ทราบถึงประโยชน์ของนาโนเทคโนโลยีต่อไป
ดร. วรรณีชี้ว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ เชื่อว่าจะเห็นการร่วมกันพัฒนาข้อเสนอโครงการวิจัยเพื่อขอรับทุนวิจัยร่วมกัน ร่วมสนับสนุนทรัพยากรในการดำเนินงานหรือโครงการวิจัยโดยใช้องค์ความรู้ด้านนาโนเทคโนโลยีของนาโนเทค ผนวกจุดแข็งของมรภ.อุดรธานีในการให้บริการประชาชน ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการ ที่สำคัญคือ การร่วมกันพัฒนาบุคลากรด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่น โครงการยุวชนอาสา ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของ สป.อว. สอดคล้องกับพันธกิจของทั้งสองหน่วยงาน คือการสนับสนุนการศึกษา - งานวิจัยเพื่อพัฒนาชุมชนร่วมกับมหาวิทยาลัยในเชิงพื้นที่
"ความร่วมมือระหว่าง 2 หน่วยงานผ่านโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ ในอนาคต สามารถสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมในอนาคตต่อไป และคาดหวังขยายความร่วมมือผ่านเทคโนโลยีนาโนทางด้านสิ่งแวดล้อมและเซ็นเซอร์ ที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ได้อีกด้วย" ผู้อำนวยการนาโนเทคย้ำ
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit