ปัจจุบันประเทศไทยต้องเผชิญกับภาวะแข่งขันเพื่อการส่งออกสินค้า โดยเฉพาะสินค้าเกษตรซึ่งเป็นสินค้าหลักของประเทศ โดยมีคู่แข่งที่สำคัญ ได้แก่ ประเทศเพื่อนบ้าน หรือประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น จีน ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ซึ่งมีทรัพยากรหรือบริบทพื้นที่ที่ใกล้เคียงกับประเทศไทย อีกทั้งประเทศเหล่านั้นยังมีต้นทุนค่าแรงที่ต่ำกว่า ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ภาคการเกษตรของไทยยังมีข้อจำกัดจากปัจจัยภายนอกที่ควบคุมได้ยาก เช่น ต้นทุนของพลังงานและน้ำมันเชื้อเพลิงที่ราคาสูง รวมทั้งสารเคมีเพื่อผลิตปุ๋ยที่มีราคาสูงขึ้น ตลอดจนภัยแล้งที่มีผลกระทบอย่างมากต่อภาคการเกษตรและเกษตรกรโดยตรง
ดังนั้น วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) จึงมีความสำคัญในการเป็นกลไกช่วยยกระดับภาคการเกษตร เพื่อให้ผลผลิตสินค้าการเกษตรในระดับประเทศสามารถแข่งขันได้ ส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์ เพิ่มมูลค่าและบริหารจัดการทรัพยากรด้านการเกษตรให้มีประสิทธิภาพ ตามนโยบายรัฐบาลและนโยบาย นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ผ่านการดำเนินงานโดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมการเกษตรอย่างสร้างสรรค์ ที่สอดคล้องกับพื้นฐานและปัญหาของภาคการเกษตรของประเทศไทย มุ่งเน้นการพัฒนางานวิจัยตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ รวมถึงการวิจัยในเชิงลึกร่วมด้วย เพื่อพัฒนาเป็นชุดข้อมูลให้เกษตรกรในการแก้ไขปัญหาและสร้างความสามารถการผลิตด้านเกษตรแบบครบวงจร ปรับเปลี่ยนโครงสร้างภาคการเกษตรดั้งเดิม (Traditional Farming) สู่ภาคการเกษตรสมัยใหม่ (Smart Farming) ตลอดจนส่งเสริมงานวิจัยด้านเกษตรอินทรีย์ เกษตรแม่นยำ เกษตรมูลค่าสูง และเกษตรน้ำน้อย
พร้อมตั้งเป้าหมายในการพัฒนาที่ตัวเกษตรกร ให้เป็นเกษตรกรที่มีความรอบรู้รอบด้าน ทั้งกระบวนการผลิต การบริหารจัดการผลผลิต รวมทั้งการตลาด โดยให้เกษตรกรมีทักษะและความรู้ในการปรับตัวแบบมืออาชีพ มีเทคโนโลยีที่สูงขึ้นนำไปใช้ในกระบวนการผลิตเพื่อทุ่นแรงและลดการใช้แรงงานคน พร้อมดึงดูดคนรุ่นใหม่หรือวัยแรงงานกลับเข้าไปทำอาชีพการเกษตรร่วมด้วย ตลอดจนพัฒนาทักษะให้มีความสามารถเป็นผู้ประกอบการ ที่สามารถเชื่อมโยงภาคการเกษตรสู่ภาคธุรกิจได้ นำไปสู่การสร้างรายได้เพิ่มที่มั่นคง ภาครัฐสามารถลดภาระงบประมาณในการสนับสนุนหรือการช่วยเหลือ สามารถนำงบประมาณไปสนับสนุนปัจจัยที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าเกษตรของประเทศในระดับโลก สร้างความยั่งยืนให้แก่เศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้ยั่งยืนต่อไป
จากการดำเนินงานของ วว. โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ ภายใต้กรอบการดำเนินงานดังกล่าว ประสบผลสำเร็จใน การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อรองรับภาคการผลิตให้สอดคล้องห่วงโซ่การผลิตไม้ดอกไม้ประดับ ประกอบด้วย
1) การพัฒนาชุดข้อมูลพื้นฐานไม้ดอกไม้ประดับอัตลักษณ์ประจำถิ่นเพื่อใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์
2) พัฒนาปัจจัยการผลิตเกษตรปลอดภัยสำหรับไม้ดอกไม้ประดับ
3) ยกระดับการปลูกเลี้ยงไม้ดอกไม้ประดับที่ดีด้วยเกษตรแม่นยำ
4) พัฒนาเทคโนโลยีการเก็บเกี่ยวและบรรจุภัณฑ์
โดยเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นนั้น วว. มุ่งหวังให้เกษตรกรสามารถเข้ามาใช้ข้อมูลเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาเป็นอาชีพหรืออาชีพทางเลือกใหม่ที่ยั่งยืน ด้วยประสิทธิภาพของเทคโนโลยีจะส่งผลให้ผลผลิตที่เกิดขึ้นมีทั้งปริมาณและคุณภาพที่ดี ลดการสูญเสียและประหยัดการใช้แรงงานคน รวมทั้งสามารถพยากรณ์ปริมาณผลผลิตและวันการให้ผลผลิตได้แม่นยำยิ่งขึ้น
ดังนั้นเพื่อนำไปสู่การใช้ประโยชน์ในวงกว้าง วว. ได้ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรเอกชน คือ บริษัทสยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น จำกัด (KUBOTA) ดำเนินโครงการ "การพัฒนาเทคโนโลยีการปลูกดอกไม้ตัดดอกโดยใช้เครื่องมือจักรกลการเกษตร" โดยเป็นการผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีด้านการปลูกกับการนำเครื่องจักรเข้ามาใช้ร่วมกับการปลูก ซึ่งถือเป็นมิติใหม่ของการปลูกไม้ดอกไม้ประดับ มีพื้นที่ดำเนินงาน ณ คูโบต้าฟาร์ม จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่แห่งการถ่ายทอดองค์ความรู้ไปยังเกษตรกร หน่วยงานต่างๆ ตลอดจนผู้สนใจ ทั้งด้านเทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตร ที่สอดคล้องกับกระบวนการเพาะปลูกพืชสมัยใหม่ รวมถึง Solutions ด้านการเกษตรในหลากหลายมิติ
วว. และสยามคูโบต้า คาดหวังว่าชุดข้อมูลที่เกิดจากการทำงานร่วมกัน จะเป็นจุดเริ่มต้นของการวิจัยที่จะทำให้เกษตรกรหรือนักลงทุนเข้ามาสนใจในการผลิตไม้ดอกไม้ประดับ ที่สามารถผลิตในระดับอุตสาหกรรมได้ สามารถต่อยอดเข้าสู่ อุตสาหกรรมอาหารฟังก์ชั่น เวชสำอาง รวมทั้งผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งมีมูลค่าทางการตลาดสูง อันจะช่วยให้พี่น้องเกษตรกรสามารถสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ดีในบริบทการเปลี่ยนแปลงของสังคมในปัจจุบัน
นางวราภรณ์ โอสถาพันธุ์ กรรมการผู้จัดการอาวุโสสยามคูโบต้า กล่าวเพิ่มเติมว่า ความร่วมมือกับ วว. ในการวิจัยดังกล่าวมุ่ง บูรณาการดำเนินงานร่วมกัน พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนประสบการณ์องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ในการปลูกดอกไม้ตัดดอกให้แก่สมาชิกกลุ่มเกษตรกรในเครือข่ายทั่วประเทศ การเพิ่มขีดความสามารถสู่การเป็นผู้ประกอบการที่สามารถใช้เครื่องจักรกลการเกษตร มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการวางแผนการเพาะปลูก ภายใต้รูปแบบเกษตรสมัยใหม่ที่ช่วยสร้างรายได้และมีระบบการบริหารจัดการที่ดี
"...วว. และสยามคูโบต้า มุ่งมั่นให้การดำเนินงานร่วมวิจัยพัฒนาสำเร็จเป็นรูปธรรมและมีการขยายผลในวงกว้างของประเทศ ทำให้การปลูกไม้ดอกไม้ประดับสามารถต่อยอดเป็นอุตสาหกรรมใหม่ได้จริง เป็นรูปธรรม มีการนำเทคโนโลยีไปใช้ในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศให้ยั่งยืนต่อไป..." ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าว
วว. พร้อมให้บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ โทร. 0 2577 9000 หรือที่ "วว. JUMP" และ E-mail : [email protected]
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit