สสส. หนุน สถาบันฯ สิ่งทอ ใช้แนวคิด Happy workplace ยกระดับคุณภาพชีวิตคนทำงาน มุ่งสร้างองค์กรสุขภาวะต้นแบบ 100 แห่ง ภายในปี 69

12 Jul 2024

อุตสาหกรรม "สิ่งทอ แฟชั่น ไลฟ์สไตล์" ไทย พบคนทำงานมีภาวะเครียด 76% เผชิญปัญหาคนลาออกสูง 10% ต่อปี เหตุพนักงาน ไม่มีความสุข-ภาระงานหนัก-ป่วยซึมเศร้า-ขาดแรงจูงใจ กระทบการเติบโตเศรษฐกิจไทย สสส. หนุน สถาบันฯ สิ่งทอ ใช้แนวคิด Happy workplace ยกระดับคุณภาพชีวิตคนทำงาน มุ่งสร้างองค์กรสุขภาวะต้นแบบ 100 แห่ง ภายในปี 69

สสส. หนุน สถาบันฯ สิ่งทอ ใช้แนวคิด Happy workplace ยกระดับคุณภาพชีวิตคนทำงาน มุ่งสร้างองค์กรสุขภาวะต้นแบบ 100 แห่ง ภายในปี 69

เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2567 ที่โรงแรม แรมแบรนดท์ โฮเทล แอนด์ สวีท กรุงเทพฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ จัดเวทีกิจกรรมกระตุ้นนโยบายองค์กรสุขภาวะด้านพฤติกรรม ภายใต้โครงการสร้าง พัฒนา ขยายผลองค์กรสุขภาวะ สู่ผลลัพธ์พฤติกรรมสุขภาพที่ดีอย่างยืน ในคลัสเตอร์สิ่งทอ แฟชั่น ไลฟ์สไตล์ ใช้แนวคิดองค์กรสุขภาวะ (Happy workplace) มุ่งเน้นให้บุคลากรทุกคนในองค์กรมีความสุขในการทำงาน มีผู้เข้าร่วมจาก 100 องค์กร ทั่วประเทศ

โดย นางเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สถานการณ์พฤติกรรมสุขภาพของคนวัยทำงาน จากรายงาน Champion Health  Mental Health & Wellbeing ปี 2566 โดยเว็บไซต์ thelancet.com พบว่า คนวัยทำงานในไทยมีภาวะเครียดระดับปานกลางถึงเครียดจัด สาเหตุจากบรรยากาศในที่ทำงานไม่ดีและภาระงานที่หนักเกินไป 76% ได้รับการวินิจฉัยทางคลินิกว่ามีภาวะวิตกกังวล 60% เผชิญปัญหาป่วยซึมเศร้า 56% นอกจากนี้ ยังพบว่ามีปัญหาสุขภาพจิตและภาวะหมดไฟในการทำงาน สอดคล้องกับผลสำรวจประเด็นปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อสุขภาพของคนทำงานกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอ แฟชั่น และไลฟ์สไตล์ ในสถานประกอบการ 20 แห่ง ปี 2566 พบคนวัยทำงานไม่มีความสุข ป่วยซึมเศร้า สุขภาพสังคมทำงานไม่ดี เป็นสาเหตุหลักการลาออกของคนทำงานโดยเฉลี่ย 5-10% ต่อปี และขาดแรงจูงใจให้คนวัยทำงานหน้าใหม่เข้าสู่อุตสาหกรรม

 "สสส. สนับสนุนให้ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ นำแนวคิด Happy workplace ไปใช้ยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดี ลดความเสี่ยงการป่วยด้านสุขภาพจิต (Mental Health) ของคนทำงานในอุตสาหกรรม ผ่านแนวทางการดำเนินงาน 3 ด้าน 1.ส่งเสริมให้สถานประกอบการสิ่งทอฯ กำหนดนโยบายสร้างเสริมสุขภาวะในองค์กร 2.ขยายเครือข่ายองค์กรสุขภาวะตามยุทธศาสตร์การดำเนินงาน 10 ปี ของ สสส. 3.ศึกษาปัจจัยความสำเร็จสู่การเพิ่มขีดความสามารถส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจไทย โดยมุ่งเป้าให้เกิดสถานประกอบการในคลัสเตอร์สิ่งทอต้นแบบ 100 แห่ง ภายในปี 2569" รองผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าว

 ดร.ชาญชัย สิริเกษมเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กล่าวว่า โครงการสร้าง พัฒนา ขยายผลองค์กรสุขภาวะ สู่ผลลัพธ์พฤติกรรมสุขภาพที่ดีอย่างยืน มุ่งเน้นการพัฒนาบุคลากร และเครือข่ายในกลุ่มอุตสาหกรรม ให้มีองค์ความรู้ในการสร้างเสริมสุขภาวะองค์กร 7 ด้าน 1.สร้างการรับรู้นโยบายองค์กรสุขภาวะ 2.สื่อสารเชิงรุกเพื่อสร้างผลลัพธ์พฤติกรรมสุขภาพ 3.ติดตามและประเมินภาพรวมโดยผู้เชี่ยวชาญ 4.ยกระดับองค์กรสุขภาวะโดยเน้นผลลัพธ์เชิงพฤติกรรมสุขภาพ 5.สร้างแกนนำทีมสร้างสุขให้เป็นผู้นำสุขภาพ 6.พัฒนางานวิจัยเพื่อศึกษาปัจจัยความสำเร็จในการส่งเสริมสุขภาวะองค์กร 7.พัฒนาศูนย์สนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาวะในองค์กร สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การบริหารงานของสถาบัน ที่มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตคนทำงานในอุตสาหกรรมให้พร้อมเป็นกำลังสำคัญในการแข่งขันด้านเศรษฐกิจของประเทศ มุ่งเป้าขยายผลไปยังหน่วยงานในสังกัดอุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ 7 แห่ง สถานประกอบการ 2,607 แห่ง ครอบคลุมคนทำงานในอุตสาหกรรม 402,779 คน