อ.อ.ป. - SCG จับมือลงนาม MOU ศึกษาความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจ "ปลูกไผ่ซางหม่น" ในพื้นที่ 3สวนป่านำร่อง มุ่งหวังเป็นเชื้อเพลิงทดแทน

23 Sep 2024

องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) และ บริษัท เอสซีจี ซีเมนต์ จำกัด (SCG) ร่วมจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ภายใต้ "โครงการศึกษาความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจในการปลูกไผ่ซางหม่น" โดยมี นายสุกิจ จันทร์ทอง ผู้อำนวยการองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ และนายวิสุทธิ จงเจริญกิจ President Green Circularity Business เป็นผู้ลงนาม ณ สวนป่ามิตรภาพ จังหวัดสระบุรี เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา

อ.อ.ป. - SCG จับมือลงนาม MOU ศึกษาความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจ "ปลูกไผ่ซางหม่น" ในพื้นที่ 3สวนป่านำร่อง มุ่งหวังเป็นเชื้อเพลิงทดแทน

นายสุกิจ จันทร์ทอง ผอ.อ.อ.ป. เปิดเผยว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในครั้งนี้ อ.อ.ป. - SCG ร่วมกันศึกษา วิจัย ความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจโดยปลูกผ่าซางหม่นเพื่อนำมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงทดแทน ตลอดจนใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมก่อสร้างต่าง ๆ เช่น การทำพื้น หรือเฟอร์นิเจอร์จากไม้ไผ่ โดย อ.อ.ป. จะทำหน้าที่ในการจัดเตรียมพื้นที่เหมาะสมของ อ.อ.ป. สำหรับใช้เป็นพื้นที่ทดลองปลูกไผ่ซางหม่นตามโครงการฯ ประกอบด้วย

- สวนป่ามิตรภาพ จังหวัดสระบุรี พื้นที่ประมาณ 5 - 10 ไร่

- สวนป่าแม่สรอย จังหวัดแพร่ พื้นที่ประมาณ 15 ไร่

- สวนป่าวังชิ้น จังหวัดแพร่ พื้นที่ประมาณ 50 ไร่

นอกจากนี้ อ.อ.ป. จะเป็นผู้ดำเนินการเตรียมเครื่องจักร อุปกรณ์ และแรงงานสำหรับให้การดำเนินงานเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯ และตามหลักวิชาการ

สำหรับ SCG จะเป็นผู้จัดเตรียมต้นไผ่ซางหม่นสำหรับปลูก ปลูกซ่อม และร่วมบำรุงรักษา ติดตามการเจริญเติบโตของต้นไผ่ซางหม่นร่วมกับ อ.อ.ป. ในพื้นที่ 3 สวนป่า อาทิ การวัดอัตราเจริญเติบโต การวัดปริมาณน้ำฝน เป็นต้น ตลอดจนเป็นผู้นำต้นไผ่ซางหม่นที่มีคุณสมบัติเหมาะสมไปทำการทดสอบน้ำหนักและคุณภาพเพื่อนำมาใช้ศึกษาและหาแนวทางในการดูและรักษาที่เหมาะสมและตรงตามคุณสมบัติของโครงการฯ ต่อไป

ทั้งนี้ อ.อ.ป. - SCG มุ่งหวังว่า โครงการนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการใช้ต้นไผ่ซางหม่นซึ่งเป็นวัสดุชีวมวลในการใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนพลังงานเดิม อีกทั้งยังเป็นโอกาสในการพัฒนาและต่อยอดผลิตภัณฑ์จากต้นไผ่ซางหม่นในด้านอุตสาหกรรมต่อไป ผอ.อ.อ.ป. กล่าวทิ้งท้าย

อ.อ.ป. - SCG จับมือลงนาม MOU ศึกษาความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจ "ปลูกไผ่ซางหม่น" ในพื้นที่ 3สวนป่านำร่อง มุ่งหวังเป็นเชื้อเพลิงทดแทน