Policy Watch Thai PBS เปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนมุมมองผ่าน Policy Forum ชวนติดตามการขับเคลื่อนนโยบาย วิเคราะห์ความท้าทาย และระดมความคิดหาแนวทางร่วม เพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยที่ต้องการดูแลแบบพึ่งพา ผู้ป่วยระยะสุดท้าย ครอบคลุมในทุกมิติ
องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือไทยพีบีเอส โดยศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ หรือ The Active และองค์กรเครือข่าย จัด "Policy Forum ครั้งที่ 20 : 1 ปีนโยบายชีวาภิบาล ความท้าทาย สู่สิทธิการตายดี" เปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนความเห็นติดตามการขับเคลื่อน "นโยบายสถานชีวาภิบาล" ที่กำลังจะครบ 1 ปี เพื่อวิเคราะห์ความท้าทาย ระดมความคิดหาแนวทางร่วม ให้คนไทยทุกคนมีสิทธิตายดีอย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ผ่านภาคส่วนคนทำงานที่เกี่ยวข้องกับนโยบายดังกล่าว โดยแบ่งคณะทำงานศูนย์ชีวาภิบาลออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ ศูนย์ชีวาภิบาลในโรงพยาบาล สถานชีวาภิบาลในชุมชน และเครือข่ายดูแลบ้านชีวาภิบาล
พญ.เดือนเพ็ญ ห่อรัตนาเรือง หัวหน้ากลุ่มงานเวชศาสตร์ประคับประคอง สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า นโยบายชีวาภิบาลไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย เพราะไทยมีนโยบายเรื่องการดูแลแบบประคับประคองมาแล้วกว่า 10 ปี แต่เมื่อมีนโยบายชีวาภิบาล ทำให้เกิดการทำงานที่ใหญ่ขึ้น บูรณาการทั้งผู้สูงอายุ ผู้ป่วยระยะท้าย และผู้ป่วยประคับประคอง และเห็นด้วยกับการปรับโครงสร้างอัตรากำลังให้กับบุคลากร
"เรามีอัตรากำลังของบุคลากรในระบบการแพทย์ก็จริง แต่ไม่ได้มาจากโครงสร้างการทำงานที่ระบุว่าเป็นการทำงานแบบประคับประคองโดยตรง แปลว่า อาจต้องมีบุคลากรทางการแพทย์ที่ถูกเพิ่มภาระงาน รัฐควรสนับสนุนอัตรากำลัง กรอบโครงสร้างงานที่ชัดเจนและเป็นระบบ" พญ.เดือนเพ็ญ กล่าว
ทางด้าน วรรณา จารุสมบูรณ์ ประธานกลุ่ม Peaceful Death ได้กล่าวถึง กรณีของกุฏิชีวาภิบาลอาจตอบโจทย์นโยบายสถานชีวาภิบาลที่สุดเพราะมีโครงสร้างเป็นสถานที่อย่างเป็นรูปธรรม แต่ในทางปฏิบัติแล้ว การมีแต่สถานที่ไม่เพียงพอ แต่ต้องการผู้เชี่ยวชาญ ระบบบริการ และงบประมาณในระยะยาวด้วย แต่ยังเป็นคำถามสำคัญว่ามีเพียงพอหรือไม่และนำมาจากส่วนไหน
"ตอนนี้วัดที่มีชื่อเสียง ไม่ขาดแคลนเพราะมีเงินบริจาค แต่วัดทั่วไปไม่ได้รับการสนับสนุน ก็ยังไม่รู้จะเอางบตรงไหน และไม่ใช่แค่ศาสนาพุทธ แต่ทั้งคริสต์ มุสลิม ว่าจะช่วยกันดูแลศาสนิกของตัวเองอย่างไร" วรรณา กล่าว
รัชนี บุญเรืองศรี รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาสุขภาวะเขตเมืองและกลุ่มงานพันนาสุขภาวะผู้สูงอายุ กรมอนามัย ระบุว่า ปัญหาการถ่ายโอนอำนาจไป อบจ.และทำให้บุคลากรไม่เพียงพอเกิดจาก ผู้ปฏิบัติงานเลือกที่จะย้ายงาน จึงได้มีการจัดให้มีการอบรมท้องถิ่นเพิ่มเติมกว่า 7,000 คน
"เนื่องจากภาระงานที่หนัก เมื่อมีการโอนย้ายทำให้เจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่งเลือกที่จะย้ายงานทำให้บุคลากรลดลง เราอบรมบุคลากรท้องถิ่นเพิ่มจำนวนมาก ไม่เพียงแต่ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข แต่มีนักจิตวิทยา นักพัฒนาชุมชน ฯลฯ เพื่อแก้ปัญหาเบื้องต้น" รัชนี กล่าว
นพ.โอชิษฐ์ เกียรติก้องชูชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ยืนยันว่า "นโยบายสถานชีวาภิบาล ยังมีอยู่ แม้ไม่ได้พูดถึงในการแถลงนโยบายของนายกแพทองธาร เพราะถูกแทรกเข้าไปในแผนการดูแลผู้สูงอายุแล้ว ผู้สูงอายุระยะสุดท้ายสามารถเดินทางไปอยู่กับลูก ไปใช้บริการสาธารณสุขได้ทุกที่ที่ใกล้บ้าน โดยไม่จำเป็นต้องรักษาที่บ้านเกิดตัวเองเท่านั้น"
ด้าน ณาตยา แวววีรคุปต์ ผู้อำนวยการศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ กล่าวทิ้งท้ายว่า The Active Thai PBS ได้รวบรวมข้อมูลการแลกเปลี่ยนในเวทีนี้ สู่แพลตฟอร์ม "Policy Watch" เพื่อไปดำเนินการและผลักดันต่อ แพลตฟอร์มนี้เป็นสื่อกลางขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะของประเทศที่เชื่อมโยงกับประชาชน ติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผลการดำเนินการของนโยบายรัฐบาล และภาคประชาสังคม ซึ่งแบ่งเป็นนโยบาย 8 หมวด ได้แก่ เศรษฐกิจ, สังคม คุณภาพชีวิต, การเกษตร, สิ่งแวดล้อม, รัฐธรรมนูญ กฎหมาย, บริหารงานภาครัฐ, การศึกษา และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ "นโยบายตายดี (สถานชีวาภิบาล)" อยู่ในหมวด สังคม คุณภาพชีวิต ซึ่งติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://policywatch.thaipbs.or.th/policy/life-7
สามารถติดตามไทยพีบีเอสทุกช่องทางออนไลน์ ได้ที่
? Website : www.thaipbs.or.th? Application : Thai PBS
? Social Media Thai PBS : Facebook, YouTube, X (Twitter), LINE, TikTok, Instagram, Threads
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit