นิทรรศการสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เพื่อการพัฒนาชนบทและการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน

02 Oct 2024

สำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาแห่งสหภาพยุโรป (European Union Intellectual Property Office หรือ EUIPO) โดยโครงการ IP Key South-East Asia (IP Key SEA) ร่วมกับกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ จะเปิดตัวงาน "นิทรรศการสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เพื่อการพัฒนาชนบทและการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน" ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในวันอังคารที่ 1 ตุลาคม 2567

นิทรรศการสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เพื่อการพัฒนาชนบทและการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน

ภายในนิทรรศการจะจัดการแสดงสินค้าและการชิมผลิตภัณฑ์ที่เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (geographical indication หรือ GI) จากประเทศไทยและสหภาพยุโรป รวมถึงกิจกรรมสัมมนาให้ความรู้เกี่ยวกับการคุ้มครองและประโยชน์ของ GI การสาธิตการผลิตสินค้า GI หัตถกรรม และการนำเสนอวิดีโอเกี่ยวกับ GI ของสหภาพยุโรป GI ทั้งนี้ สำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาแห่งสหภาพยุโรปจะเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในบริหารจัดการการจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์หัตถกรรมของสหภาพยุโรปนับแต่สิ้นปี พ.ศ. 2568 เป็นต้นไป

GI เป็นสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาที่คุ้มครองสินค้าที่มาจากแหล่งผลิตที่เฉพาะเจาะจง ซึ่งคุณภาพหรือชื่อเสียงของสินค้านั้นๆ เป็นผลมาจากการผลิตในพื้นที่ดังกล่าว เป้าหมายของการจัดงานครั้งนี้คือการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับ GI ในประเทศไทย โดยเฉพาะในแง่ประโยชน์ด้านการท่องเที่ยว การพัฒนาชนบท และเกษตรกรรมที่ยั่งยืน

งานนิทรรศการนี้จะจัดที่ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จนถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2567 และเปิดโอกาสให้ผู้ชมได้เรียนรู้ถึงความเป็นมาและคุณภาพ รวมถึงชิมสินค้า GI ขึ้นชื่อจากประเทศไทยและสหภาพยุโรป สำหรับข้อมูลกิจกรรมทั้งหมดของงาน สามารถดูได้ที่กำหนดการของงาน

นายกอนซาโล บิลเบา หัวหน้าโครงการ IP Key SEA กล่าวว่า "สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์เป็นสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาที่ยึดโยงอยู่กับแหล่งผลิตและความรู้และทักษะของพื้นที่ที่ผลิตสินค้า ซึ่งต้องเป็นไปตามมาตรฐานทางคุณภาพที่มีความเข้มงวด ความรู้และประสบการณ์เหล่านี้ต้องอาศัยการสั่งสมมาเป็นระยะเวลาหลายสิบปี และต้องใช้นวัตกรรมในการผลิต จึงเป็นองค์ความรู้ที่ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมากต่อทั้งชุมชนและเศรษฐกิจในภาพรวม จากการศึกษาเรื่อง "มูลค่าทางเศรษฐกิจของระบบคุณภาพ สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ และสินค้าที่ได้รับการรับรองความชำนาญพิเศษแบบดั้งเดิมของสหภาพยุโรป" ภาคการผลิต GI ในสหภาพยุโรปมีมูลค่าเกือบ 75 ล้านยูโร ดังนั้น GI จึงมีศักยภาพมากในการพัฒนาพื้นที่ชนบทและส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่นั้นๆ"

งานครั้งนี้สานต่อความร่วมมือระหว่างสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาแห่งสหภาพยุโรปกับกรมทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศไทย เพื่อตอกย้ำบทบาทของ GI ในเศรษฐกิจท้องถิ่นและเศรษฐกิจโลก และประโยชน์ที่ผู้บริโภคจะได้รับจากการคุ้มครอง GI ที่มีประสิทธิภาพ โดยในปีที่ผ่านมา โครงการ IP Key SEA ของสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาแห่งสหภาพยุโรป และคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ได้เข้าร่วมงานฉลองครบรอบ 20 ปีการก่อตั้งระบบสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย การทำงานร่วมกันนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่างสหภาพยุโรปและประเทศไทยในด้านทรัพย์สินทางปัญญา

นางสาวกนิษฐา กังสวนิช รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า "รัฐบาลไทยใช้ระบบการคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าชุมชนและมีส่วนช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาชนบท การท่องเที่ยว และความยั่งยืนของชุมชนท้องถิ่น ปัจจุบันประเทศไทยมีสินค้าที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ทั้งสิ้น 235 รายการ ประกอบด้วยสินค้า GI ไทยจำนวน 212 รายการ และสินค้า GI ต่างประเทศจำนวน 23 รายการ นอกจากนี้ สินค้า GI ไทยจำนวน 8 รายการ ได้รับการขึ้นทะเบียนในต่างประเทศรวมถึงในสหภาพยุโรปด้วย โดยสินค้า GI ไทยดังกล่าวได้สร้างมูลค่าทางการตลาดให้กับเศรษฐกิจไทยมากกว่า 73,000 ล้านบาทในปี 2567 ทั้งนี้ ประเทศไทยอยู่ระหว่างการแก้ไขกฎหมายสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์เพื่อปรับปรุงกระบวนการขึ้นทะเบียน รวมถึงการพัฒนาระบบควบคุมคุณภาพของสินค้า ขณะนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ระหว่างการเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติในหลักการ"