เรียกว่าสร้างปรากฏการณ์ทางด้านวิทยาศาสตร์ให้กับประเทศไทยได้เป็นอย่างดี สำหรับงานมหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย หรือ TRIUP FAIR 2024 ที่ถือได้ว่าเป็น one stop service ที่รวมระบบนิเวศการให้บริการด้านวิจัย วิทยาศาสตร์ และนวัตกรรม ตอบโจทย์ตั้งแต่ผู้ผลิตผลงานวิจัยไปจนถึงผู้ใช้ประโยชน์ ด้วยการเป็นสะพานเชื่อมภาคส่วนทั้งรัฐ เอกชน และประชาสังคมให้ช่วยกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยให้เติบโตและแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศได้อย่างยั่งยืน
โดยภายในงานยังมีเรื่องราวที่น่าสนใจหนึ่งประเด็นคือ "แนวทางการทำให้งานวิจัย วิทยาศาสตร์ และนวัตกรรมที่คิดและผลิตโดยคนไทยมีโอกาสขายและไปต่อได้ในตลาดโลก" ซึ่งในวันนี้จะพาไปดูมุมมองจากนักการตลาดชื่อดังกันว่าอะไรคือสิ่งที่ไทยพัฒนาต่อ และนำมาเป็นกลยุทธ์สำคัญเพื่อขับเคลื่อนให้นวัตกรรมไทยมีความ Mass มากขึ้น
เจาะกลยุทธ์สินค้านวัตกรรมไทย ต้องสร้างตลาดอย่างไร? ให้ปัง
ในยุคที่นวัตกรรมเกิดขึ้นใหม่ทุกวัน การจะสร้างแบรนด์สินค้านวัตกรรมให้โดดเด่นและเป็นที่จดจำในใจของผู้บริโภค
ได้นั้น นับเป็นความท้าทายสำคัญสำหรับผู้ประกอบการไทย จึงเกิดการตั้งคำถามว่างานนวัตกรรมของไทยก็ดี แต่ทำไมถึง
ไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง หรือสามารถนำออกมาต่อยอดและในเชิงพาณิชย์ได้ จากโจทย์ดังกล่าวเป็นชนวนที่จุดประกายให้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ สกสว. ในฐานะหน่วยงานหลักที่มุ่งส่งเสริมให้เกิดการนำงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ จึงเปิดเวทีเชิญ 2 ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดและนวัตกรรมชั้นนำของประเทศ ร่วมแบ่งปันประสบการณ์และเคล็ดลับเพื่อก้าวไปสู่ความสำเร็จผ่านเสวนา "สินค้านวัตกรรมไทย.. สร้างแบรนด์อย่างไรให้ปัง" ท่ามกลางบรรยากาศที่เต็มไปด้วยไอเดียสร้างสรรค์และมุมมองที่หลากหลายในงาน "TRIUP FAIR 2024"
สินค้านวัตกรรมไทยจะรอด ต้อง "โชว์จุดเด่น โชว์เหนือ และโชว์ความแตกต่าง"
การเสวนาเริ่มต้นเปิดเวทีด้วยประเด็นที่ชวนร่วมวิเคราะห์ สินค้านวัตกรรมไทยเรา ทำไม "ดันไม่ไป" หรือ "เราทำไม่ถึง" ซึ่ง ผศ.ดร.เอกก์ ภทรธนกุล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการอำนวยการ สกสว. และหัวหน้าภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้คำตอบไว้ว่า หากดูจากภาพรวมที่ผ่านมา จะเห็นว่าสินค้านวัตกรรมของไทย มีทั้งผลิตภัณฑ์ที่ไม่สามารถผลักดันได้สำเร็จ และผลิตภัณฑ์ที่สามารถเติบโตได้ดี ทั้งตลาดในประเทศ จนก้าวไปในระดับโลก เช่น อาหาร หัตถกรรม หรือแม้แต่เรื่องยา เพราะเลือกที่จะเล่าเรื่องหรือนำเสนอสินค้าในมุมที่ประเทศไทยมีความโดดเด่นเหนือคู่แข่ง อย่างเรื่องยาหากผู้ผลิตสินค้านำเสนอเรื่องที่เฉพาะทางหรือเคมี ไทยอาจสู้แถบอเมริกายุโรปไม่ได้ แต่ถ้าเราทำผลิตภัณฑ์หรือนวัตกรรมเชิงสมุนไพรที่คนไทยมีภูมิปัญญาและมีความเชี่ยวชาญ อย่างเรื่องของ "ขมิ้น" "Turmeric" จะทำให้สินค้านวัตกรรมของไทยโดดเด่นและเป็นที่รู้จักได้มากขึ้น
สื่อสารให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย ตัวช่วยดันสินค้านวัตกรรมไทยโตได้ทั้งตลาดในประเทศ - โกลบอล
ผศ.ดร.เอกก์ แนะกลยุทธ์เพิ่มเติม โดยยกตัวอย่างการทำแบรนด์นวัตกรรมจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หากต้องการทำให้นวัตกรรมของไทยเป็นที่รู้จักในระดับโลก ต้องเริ่มต้นจากระดับภูมิภาคในประเทศไทยก่อน ดังนั้น ภาษาที่ใช้ในการสื่อสารหรือเพื่อโฆษณา อาจจะต้องมีการแปลเป็นภาษาถิ่นของแต่ละภูมิภาค และภาษาอังกฤษ เพื่อให้เกิดการขยายตลาดออกไปในวงกว้างมากขึ้น เพื่อให้นึกภาพตามได้ง่าย ขอยกตัวอย่างสินค้านวัตกรรมของคณะสัตวแพทย์ ที่มีการนำเสนอจนสามารถเติบโตสู่ระดับโลกได้ อย่าง "การฝึกสุนัขลาบาดอ ช่วยดมกลิ่นโควิด" จัดเป็นนวัตกรรมด้านกระบวนการ หรือ process innovation ที่เลือกดึงเอาความน่ารักของสัตว์สี่ขามาเป็นเรื่องเล่า จนได้รับความสนใจจากสื่อต่างประเทศนำข้อมูลข่าวสารไปลงในหน้า 1 ของนิวยอร์กไทมส์ ความสำเร็จที่เกิดขึ้น อาจสะท้อนกลับมาได้ว่าที่ผ่านมา สินค้านวัตกรรมของไทยยังมีจุดอ่อนด้านของการให้ความสำคัญกับการทำ pre product ในห้องทดลองหรือการวิจัยมากเกินไป จนละเลยที่จะให้ความสำคัญกับงบประมาณที่จะต้องใช้ในการสื่อสารทางการตลาด เพราะงานวิจัยที่ออกจากห้องแลบไม่สามารถขายตัวเองได้ ต้องมีการใช้สื่อ และการตลาดเข้ามาร่วมด้วย
เทรนด์ตลาดต้องการนวัตกรรมพร้อมใช้ สื่อสารเข้าใจง่าย และเป็นเรื่องใกล้ตัว
ด้านนายทรงกรด บางยี่ขันธ์ บรรณาธิการบริหาร บริษัท Cloud and Ground จำกัด ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองจากประสบการณ์ว่า การสร้างแบรนด์สินค้านวัตกรรมต้องอาศัยการเล่าเรื่องที่จับใจผู้บริโภค (storytelling) เพราะปัจจุบันผู้บริโภคจะสนใจเรื่องราวที่อยู่เบื้องหลังสินค้า มากกว่าสินค้านั้นมาจากไหนเหมือนในอดีต ยกตัวอย่างเช่น การผลิตสินค้าจากวัสดุรีไซเคิลที่ช่วยลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ จะช่วยสร้างคุณค่าให้ผู้บริโภครู้สึกว่าได้สนับสนุนผลิตภัณฑ์ที่รักษาสิ่งแวดล้อม และหากถามว่าสื่อมวลชนต้องการอะไรจากผู้ประกอบการ เมื่อต้องช่วยสื่อสารงานนวัตกรรม คำตอบคือสื่อมวลชนต้องการเพียงข้อมูลของงานนวัตกรรมที่ใกล้ตัวผู้บริโภค พร้อมใช้ เมื่ออ่านข่าวจบแล้วรับรู้ได้ทันทีว่าใช้งานอย่างไร มีประโยชน์อะไรบ้าง หรือหากนักลงทุนสนใจก็สามารถลงทุนได้เลย ดังนั้น อะไรก็ตามที่ใกล้ตัวคนฟัง สามารถจินตนาการหรือคิดตามได้ทันที ต้องเล่าแบบตรงประเด็นจะยิ่งดีสำหรับการสื่อสาร นอกจากนี้ปัจจุบันผู้บริโภคยังให้ความสนใจกับผลิตภัณฑ์ที่ทำประโยชน์ต่อผู้อื่น เช่น การผลิตสินค้าและบริการที่ช่วยจ้างงานคนในชุมชน หรือช่วยลดการใช้ทรัพยากร รวมถึงการคิดและทำงานนวัตกรรมที่แตกต่างจากคนอื่นออกไปบนฐานความเชี่ยวชาญเดิมที่มีผนวกกับความคิดสร้างสรรค์ก็จะช่วยให้สินค้านวัตกรรมนั้นไปได้ไกลมากยิ่งขึ้น
"อย่างเช่นการทำแบรนด์ "ไก่ไร้เก๊าส์" เกิดจากการผสมสายพันธ์ต่างๆ ของไก่ที่มียูริคน้อย ทำให้คนเป็นโรคเก๊าส์สามารถกินไก่ได้ และนำมาทำเป็นอาหารที่บ้านได้ง่าย ผู้บริโภคอ่านแล้วรู้เลยว่า "ขายใคร" หรือการพัฒนานวัตกรรมออกแบบสิ่งของเครื่องใช้ที่มีส่วนในการนำเศษกระดุมที่เป็นของเหลือทิ้งมาใช้ประโยชน์เป็นวัสดุพื้นผิวโต๊ะ สามารถช่วยลดต้นทุน สร้างมูลค่าเพิ่ม และประหยัดทรัพยากรที่ต้องใช้ปกติอย่างพลาสติกและเรซินได้ นอกจากนี้ ยังมีตัวอย่างงานหัตถกรรมที่พัฒนา
ความเชี่ยวชาญด้านการจักสานเครื่องใช้ของไทย ให้กลายเป็นสินค้า "พระพุทธรูปไม้ไผ่สาน" ที่สร้างความแตกต่าง รวมถึง ผลิตภัณฑ์จากแบรนด์ "indigo" ที่มีที่มาจากผ้าย้อมคราม หากแต่ก่อนเป็นเสื้อม่อฮ้อมย้อมคราม อาจขายได้ที่มูลค่า 500 บาท แต่เมื่อนำมาเล่าใหม่ สร้างคุณค่าใหม่ จับกลุ่มตลาดใหม่ สามารถเพิ่มราคาขายได้ถึง 5,000 บาท ด้วยการเปลี่ยนวิธีการเล่าเรื่อง การออกแบบ จับกลุ่มเป้าหมายให้ชัด และตั้งชื่อเรียกแบรนด์ใหม่ให้น่าสนใจ อย่างไรก็ตาม การสร้างแบรนด์ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นนวัตกรรมไทย100 % สามารถใช้วิธี Co Brand กับ Brand ที่แข็งแกร่งกว่าก็ได้ เช่น การใช้วัสดุของเหลือใช้ เช่นเศษกระดุมมาทำพื้นผิวหน้าโต๊ะ แต่ถ้าใส่กระดุมเสื้อกุชชี่เข้าไป สินค้านี้ก็สามารรถเปลี่ยนมูลค่าได้แล้ว"
โดยสรุปมุมมองจากนักการตลาดที่ได้ทิ้งท้ายฝากประเด็นที่น่าสนใจเรื่อง "สินค้านวัตกรรมไทย.. สร้างแบรนด์อย่างไรให้ปัง" ในวงสนทนา ครั้งนี้ ดร.เอกก์ เสริมประเด็นชวนให้ฉุกคิดกับคำว่า ตลาด แปลว่า อะไร การตลาด แปลว่า "ลูกค้า" ตลาดไม่ใช่สถานที่ แต่คือ "ลูกค้า" การทำการตลาด อย่าเริ่มที่ "สินค้า" แต่เริ่มที่ "ลูกค้า" จับกลุ่มให้ชัด เวลาทำการตลาดสำหรับนักวิจัยควรร่วมมือกับนักการตลาดแบ่งงานกันทำเป็นพาร์ทเนอร์กัน บางครั้งนักวิจัยไม่สามารถทำทุกเรื่องได้หมด ควรหาเพื่อนร่วมทีมมาช่วยทำการตลาดด้วย พร้อมให้ข้อคิดสำคัญ 4 ข้อในการทำแบรนด์หรือการตลาดที่ดีคือ 1. ให้คิดถึง "เขา" ไม่ใช่ สร้างตัวตนจาก "ตัวเรา" เท่านั้น เพราะเราไม่ได้ซื้อของตัวเอง คิดเสมอว่าเขาต้องการอะไร 2. "เราทำได้" หรือไม่ เช่น เขาต้องการงานด้านศิลปะ เราเป็นนักวิทยาศาสตร์อาจทำไม่ได้ตามที่เขาต้องการ จึงต้องดูว่าอะไรที่เราทำได้ ทำไม่ได้ และควรทำอะไร 3. "คู่แข่งทำยาก" สินค้าต่างๆ ถ้าเลียนแบบง่าย เราจะไปต่อยาก ต้องหาสิ่งที่มาช่วยปิดกั้นคู่แข่ง เช่น สิทธิบัตร หรือ เรื่องแบรนด์ที่เราจำเป็นต้องลงทุนเรื่องการทำแบรนด์ สุดท้าย 4. "มากด้วยอารมณ์" อย่ามากด้วยฟังก์ชั่นแต่ให้มากด้วยอิโมชั่น จากนั้นให้ทำทุกอย่างเต็มที่และหมั่นทำความดี ไม่หลอกคนซื้อ เล่าข้อมูลบนข้อเท็จจริง เส้นจริยธรรมเป็นเรื่องที่ข้ามไม่ได้ ถ้าทำดีสิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิด "ความน่าเอ็นดู" สำหรับลูกค้า หากมีข้อผิดพลาดในบางโอกาสที่เกิดขึ้นลูกค้าก็อาจจะยังให้อภัย เพราะความเอ็นดู และความดีที่ได้ทำมา
ทั้งนี้ กองทุน ววน. มุ่งเสริมสร้างผลักดัน การเคลื่อนไทย ด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อพัฒนาเศรษกิจและสังคมไทยให้เติบโตแข็งแรงอย่างยั่งยืน
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit