The Global Cancer Observatory รายงานว่ามีผู้ป่วยมะเร็งเต้านมรายใหม่ทะลุ 2.3 ล้านราย และเสียชีวิตจากโรคมะเร็งเต้านมถึง 685,000 คนในปี 2565 ซึ่งมะเร็งเต้านมเป็นโรคที่คร่าชีวิตผู้หญิงทั่วโลกเป็นอันดับต้นๆ รวมถึงในประเทศไทย โดยข้อมูลของสถาบันมะเร็งแห่งชาติปีที่ผ่านมา พบว่ามีผู้เสียชีวิตในประเทศไทยด้วยโรคนี้ กว่า 8,200 คน หรือเฉลี่ยถึง 22 คนต่อวัน มีผู้หญิงไทยป่วยด้วยมะเร็งเต้านมประมาณ 22,000 คนต่อปี และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นต่อเนื่อง แต่ที่น่าตกใจ คือเรายังพบผู้ป่วยมะเร็งเต้านมในกลุ่มผู้หญิงที่มีอายุน้อย ซึ่งน้อยสุดมีอายุเพียง 17 ปี สอดคล้องกับสถิติของมูลนิธิถันยรักษ์ ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่ระบุว่า มะเร็งเต้านมพบมากในช่วงอายุ 40 - 49 ปี หรือประมาณ 41% ขณะที่อายุต่ำกว่า 39 ปี ก็มีสูงถึง 18.6% นั่นหมายความว่า แม้อายุไม่ถึง 40 ปี ก็มีความเสียงที่จะเป็นมะเร็งเต้านมได้เช่นกัน ดังนั้น หญิงไทยควรตรวจเต้านมเบื้องต้นด้วยตัวเอง ซึ่งหากรู้ก่อนจะช่วยเพิ่มโอกาสให้มีชีวิตรอดและอยู่ต่อได้อีก 10 ปี มากถึง 95%
กองทัพ "จิตอาสา Train the Trainer" รุกภารกิจพิชิตเต้านมถึงบ้าน
รู้เร็ว ยิ่งรอด…การให้ความรู้วิธีการตรวจเต้านมด้วยตัวเอง จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งกว่า 3 ปี มาแล้วที่มูลนิธิถันยรักษ์ฯ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ และทรู คอร์ปอเรชั่น โดยทรูปลูกปัญญา ร่วมกันปั้นแกนนำจิตอาสาต้านภัยมะเร็งเต้านมภายใต้กลยุทธ์ Train the Trainer จัดอบรมให้ความรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพ ส่งเสริมทักษะ (Up-Skill) และทบทวนความรู้ ความเข้าใจ (Re-Skill) เกี่ยวกับการตรวจเต้านมด้วยตนเอง รวมทั้งเสริมทักษะความเป็นผู้นำ การสื่อสารงานบริการสาธารณะ ตลอดจนเทคนิคการประชาสัมพันธ์ด้วยสื่อออนไลน์ต่างๆ ให้แก่อาจารย์และนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่งทั่วไทย กว่า 11,300 ชีวิต ที่ได้ลงพื้นที่ปฏิบัติภารกิจ knock door ให้ความรู้คนในชุมชนกว่า 68,000 คนทั่วภูมิภาค สามารถตรวจเต้านมด้วยตนเอง เพื่อคัดกรองความผิดปกติเบื้องต้น
ติดอาวุธพิชิตเต้าด้วยแอปพลิเคชัน BSE และ VCOURSE
อีกหนึ่งอาวุธสำคัญ คือการนำเทคโนโลยีระบบบันทึกการตรวจเต้านมด้วยตนเองในรูปแบบดิจิทัล มาปรับใช้ผ่านแอปพลิเคชัน BSE ที่มูลนิธิถันยรักษ์ฯ และทรู คอร์ปอเรชั่น ได้ร่วมกันพัฒนาขึ้น เพื่อให้จิตอาสาชมรมถันยรักษ์นำไปแนะนำและสอนวิธีการจดบันทึกผ่านแอปทุกครั้งที่ตรวจเต้าด้วยตนเอง ทำให้รู้เร็ว รักษาเร็ว เพิ่มโอกาสรอดชีวิตในที่สุด ยิ่งไปกว่านั้น ประชาชนทั่วไปที่สนใจความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับมะเร็งเต้านม และการตรวจเต้านมด้วยตนเอง สามารถศึกษาผ่านแพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์ VCOURSE โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย คลิก https://vcourse.ai/en/courses/697
Knock door ชุมชน เซฟชีวิต ลดเสี่ยงโรคร้าย
แกนนำจิตอาสา ชมรมถันยรักษ์ ที่ได้รับการติดปีกอัพสกิลแล้วจะเริ่มภารกิจอันท้าทายทันที จากประสบการณ์ตรง นายจักรกฤษ พลหนองหลวง จิตอาสานักศึกษา จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ที่ลงพื้นที่จริงได้แชร์ประสบการณ์ว่า "ด้วยองค์ความรู้ที่ได้รับจากการร่วมโครงการกับมูลนิธิถันยรักษ์ฯ และทรูปลูกปัญญา ทำให้สามารถนำทักษะไปต่อยอดการช่วยเหลือผู้คน โดยเคสที่ได้เจอคือคนใกล้ตัว ซึ่งได้แนะนำวิธีตรวจคัดกรองเบื้องต้น จนพบความผิดความปกติบริเวณเต้านม จึงได้รีบแนะนำส่งต่อเข้าสู่กระบวนการรักษา ซึ่งปัจจุบันผู้ป่วยรายนี้ได้อยู่ในการดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ทำให้รู้สึกภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือในครั้งนี้"
นางสาวพัชรพร พุกสุข จิตอาสานักศึกษา จากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ อีกหนึ่งจิตอาสาที่ลงพื้นที่ลุยเคาะประตูถึงหน้าบ้าน "ต้องขอบคุณโครงการฯ ที่ทำให้ได้ติดตามอาการผู้ป่วยมะเร็งเต้านมอย่างใกล้ชิด โดยได้นำอุปกรณ์เต้านมเทียมไปสาธิตการตรวจด้วยตนเองที่ถูกวิธี และแนะนำให้สังเกตอาการอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเป็นการป้องกันการกลับมาเป็นอีกครั้ง หรือถ้าพบว่าเป็นก็จะรับการเข้าสู่กระบวนการรักษาได้ทันท่วงที"
มะเร็งเต้านม ยิ่งตรวจเจอไว ยิ่งรักษาได้เร็ว
วันที่ 7 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันมะเร็งเต้านมโลก (World Breast Cancer Day) มูลนิธิถันยรักษ์ฯ และ ทรู คอร์ปอเรชั่น โดยทรูปลูกปัญญา ร่วมกันรณรงค์ต้านภัยมะเร็งเต้านมอย่างต่อเนื่อง ผ่านแคมเปญ "เต้า ต้อง ตรวจ…เพื่อคนที่เรารัก" แนะนำให้ผู้หญิงไทยทุกคนที่มีตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไปตรวจเต้านมด้วยตนเองทุกเดือน สำหรับผู้หญิงที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป แนะนำให้ตรวจประจำปีด้วยเครื่องแมมโมแกรม และเครื่องอัลตราซาวนด์ เพราะการป้องกันที่ดีที่สุด คือการค้นพบให้เร็วที่สุด ทั้งนี้สามารถติดต่อสอบถาม หรือนัดจองตรวจเต้านม โดยผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์ถันยรักษ์ โทร. 02-411-5657-9 หรือจองคิวผ่านแอปพลิเคชัน Thanyarak Application อีกทั้งขอเชิญชวนชาวไทยร่วมรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ภัยของมะเร็งเต้านม ผ่านกิจกรรม "เต้า ต้อง ตรวจ Pink Filter" ด้วย 3 ขั้นตอนง่ายๆ เพียงแต่งภาพด้วย Pink Filter แชร์บนโซเชียลมีเดียของตนเอง พร้อมใส่แฮชแท็ก คลิก https://thanyarak.or.th/saveyourbreast/ ติดตามข่าวสารความรู้เกี่ยวกับมะเร็งเต้านมที่ www.thanyarak.or.th และเฟสบุ๊ค Thanyarak Breast Center
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit