อุตสาหกรรมแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (Printed Circuit Board หรือ PCB) คลื่นลูกใหม่ กำลังกลายเป็นอุตสาหกรรมที่เข้ามาเปลี่ยนเกมในระดับโลก และขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจที่เน้นใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมไปถึงสนับสนุนการใช้ระบบอัจฉริยะและ AI โดยไทยกำลังก้าวขึ้นสู่การเป็นฐานผลิตสำคัญของ PCB ในระดับโลก แนวโน้มอุตสาหกรรม PCB เติบโตอย่างรวดเร็วและจะมีมูลค่ากว่า 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ในอีก 5 ปีข้างหน้า
อุตสาหกรรมทั่วโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายและโอกาส จากการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยีใหม่ ๆ โดยเฉพาะระบบอัจฉริยะและปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ซึ่งผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีสูงในปัจจุบันล้วนต้องใช้ PCB เป็นพื้นฐานสำคัญในการรองรับแอปพลิเคชันใหม่ ๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะภายในบ้าน คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน ยานยนต์ไฟฟ้า เครื่องมือแพทย์ ไปจนถึงดาต้าเซ็นเตอร์
นอกจากตลาดที่จะเติบโตอย่างรวดเร็วจากการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ แล้ว ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ สงครามการค้าและสงครามทางเทคโนโลยีที่รุนแรงมากขึ้น กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของกระแสการลงทุน เนื่องจากจีนและไต้หวันซึ่งเป็นฐานผลิตหลักสำหรับอุตสาหกรรม PCB ของโลก จำเป็นต้องบริหารความเสี่ยงโดยกระจายฐานผลิตและขยายห่วงโซ่อุปทานไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน โดยประเทศไทยถือเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญในการเป็นฐานผลิต PCB ในภูมิภาคนี้ ด้วยการสนับสนุนจากหน่วยงานของรัฐอย่างบีโอไอ ความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ระบบโลจิสติกส์ และคุณภาพของบุคลากร ทำให้ไทยมีโอกาสก้าวขึ้นสู่การเป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรม PCB ในระดับโลก
ไทยเตรียมพร้อมรับการเติบโตก้าวกระโดด
นฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นมา การลงทุนในอุตสาหกรรม PCB เติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยตั้งแต่เดือนมกราคม 2566 - กันยายน 2567 มีจำนวน 95 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 162,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงปี 2564 - 2565 ที่มีมูลค่าคำขอในกลุ่ม PCB เฉลี่ย 15,000 ล้านบาทต่อปี สะท้อนถึงความเชื่อมั่นต่อศักยภาพและความพร้อมของประเทศไทย
อุตสาหกรรม PCB ในประเทศไทย ก้าวสู่คลื่นการลงทุนลูกใหม่ ที่มีทั้งการขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่องจากกลุ่มผู้ผลิตเดิมที่มีฐานการผลิตในไทยอยู่แล้ว อย่างเช่น Mektec (ญี่ปุ่น) Fujikura (ญี่ปุ่น) Hansol (เกาหลี) Delta Electronics (ไต้หวัน) Cal-comp Electronics (ไต้หวัน) KCE (ไทย) และมีผู้ผลิต PCB รายใหม่ตัดสินใจเข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตใหม่ในไทย โดยเฉพาะจากจีนและไต้หวัน เช่น กลุ่ม ZDT, Unimicron, Compeq, WUS, Gold Circuit, Chin Poon, Dynamic Electronics, Unitech, Multi-Fineline และ Well Tek เป็นต้น ส่งผลให้ปัจจุบันประเทศไทยสามารถก้าวสู่ความเป็นผู้นำในการเป็นฐานการผลิต PCB อันดับ 1 ของอาเซียน และติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก ด้วยส่วนแบ่งตลาดที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 4% เป็น 10% เมื่อโรงงานเหล่านี้เปิดการผลิตตามแผนที่วางไว้ โดยแนวโน้มอุตสาหกรรม PCB ทั่วโลกยังเติบโตสูง คาดว่าอีก 5 ปีข้างหน้าอุตสาหกรรม PCB ทั่วโลกจะมีมูลค่ากว่า 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ
การเข้ามาลงทุนอย่างรวดเร็วของผู้ผลิต PCB ชั้นนำจำนวนมากในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ทำให้ไทยต้องเตรียมความพร้อม เมื่อโรงงานสร้างเสร็จและเริ่มผลิตได้ในช่วง 1 - 2 ปีจากนี้ ซึ่งสมาคมแผ่นวงจรพิมพ์ไทย (THPCA) คาดว่าจะมีความต้องการแรงงานอย่างน้อย 80,000 คน ในช่วง 2 ปีข้างหน้า โดยบีโอไอพร้อมให้การสนับสนุนใน 2 เรื่องที่สำคัญ คือ บุคลากร และห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ในด้านบุคลากร บีโอไอได้ร่วมมือกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และภาคเอกชน เร่งจัดหาและพัฒนาบุคลากรที่เหมาะสมให้กับผู้ผลิต PCB ผ่านการจัดกิจกรรม Job Matching และการจัดโปรแกรม Upskill และ Reskill ร่วมกับบริษัทต่าง ๆ
บีโอไอให้สิทธิประโยชน์ครอบคลุม Supply Chain
ในด้าน Supply Chain บีโอไอได้ปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุน โดยขยายขอบเขตการส่งเสริมอุตสาหกรรม PCB อย่างครบวงจร นอกจากการส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิต PCB และ PCBA แล้ว ยังเปิดให้การส่งเสริมกิจการสนับสนุนการผลิต PCB ได้แก่ Lamination, Drilling, Plating และ Routing กิจการผลิตวัตถุดิบสำคัญสำหรับการผลิต PCB ได้แก่ Copper Clad Laminate (CCL), Flexible CCL (FCCL) และ Prepreg และกิจการผลิตวัตถุดิบและวัสดุจำเป็นอื่น ๆ สำหรับการผลิต PCB เช่น Dry Film, Transfer Film, Backup Board เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีการจัดกิจกรรมเชื่อมโยง Supply Chain ภายในอุตสาหกรรม เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการไทยในการผลิตชิ้นส่วนและวัตถุดิบส่งให้กับผู้ผลิต PCB อีกด้วย
"อุตสาหกรรม PCB มีศักยภาพในการเติบโตสูง จากความต้องการของตลาดสมาร์ทโฟน อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งพัฒนาการของเทคโนโลยีระบบอัจฉริยะ และ AI ซึ่ง PCB ถือเป็นชิ้นส่วนสำคัญในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ คลื่นการลงทุนของกลุ่ม PCB ที่เข้ามาสู่ประเทศไทยในครั้งนี้จะช่วยสร้างงานที่มีคุณค่าสูง เกิดการพัฒนาบุคลากร การพัฒนา Supply Chain ในประเทศ เสริมความแข็งแกร่งของฐานการผลิตอุตสาหกรรมอื่น ๆ ช่วยเพิ่มมูลค่าการส่งออก และผลักดันให้ไทยขึ้นมาอยู่แถวหน้าของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในภูมิภาค" นฤตม์ กล่าว
PCB ไม่เพียงแต่จะกลายเป็นผู้เล่นหลักในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น แต่ยังเป็นแรงผลักดันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ และส่งเสริมให้ไทยมีโอกาสก้าวสู่การเป็นผู้นำคลื่นลูกใหม่ในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit