กรมอนามัย แจงเหตุชาวปางหมูร้องเรียนเหม็นกลิ่นยางมะตอย เร่งลงพื้นที่ดูแลประชาชน

16 Oct 2024

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ห่วงประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากกลิ่นเหม็นยางมะตอย ร่วมมือกับสำนักงานสาธารณสุขแม่ฮ่องสอน และองค์การบริหารส่วนตำบลปางหมู อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงการเผาแอสฟิลท์คอนกรีตหรือยางมะตอย เพื่อคุ้มครองสุขภาพและสภาวะความเป็นอยู่ที่เหมาะสมของประซาชาชนในพื้นที่

กรมอนามัย แจงเหตุชาวปางหมูร้องเรียนเหม็นกลิ่นยางมะตอย เร่งลงพื้นที่ดูแลประชาชน

นายแพทย์ธิติ แสวงธรรม รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากกรณีที่กำนันตำบลปางหมู และสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลปางหมู อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้นำประชาชนเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการเผาแอสฟิลท์คอนกรีตหรือยางมะตอยของโรงงานในพื้นที่ ซึ่งมีกลิ่นเหม็นรบกวนส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนกว่า 2,000 ราย ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง ทั้งนี้ องค์การบริหารส่วนตำบลปางหมู ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2567 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน และสาธารณสุขอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน โดยได้มีการตรวจวัดปริมาณสารเคมีที่อาจก่อให้เกิดกลิ่น ณ บริเวณแหล่งก่อมลพิษ ประกอบด้วย สารฟอร์มัลดีไฮด์ สารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย ก๊าชคาร์บอนมอนนอกไซด์ และก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์ จากผลการตรวจวัดพบว่าปริมาณสารเคมีดังกล่าว มีค่าไม่เกินมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด แต่จากการสอบถามข้อมูลกับประชาชนผู้พักอาศัยในบริเวณหมู่ 11 พบว่ายังคงได้รับผลกระทบเรื่องกลิ่นจากการเผายางมะตอยของโรงงานดังกล่าว

นายแพทย์ธิติ แสวงธรรม กล่าวต่อไปว่า องค์การบริหารส่วนตำบลปางหมู จึงได้ประสานสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อร่วมดำเนินการตรวจสอบปริมาณความเข้มข้นกลิ่น นอกจากนี้ สำนักสาธารณสุขจังหวัดแม่ฮ่องสอนยังได้ประสานขอความร่วมมือไปยังศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่ กรมอนามัย ในการร่วมตรวจสอบและพิสูจน์ข้อเท็จจริงเรื่องร้องเรียนเหตุรำคาญเรื่องกลิ่น โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการกำหนดแผนในการร่วมลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงซึ่งเป็นไปตามกระบวนการจัดการเหตุรำคาญตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 หากข้อเท็จจริงปรากฏว่าการประกอบกิจการดังกล่าว ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนหรือส่งผลกระทบต่อสภาวะความเป็นอยู่ที่เหมาะสมกับการดำรงชีพ จะถือว่าเป็นเหตุรำคาญตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 ซึ่งเจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจในการออกคำสั่งให้เจ้าของ หรือผู้ดำเนินกิจการปรับปรุงแก้ไขและระงับเหตุรำคาญภายในระยะยะเวลาที่เห็นสมควร และหากพบว่าเจ้าของหรือผู้ดำเนินกิจการไม่ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขและเหตุรำคาญยังคงเกิดขึ้นโดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจเปรียบเทียบปรับหรือดำเนินคดีต่อไปแล้วแต่กรณี

"ทั้งนี้ กรมอนามัย โดยศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่ และสำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม จะร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแม่ฮ่องสอน พร้อมให้การสนับสนุนองค์การบริหารส่วนตำบลปางหมูในการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติม เพื่อแก้ไขปัญหาเหตุรำคาญและสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุขอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีเป้าหมายเพื่อคุ้มครองสุขภาพและสภาวะความเป็นอยู่ที่เหมาะสมของประซาชาชนในพื้นที่ต่อไป" รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว