ธนาคารกรุงเทพ ส่งมาตรการชุดใหญ่ช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่มที่ถูกน้ำท่วม ด้วยมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย

16 Oct 2024

ธนาคารกรุงเทพ ส่งมาตรการชุดใหญ่ช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่มที่ถูกน้ำท่วม ด้วยมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ปี 2567 สำหรับลูกค้าสินเชื่อธุรกิจและลูกค้าสินเชื่อรายย่อย ยืดหยัด "เพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน" เคียงข้างลูกค้าและสังคมไทยในทุกสถานการณ์

ธนาคารกรุงเทพ ส่งมาตรการชุดใหญ่ช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่มที่ถูกน้ำท่วม ด้วยมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย

ธนาคารกรุงเทพ ห่วงใยพี่น้องประชาชนและลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย อัดมาตรการชุดใหญ่ ช่วยเหลือลูกค้าสินเชื่อทุกกลุ่ม หวังบรรเทาความเดือนร้อนและความเสียหายจากน้ำท่วม ทั้งลดยอดผ่อน พักชำระเงินต้น ปรับเงื่อนไข ปรับโครงสร้างหนี้ ปล่อยสินเชื่อใหม่ ช่วยฟื้นฟูธุรกิจและความเป็นอยู่ ยืนหยัดเป็น 'เพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน' เคียงข้างลูกค้าและสังคมไทยในทุกสถานการณ์

นายศิริเดช เอื้องอุดมสิน รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารกรุงเทพ มีความห่วงใยต่อพี่น้องประชาชนและลูกค้าในทุกพื้นที่ประสบอุทกภัย โดยได้ออกมาตรการผ่อนปรน การชำระหนี้และสนับสนุนสินเชื่อ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนผู้ได้รับผลกระทบ โดยครอบคลุมลูกค้าทุกกลุ่ม ทั้งลูกค้าสินเชื่อธุรกิจและลูกค้าสินเชื่อรายย่อย ที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากเหตุอุทกภัย ปี 2567 ในครั้งนี้ ได้แก่

ลูกค้าสินเชื่อธุรกิจ

  • การผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของลูกหนี้ เช่น การลดยอดผ่อนชำระ การขยายระยะเวลาการชำระหนี้ การปลอดการชำระเงินต้นเป็นการชั่วคราว
  • สนับสนุนสินเชื่อเพิ่มเติม เพื่อเสริมสภาพคล่องระยะสั้นให้กับกิจการ และเพื่อฟื้นฟู ลงทุน ปรับปรุงกิจการ
  • มาตรการพักชำระค่าธรรมเนียมการค้ำประกันสินเชื่อและค่าจัดการค้ำประกันของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เป็นระยะเวลา 6 เดือน

ลูกค้าสินเชื่อรายย่อย ธนาคารได้จัดเตรียมหลากหลายมาตรการ โดยจะพิจารณาให้ความช่วยเหลือตามระดับความรุนแรงของผลกระทบที่ลูกค้าได้รับ ประกอบด้วย

บัตรเครดิต

  • ปรับลดอัตราผ่อนชำระหนี้ขั้นต่ำ (Min Pay) จากอัตราปกติลง 3% เป็นระยะเวลา 6-12 เดือน
  • ลดดอกเบี้ยค้างชำระ 25%-75% ไม่เกิน 3 รอบบัญชีหรือสูงสุดไม่เกิน 90 วัน
  • ปรับปรุงโครงสร้างหนี้

สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ

  • สินเชื่อเงินกู้บัวหลวงสุขใจ - ลดอัตราดอกเบี้ยจากอัตราปกติลง 1% ไม่เกิน 3-6 เดือน หรือ พักชำระเงินต้น โดยยังคงชำระดอกเบี้ยทั้งจำนวน เป็นเวลา 3-6 เดือน
  • สินเชื่อหมุนเวียนบัวหลวงอุ่นใจ - ลดอัตราดอกเบี้ยจากอัตราปกติลง 1% ไม่เกิน 3-6 เดือน

สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อที่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน และสินเชื่อส่วนบุคคล

  • ลดยอดผ่อนชำระรายเดือนลงสูงสุด 40% (ชำระดอกเบี้ยทั้งจำนวนและชำระเงินต้นบางส่วน) ระยะเวลาไม่เกิน 6-12 เดือน
  • ผ่อนชำระตามเงื่อนไขเดิม และลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.5% เป็นเวลา 3-6 เดือน
  • พักชำระเงินต้น ยังคงชำระดอกเบี้ยทั้งจำนวน ระยะเวลาไม่เกิน 3-6 เดือน
  • พักชำระเงินต้น ยังคงชำระดอกเบี้ยบางส่วน ไม่ต่ำกว่า 70% เป็นเวลา 3 เดือน หรือไม่ต่ำกว่า 50% เป็นเวลา 6 เดือน โดยดอกเบี้ยส่วนที่เหลือจะตั้งพักเอาไว้

นอกจากนี้ ธนาคารยังพร้อมสนับสนุนสินเชื่อเงินกู้บัวหลวงพูนผล มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน ผ่อนได้นาน 5 ปี อัตราดอกเบี้ยพิเศษ MRR-2% ต่อปี เพื่อใช้ซ่อมแซมที่อยู่อาศัยและซื้อเฟอร์นิเจอร์ทดแทน

ลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์อุทกภัย ปี 2567 สามารถแจ้งความประสงค์ขอเข้าร่วมมาตรการภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2567 ได้ที่ สาขา สำนักธุรกิจ เจ้าหน้าที่ธุรกิจสัมพันธ์ ศูนย์สินเชื่ออุปโภคบริโภค สายบัตรเครดิต เว็บไซต์ธนาคาร www.bangkokbank.com หรือ ศูนย์บริการลูกค้าธนาคาร (Call center) โทร. 1333 หรือ โทร. 02 645 5555

"ธนาคารมีความห่วงใยและตระหนักถึงปัญหาความเดือดร้อนของลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ธนาคารกรุงเทพพร้อมเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับลูกค้าสินเชื่อทุกกลุ่ม ผ่านมาตรการช่วยเหลือและผ่อนปรนการชำระหนี้ รวมถึงมีมาตรการสินเชื่อเพิ่มเติมที่จะช่วยฟื้นฟูธุรกิจและความเป็นอยู่ ซึ่งจะช่วยให้ลูกค้าก้าวข้ามช่วงเวลาที่ยากลำบากจนกลับมาเดินหน้าได้อีกครั้ง โดยมีธนาคารพร้อมสนับสนุนอยู่เป็น "เพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน" คอยเคียงข้างลูกค้าและสังคมไทยในทุกสถานการณ์" นายศิริเดชกล่าว

ทั้งนี้ ธนาคารกรุงเทพให้ความสำคัญกับหลักการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) ตามแนวทาง ธปท. โดยส่งเสริมให้ลูกค้ากู้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนไหว และการพิจารณาให้ความช่วยเหลือเป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และระเบียบปฏิบัติของธนาคาร