ซีพีเอฟ หนุนกรมประมงปราบปลาหมอคางดำ ลงแขกลงคลองใน 13 จังหวัด กำจัดปลาได้กว่า 15,000 กก.

28 Aug 2024

ประมงจังหวัดราชบุรี ร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมประมง หน่วยงานในพื้นที่ ผู้นำชุมชน ชาวบ้านในพื้นที่ และเจ้าหน้าที่ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ลงพื้นที่ทำกิจกรรม "ลงแขกลงคลอง" กำจัดปลาหมอคางดำออกจากลำคลอง ในตำบลโพหัก อำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี จนถึงวันนี้ ซีพีเอฟเดินหน้าสนับสนุนกรมประมงปฏิบัติการจับปลาหมอคางดำในกิจกรรม ลงแขกลงคลองแล้วใน 13 จังหวัด ช่วยล่าปลาได้ร่วม 15,000 กิโลกรัม พร้อมมอบปลานักล่าปล่อยสู่แหล่งน้ำแล้ว 64,000 ตัว

ซีพีเอฟ  หนุนกรมประมงปราบปลาหมอคางดำ ลงแขกลงคลองใน 13 จังหวัด กำจัดปลาได้กว่า 15,000 กก.

นายอนันต์ สุนทร ประมงจังหวัดราชบุรี กล่าวว่า สถานการณ์ปลาหมอคางดำในราชบุรีพบใน 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง โพธาราม ดำเนินสะดวก ปากท่อ บางแพ และวัดเพลง สำหรับกิจกรรมที่จัดขึ้นครั้งนี้ ที่คลองในตำบลโพหัก อ.บางแพ ได้รับความร่วมมือจากชุมชนและซีพีเอฟใช้แหและตาข่ายจับปลาหมอคางดำขึ้นมาได้ 20 กิโลกรัม จึงแบ่งปันให้ชุมชนนำกลับไปบริโภค

"ในราชบุรียังพบปลาหมอคางดำไม่หนาแน่น มีการแพร่กระจายประมาณ 10% ของสัตว์น้ำทั้งหมด ประมงราชบุรีกำหนดแผนกำจัดปลาในแหล่งน้ำอย่างจริงจัง มีทีมเฉพาะกิจออกไปจับปลาในคลองต่างๆ ทันทีที่ได้รับแจ้งเบาะแส และมอบเครื่องมือประมงให้ผู้นำชุมชนเพื่อช่วยกันจับปลาขึ้นจากแหล่งน้ำให้มากที่สุด เตรียมปล่อยปลาผู้ล่าลงไปเพื่อควบคุมประชากรปลาหมอคางดำ" นายอนันต์กล่าว

ด้านนายอดิศร์ กฤษณวงศ์ ผู้บริหารสูงสุดสายงานรัฐกิจและเอกชนสัมพันธ์ ซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัทสนับสนุนกรมประมงจัดการปัญหาปลาหมอคางดำโดยเร็วที่สุด โดยดำเนินการ 5 โครงการเชิงรุก รวมถึงการสนับสนุนการจัด "ลงแขกลงคลอง" ในพื้นที่รวม 13 จังหวัด ประกอบด้วย สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สมุทรปราการฉะเชิงเทรา ชลบุรี จันทบุรี ระยอง เพชรบุรี นครปฐม ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ล่าสุดราชบุรี และพร้อมขยายความร่วมมือกับจังหวัดอื่นๆ ต่อเนื่อง เพื่อร่วมมือฟื้นฟูระบบนิเวศแหล่งน้ำ

ซีพีเอฟได้ประกาศบูรณาการขับเคลื่อน 5 โครงการเชิงรุกเพื่อร่วมจับปลาหมอคางดำออกจากแหล่งน้ำ ฟื้นฟูระบบนิเวศเต็มกำลัง ประกอบด้วย โครงการร่วมกับกรมประมงรับซื้อปลาเพื่อทำปลาป่น 2,000,000 กิโลกรัม ที่ปัจจุบันร่วมกับโรงงานปลาป่นในสมุทรสาครจัดซื้อปลาไปแล้วกว่า 800,000 กิโลกรัม โครงการปล่อยปลานักล่า 200,000 ตัว จนถึงวันนี้ปล่อยปลากะพงลงแหล่งน้ำแล้ว 64,000 ตัว รวมถึง โครงการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง นำปลาไปใช้ประโยชน์ เช่น แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร และโครงการสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญและมหาวิทยาลัยในการศึกษาวิจัยนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีเพื่อตัดวงจรและควบคุมการแพร่พันธุ์ของปลาชนิดนี้ในระยะยาว โดยมีมหาวิทยาลัยแสดงเจตนารมณ์ร่วมโครงการวิจัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยแม่โจ้./

 

 

HTML::image(