พด. เดินหน้าเร่งให้ความช่วยเหลือเกษตรกร หมอดินอาสาผู้ประสบภัยอุทกภัยและน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ภาคเหนือ พร้อมเตรียมแผนพื้นฟูพื้นที่การเกษตรภายหลังน้ำลด
นายปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า ตามที่ได้รับมอบหมายนโยบายจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ติดตามและแก้ไขปัญหาอุทกภัย เพื่อเร่งช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบโดยเร็วจากเหตุการณ์ฝนตกหนักต่อเนื่องในพื้นที่ภาคเหนือ ระหว่างวันที่ 19 - 21 สิงหาคม 2567 ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ น้ำป่าไหลเข้าท่วมพื้นที่ทางการเกษตรได้รับความเสียหาย ภายหลังเกิดเหตุการณ์ได้สั่งการให้ ดร.อาทิตย์ ศุขเกษม นายอนุวัชร โพธินาม และดร.สุมิตรา วัฒนา รองอธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทันที พร้อมระดมกำลังเจ้าหน้าที่จากสำนักงานพัฒนาที่ดินเขตและสถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดในพื้นที่เกิดสถานการณ์อุทกภัย ให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 67 ในพื้นที่จังหวัด เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ ซึ่งพบว่า พื้นที่เกษตรกรรมได้รับความเสียหายไม่น้อยกว่า 2 หมื่นไร่ (ข้อมูล ณ 22 ส.ค. 67) โดยได้มอบถุงยังชีพและให้กำลังใจแก่เกษตรกร หมอดินอาสาผู้ประสบอุทกภัย ที่พักอาศัย ศูนย์เรียนรู้ด้านการพัฒนาที่ดินและพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายจากอุทกภัยในครั้งนี้ โดยกรมฯ มีแนวทางการจัดการดิน การฟื้นฟูและปรับปรุงบำรุงดินในพื้นที่การเกษตรภายหลังน้ำลดลง ดังนี้
พื้นที่ลุ่มที่เป็นนาข้าว เกษตรกรควรรีบทำการระบายน้ำออกโดยเร็วที่สุด ปล่อยให้ดินแห้งเพื่อไม่ให้ต้นข้าวเน่าตาย ให้ใช้ผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีชีวภาพของกรมฯ เช่น น้ำหมักชีวภาพ พด. 2 อัตรา 5 ลิตร/ไร่ ใส่ในนาข้าวเพื่อช่วยเร่งการเจริญเติบโต ในกรณีน้ำท่วมขังแปลงนาต้นข้าวเน่าตาย หรือบ้านเรือนชุมชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่เขตเมือง มีน้ำนิ่งท่วมขัง เน่าเหม็น ให้ใช้สารบำบัดน้ำเสียซึ่งผลิตโดยใช้ สารเร่งซุปเปอร์ พด. 6 เพื่อบำบัดน้ำเน่าเสีย ช่วยขจัดกลิ่นเหม็น จำนวน 15 - 25 ลิตรต่อไร่ ในน้ำท่วมขังลึก 10-15 ซ.ม. หากระดับน้ำในพื้นที่มีความลึกเฉลี่ย 75 ซ.ม ให้ใช้สารบำบัดน้ำเสียเฉลี่ย 120 ลิตรต่อไร่ หากน้ำขังมีความลึกมากน้อยกว่าข้างต้น ให้ใช้อัตรา 1 ลิตร ต่อปริมาณน้ำในนา 10 ลูกบาศก์เมตร ทุก ๆ 10 วัน หรือถ้ามีกลิ่นเหม็นมากใส่ทุก 3 วัน จนกว่าจะหมดกลิ่นเหม็นที่มีน้ำเน่าท่วมขัง
สำหรับสวนไม้ผล ให้ทำทางระบายน้ำให้น้ำไหลออก ห้ามนำเครื่องจักรหนักเข้าไปเหยียบย่ำในพื้นที่โดยทันที และห้ามเข้าเหยียบย่ำโคนต้นไม้ เพราะดินที่ถูกน้ำท่วมจะมีโครงสร้างที่ง่ายต่อการถูกทำลายและเกิดการอัดแน่นได้ง่าย ทำให้ดินขาดอากาศต้นไม้เกิดการทรุดโทรม ถ้าต้นไม้จะล้มให้ทำไม้ค้ำยัน เมื่อดินแห้งแล้วให้พรวนดินเพื่อให้ดินแห้งเร็วขึ้น หากพบปัญหาโรครากเน่าโคนเน่าที่เกิดจากเชื้อรา แนะให้ใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด. 3 หรือ พด.14 ไตรโคเดอร์มา ที่มีคุณสมบัติในการช่วยป้องกันโรครากเน่าโคนเน่าในต้นพืชได้อย่างดี และให้มีการพักดินในพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมสักระยะหนึ่ง ซึ่งการพักดินเป็นการปรับปรุงบำรุงดินด้วยวิธีหนึ่ง โดยอาจปลูกพืชตระกูลถั่วคลุมดินไว้ เช่น ปอเทือง ถั่วพุ่ม ถั่วพร้า เป็นต้น และไถกลบทำปุ๋ยพืชสด ทั้งนี้ กรมพัฒนาที่ดิน โดยสถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดที่อยู่ในพื้นที่เกิดสถานการณ์อุทกภัย จะเร่งดำเนินการเข้าสำรวจพื้นที่ และให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลจัดการดินภายหลังน้ำลดให้เหมาะสมตามสภาพพื้นที่ และชนิดพืช รวมทั้งการใช้ผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีชีวภาพ สารเร่งซุปเปอร์ พด. ต่าง ๆ ของกรมฯ ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับหมอดินอาสา เกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยภาคเหนือต่อไป
อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวอีกว่า แม้ว่าสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือจะเริ่มคลี่คลายแล้ว แต่ปริมาณน้ำฝนที่เกิดสะสมจากเหตุฝนตกหนัก ส่งผลให้น้ำในระดับน้ำแม่น้ำปิง วัง ยม น่าน เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับในช่วงเดือนกันยายน - ตุลาคม ของประเทศไทย เป็นช่วงที่มีฝนตกชุก หากมีปริมาณฝนเพิ่มขึ้น จะมีแนวโน้มที่ปริมาณน้ำเอ่อล้นตลิ่งเข้าพื้นที่การเกษตร รวมทั้งระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง ดังนั้น ขอให้เกษตรกรเฝ้าระวังและเตรียมการไว้ก่อนน้ำท่วม โดยการปลูกพืชไร่อายุสั้นที่สามารถเก็บเกี่ยวได้ก่อนจะมีน้ำท่วมขัง ปลูกให้มีระยะถี่กว่าปกติ และวางแถวพืชขวางความลาดเทของพื้นที่ หรือวางขวางทิศทางการไหลของน้ำ เมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว ให้ทิ้งตอซังไว้ในพื้นที่โดยไม่ต้องไถกลบ ทั้งนี้ตอซังจะช่วยลดความรุนแรงของกระแสน้ำที่ไหลบ่า ช่วยยึดหน้าดินไม่ให้น้ำพัดพาออกไปจากพื้นที่อีกด้วย