สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา (สคร.12 สงขลา) แจ้งเตือนพี่น้องประชาชนภาคใต้ตอนล่าง เตรียมความพร้อมรับมือหากเกิดน้ำท่วมฉับพลัน ระมัดระวังโรคและภัยสุขภาพที่มากับน้ำท่วม และเน้นย้ำให้ติดตามข้อมูลข่าวสารสภาพอากาศและปริมาณน้ำในพื้นที่ พร้อมทั้งรับฟังการแจ้งเตือนภัยจากหน่วยงานราชการอย่างใกล้ชิด
นายแพทย์เฉลิมพล โอสถพรมมา ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา กล่าวว่า เนื่องด้วยขณะนี้บางพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง มีฝนตกหนัก ซึ่งอาจจะทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันได้ สคร.12 สงขลา ห่วงใยพี่น้องประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ขอให้เตรียมความพร้อมหากเกิดน้ำท่วมฉับพลัน ด้วยการติดตามข้อมูลข่าวสาร ข้อมูลสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำท่วมอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะบ้านเรือนที่อาศัยอยู่ติดลำน้ำ น้ำตก ภูเขา พื้นที่เสี่ยงที่มีประวัติน้ำท่วมมาก่อน และพื้นที่เสี่ยงต่อการพลัดตก ถูกน้ำพัด และจมน้ำ จัดเตรียมสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นไว้ใช้ในช่วงน้ำท่วม โดยเฉพาะเครื่องอุปโภคบริโภค น้ำดื่มสะอาด ยารักษาโรค และชุดปฐมพยาบาล ถ่านไฟฉาย เทียนไข เครื่องมือสื่อสาร เช่น วิทยุสื่อสาร และเอกสารสำคัญต่างๆ เช่น บัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน ฯลฯ รวมทั้งศึกษาช่องทางติดต่อกับหน่วยงานในท้องถิ่น ชุมชน สำหรับความต้องการช่วยเหลือกรณีพิเศษ เช่น เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้พิการ หากมีสัตว์เลี้ยง ให้เตรียมสิ่งของจำเป็นสำหรับการดูแลสัตว์ เช่น อาหาร พื้นที่สำหรับสัตว์ รวมทั้งการป้องกันโรคที่อาจเกิดจากสัตว์สู่คน
สำหรับโรคและภัยสุขภาพที่ต้องระมัดระวังหากเกิดเหตุการณ์น้ำท่วม ได้แก่ 1.กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ คือ โรคไข้หวัดใหญ่และโรคปอดบวม 2.กลุ่มโรคติดต่อทางเดินอาหารและน้ำ คือ โรคอาหารเป็นพิษ และโรคอุจจาระร่วง และ 3.กลุ่มโรคที่มักเกิดตามมากับน้ำท่วม คือ โรคเลปโตสไปโรสิสหรือโรคฉี่หนู โรคไข้เลือดออก โรคตาแดง และโรคน้ำกัดเท้า ส่วนภัยสุขภาพที่ต้องระวัง คือสัตว์แมลงมีพิษกัด/ต่อย เช่น งู แมงป่อง ตะขาบ เป็นต้น ไฟฟ้าดูด ไฟฟ้าช็อต รวมถึงต้องระวังการจมน้ำ การขับขี่ยานพาหนะบริเวณน้ำไหลผ่าน หรือขับรถฝ่ากระแสน้ำท่วม เพราะระดับน้ำเพียง 6 นิ้ว ก็ทำให้รถเสียหลักและล้มได้
นายแพทย์เฉลิมพล กล่าวว่า สคร.12 สงขลา ห่วงใยพี่น้องประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ขอแนะนำวิธีป้องกันโรคและภัยสุขภาพ หากเกิดฝนตกหนักหรือน้ำท่วม ดังนี้ 1.กินอาหารที่ปรุงสุก ร้อน สะอาด 2.ไม่ทิ้งขยะทุกชนิด หรือขับถ่ายของเสียลงในน้ำที่ท่วมขัง 3.หากจำเป็นต้องเดินลุยน้ำเป็นเวลานาน ควรใส่รองเท้าบูททุกครั้ง แล้วรีบทำความสะอาดร่างกายด้วยน้ำสะอาดและเช็ดให้แห้งทันที 4.ไม่ปล่อยให้เด็กเล็กลงเล่นน้ำโดยลำพัง เพราะอาจเกิดอุบัติเหตุจมน้ำ 5.หมั่นสำรวจพื้นที่บริเวณรอบบ้าน และสำรวจเสื้อผ้าก่อนสวมใส่ ป้องกันแมลงหรือสัตว์มีพิษที่หนีน้ำมาหลบซ่อนกัดต่อย 6.ไม่ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าขณะตัวเปียกชื้น ห้ามใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่โดนน้ำท่วม และหลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำเข้าใกล้ปลั๊กไฟ สายไฟหรือเสาไฟฟ้า หากเกิดไฟฟ้ารั่ว จะมีกระแสไฟฟ้ากระจายเป็นวงกว้างไม่ต่ำกว่า 3 เมตร
และที่สำคัญ ขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลข่าวสารสภาพอากาศ การแจ้งเตือนภัยจากหน่วยงานราชการ และเตรียมความพร้อมอยู่เสมอ หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit