SCB FM มองเงินบาทมีแนวโน้ม Sidesways โดยในระยะสั้นต้องจับตา ผลการประชุม FOMC เลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ และราคาทองคำที่ผันผวน

19 Mar 2024

กลุ่มงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB Financial Markets: SCB FM) เผยว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เดือนที่ผ่านมาผันผวนสูงตามเลขเศรษฐกิจ ในระยะต่อไป มองว่ายังเคลื่อนไหว Sideways ในระดับสูง โดยต้องจับตาผลการประชุม FOMC ที่คาดว่าจะคงดอกเบี้ย และเลข PCE ซึ่ง SCB FM มอง Treasury Yield อายุ 10 ปี ที่กรอบราว 4.15-4.45% ในช่วง 1 เดือนนี้ ด้านอัตราดอกเบี้ยไทย ตลาดมอง กนง. จะลดดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้งในปีนี้อย่างค่อยเป็นค่อยไป อย่างไรก็ดี มีโอกาสที่ กนง. จะลดดอกเบี้ยเร็วกว่าที่ตลาดประเมิน โดยอาจลดดอกเบี้ย 2 ครั้งติดต่อกันในเดือน เม.ย. และ มิ.ย. จึงแนะให้ลูกค้าปิดความเสี่ยงดอกเบี้ยลงเร็วไว้ ด้านค่าเงินบาทเดือนที่ผ่านมาแข็งค่าขึ้นตามราคาทองคำและสกุลเงินภูมิภาค แต่อ่อนค่าจากเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ ในระยะต่อไป มองว่าอาจเคลื่อนไหว Sideways ในกรอบ 35.50-36.00

SCB FM มองเงินบาทมีแนวโน้ม Sidesways โดยในระยะสั้นต้องจับตา ผลการประชุม FOMC เลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ และราคาทองคำที่ผันผวน

นายแพททริก ปูเลีย ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (US Treasury yields) เดือนที่ผ่านมาผันผวนสูงตามตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยในช่วงที่เลขออกมาแย่กว่าคาด (เช่น ISM และยอดคำสั่งซื้อโรงงาน) Yields ปรับลดลงค่อนข้างเร็ว แต่หลังจากดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ของสหรัฐฯ ออกมาสูงกว่าคาด Treasury yields กลับมาสูงขึ้น ซึ่งนายแพททริกมองว่า Treasury yields ในระยะต่อไปมีแนวโน้มเคลื่อนไหว Sideways ในระดับสูง โดยมอง Yield อายุ 10 ปี ที่กรอบราว 4.15-4.45% ในช่วง 1 เดือนนี้

ประเด็นที่ต้องจับตาในช่วงนี้คือผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) ซึ่งมีโอกาสที่ Fed จะส่งสัญญาณ Hawkish ทำให้ Yields อาจขึ้นต่อได้เล็กน้อย กล่าวคือ 1) Fed น่าจะปรับประมาณการเศรษฐกิจขึ้นหลังเลขการจ้างงาน (Payroll) ยังออกมาดีกว่าคาด ชั่วโมงการทำงานสูงขึ้น ขณะที่ค่าจ้างก็ยังขยายตัวดี และ 2) มีโอกาสที่ Dot plot รอบนี้อาจถูกปรับสูงขึ้น เพราะ SCB FM ประเมินว่า Nominal neutral rate ณ สิ้นปีนี้อาจอยู่ที่ราว 4.5% ทำให้ Fed อาจคง Dot plot ปีนี้ตามเดิม อย่างไรก็ดี ในปี 2025-26 Neutral rate มีแนวโน้มอยู่ที่ราว 3.9% และ 3.6% ทำให้มีโอกาสที่ Dot plot อาจถูกปรับขึ้นได้

อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยที่อาจทำให้ US Treasury yields ลดลงได้ ไม่ว่าจะเป็นเลขเงินเฟ้อ (Core PCE) ของสหรัฐฯ เดือน ก.พ. ที่มีแนวโน้มออกมาชะลอลง จากดัชนีราคาภาคบริการ (Supercore) เช่น บริการทางการเงิน บริการสุขภาพ และบริการด้านอาหาร รวมถึง ช่วงที่ผ่านมา Yields ปรับสูงขึ้นมาเร็วแล้ว และหากตลาดกลับมา price-in rate cuts อีก ก็มีโอกาสที่จะเกิดการปรับฐาน ทำให้ Yields ลดลงได้

สำหรับมุมมองอัตราดอกเบี้ยไทย ตลาดมอง กนง. จะลดดอกเบี้ยนโยบายอย่างค่อยเป็นค่อยไป 2 ครั้งในปีนี้ โดยมีโอกาส 80% ที่จะลดดอกเบี้ยครั้งแรกเดือน เม.ย. และจะลดอีกครั้งในเดือน ต.ค. อย่างไรก็ดี SCB FM มองว่าโอกาสที่ กนง. จะลดดอกเบี้ยเร็วกว่าที่ตลาดคาดมีสูงขึ้น โดยอาจลดดอกเบี้ย 2 ครั้งติดต่อกันในเดือน เม.ย. และ มิ.ย. เนื่องจาก 1) Neutral rate ไทยต่ำลง ตามศักยภาพเศรษฐกิจที่ลดลงจากปัญหาเชิงโครงสร้าง จึงทำให้ กนง. อาจลดดอกเบี้ยเพื่อประคับประคองเศรษฐกิจต่อไป 2) ค่าเฉลี่ยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของปีนี้คาดว่าจะลดลงเหลือ 0.8% ต่ำกว่ากรอบเป้าหมายของ ธปท. และ 3) คุณภาพสินเชื่อบุคคลธรรมดาด้อยลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล ดังนั้น SCB FM แนะให้ลูกค้าอาจพิจารณา Receive fixed rate ผ่าน THOR OIS อายุ 5 ปี ที่ราว 2.25% เนื่องจาก 1) ความชันของ Curve ช่วง 5Y ยังสูง และ 2) เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำจากปัจจัยโครงสร้าง ทำให้มีความโอกาสที่ดอกเบี้ยในระยะกลางถึงยาวอาจลดต่ำกว่านี้ได้อีก สำหรับลูกค้าที่ต้องการกู้เงินและล้อคต้นทุนอัตราดอกเบี้ย SCB FM มองว่าโอกาสที่ กนง. จะลดดอกเบี้ยมากกว่า 2 ครั้งปีนี้มีน้อย ลูกค้าจึงอาจพิจารณา Pay fixed ผ่าน THOR OIS 2y ราว 2.00% หรือต่ำกว่าได้

ด้านตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ในเดือนที่ผ่านมาเงินบาทอ่อนค่าน้อยกว่าที่คาด เนื่องจาก 1) ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ (ฝั่ง soft data) ออกมาชะลอลงกว่าคาด 2) ราคาทองคำและ Bitcoin สูงขึ้นทำ New high ต่อเนื่อง และ 3) ค่าเงินสกุลภูมิภาคแข็งค่าขึ้น โดยเงินหยวนแข็งค่าจากข่าวเรื่องการออกมาตรการภาครัฐและเลขเงินเฟ้อที่กลับมาบวก ส่วนเงินเยนก่อนหน้านี้แข็งค่าจากข่าวการขึ้นดอกเบี้ยของ BOJ

สำหรับมุมมองเงินบาทในระยะต่อไป คาดว่าเงินบาทโดยเฉลี่ยจะอยู่ในกรอบ 35.70-36.20 ในช่วง 1 เดือนจากนี้ โดยปัจจัยที่อาจทำให้เงินบาทอ่อนค่าได้คือ การประชุม FOMC สัปดาห์นี้ ซึ่งหาก USDTHB อ่อนค่าที่ราว 36.10-36.40 ก็มองว่าเป็นระดับที่ผู้ส่งออกอาจพิจารณาขายได้ ส่วน ส่วนปัจจัยที่อาจทำให้เงินบาทแข็งค่าได้คือ เลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่อาจชะลอลง และการปรับฐานของราคา Bitcoin ซึ่งอาจทำให้ราคาทองคำลดลง โดยหาก USDTHB แข็งค่าที่ราว 35.40-35.70 ก็มองว่าเป็นระดับที่ผู้นำเข้าอาจพิจารณาซื้อได้