กระทรวงเกษตรฯ รณรงค์เปลี่ยนซังข้าวโพดและเศษพืช เป็นปุ๋ยหมักบำรุงดิน ลดปัญหาหมอกควันและ PM 2.5

18 Mar 2024

วันพฤหัสบดีที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2567 เวลา 15.00 น. ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานพิธีเปิดงาน "โครงการรณรงค์การทำปุ๋ยหมักจากซังข้าวโพดและเศษพืช เพื่อปรับปรุงบำรุงดิน และลดปัญหาหมอกควัน และ PM 2.5" ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ณ บ้านต่อเรือ หมู่ที่ 2 ตำบลช่างเคิ่ง อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ นายปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวรายงาน นายชัชวาลย์ ปัญญา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวต้อนรับ ท่ามกลางผู้ร่วมงานประกอบด้วย คณะผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หน่วยงานราชการ ภาคเอกชน ผู้นำชุมชน หมอดินอาสา เกษตรกร และประชาชน   

กระทรวงเกษตรฯ รณรงค์เปลี่ยนซังข้าวโพดและเศษพืช เป็นปุ๋ยหมักบำรุงดิน ลดปัญหาหมอกควันและ PM 2.5

ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จังหวัดเชียงใหม่ มีพื้นที่ทำการเกษตรประมาณ 2.98 ล้านไร่ มีเศษเหลือของวัสดุจากการเกษตร เช่น เศษซังข้าวโพด ตอซังข้าว และอื่นๆ กว่า 1.16 ล้านตันต่อปี แต่เกษตรกรยังขาดการจัดการที่เหมาะสม มีการเผาทิ้งหลังการเก็บเกี่ยว ซึ่งการเผาเศษวัสดุทางการเกษตรเป็นการทำลายอินทรียวัตถุและสิ่งมีชีวิตในดิน ความอุดมสมบูรณ์ของดินลดลง และทำให้เกิดปัญหาหมอกควันเพิ่มมากขึ้น เพิ่มก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่เป็นปัญหาไปสู่สภาวะโลกร้อน ดังนั้น การรณรงค์ปลุกจิตสำนึกให้เกษตรกรงดเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร และส่งเสริม สนับสนุนให้เกษตรกร หันมาทำปุ๋ยหมักจากเศษซังข้าวโพดและเศษพืช เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงบำรุงดิน ลดต้นทุนการผลิต และลดปัญหาสภาวะมลพิษทางอากาศ ได้อีกแนวทางหนึ่ง การนำวัสดุเหลือใช้จากไร่นามาทำปุ๋ยหมัก โดยใช้ผลิตภัณฑ์ของกรมพัฒนาที่ดิน และนำไปเผยแพร่สู่เกษตรกรเพื่อใช้ประโยชน์ในพื้นที่ทำการเกษตรตนเองได้ต่อไป               

ด้าน นายปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าวว่า กรมพัฒนาที่ดิน ส่งเสริมให้เกษตรกร ลด ละ เลิก การเผาเศษวัสดุทางการเกษตร โดยการนำเศษพืชเศษวัสดุจากไร่นามาผลิตเป็นปุ๋ยหมักหรือน้ำหมักชีวภาพ เพื่อปรับปรุงบำรุงดิน อีกทั้งยังช่วยลดปัญหาหาการเผา ลดมลภาวะต่างๆ ได้ ซึ่งการเผาเศษวัสดุทางการเกษตรจะส่งผลกระทบต่อดิน การเผาเศษพืช 1 ตัน ทำให้สูญเสียธาตุไนโตรเจนประมาณ 2.3 กิโลกรัม ฟอสฟอรัสประมาณ 0.3 กิโลกรัม และโพแทสเซียมประมาณ 5.7 กิโลกรัม นอกจากนี้ ยังเป็นสาเหตุทำให้เกิดหมอกควัน และปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ย 6.05 ตัน ต่อการเผาเศษพืช 1 ตัน ทำให้การเจริญเติบโตของพืชไม่เต็มที่ ให้ผลผลิตลดต่ำลง กรมพัฒนาที่ดินจึงได้นำองค์ความรู้ในการทำปุ๋ยหมัก โดยใช้สารเร่งซุปเปอร์ พด.1 และน้ำหมักชีวภาพ นำไปเผยแพร่สู่เกษตรกร การจัดงานในวันนี้เพื่อปลุกจิตสำนึก และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรทราบถึงวิธีการทำปุ๋ยหมักที่ถูกต้องและเหมาะสม นำไปปฏิบัติใช้ในพื้นที่ของตนเอง เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดิน เพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนการผลิต นอกจากนี้ ยังช่วยลดปัญหาหมอกควันและฝุ่นละออง PM2.5 ที่เกิดจากการเผาตอซังพืช ซึ่งภายในงานมีการจัดแสดงนิทรรศการด้านการพัฒนาที่ดิน การทำปุ๋ยหมักและการใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรอื่นๆ ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย โดย ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เกียรติร่วมสาธิตการทำปุ๋ยหมักจากซังข้าวโพดและเศษพืชอีกด้วย

HTML::image(