เทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในปัจจุบัน แต่ก็ได้สร้างมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศโลก หากมองอีกมุมหนึ่ง เราก็สามารถใช้เทคโนโลยีเพื่อลดปัญหาการปล่อยคาร์บอนลงได้เช่นกัน
สำหรับ Thoughtworks บริษัทที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีระดับโลก มองว่าเทคโนโลยีสีเขียวช่วยสร้างความยั่งยืนได้ เช่น นำมาปรับใช้เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย Net Zero (การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์) โดยขณะนี้ สตาร์ทอัพหลายแห่งได้พัฒนาโซลูชัน Climate Tech ที่เป็นเทคโนโลยีเพื่อควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไปจนถึงการพัฒนาแพลตฟอร์มซื้อขายคาร์บอนเครดิตแบบอัตโนมัติ รวมถึงการใช้เทคโนโลยี AI/ML เพื่อประกอบการตัดสินใจในส่วนที่เกี่ยวข้องกับค่าใช้จ่ายและการแลกเปลี่ยนคาร์บอนตลอดทั้งซัพพลายเชน
นอกจากเทคโนโลยีข้างต้นแล้ว ลิซ่า แมคแนลลี่ (Lisa McNally) Head of Sustainability and Cleantech ของ Thoughtworks มองว่า การทำให้เทคโนโลยีเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น คือการพัฒนาให้เทคโนโลยีนั้นๆ ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และลดการปล่อยคาร์บอนลง โดยเพิ่มประสิทธิภาพของโค้ดเขียนโปรแกรม การสร้างความตระหนักเกี่ยวกับการปล่อยคาร์บอนที่มาจากปริมาณงานหรือทรัพยากรที่ใช้งานอยู่บนระบบคลาวด์ (Cloud Workloads) หรือแม้กระทั่งการจัดซื้ออุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ที่เหมาะสมและการกำหนดช่วงเวลาการใช้งาน โดยทีมงานในองค์กรสามารถนำแนวทางเหล่านี้ไปปรับให้เหมาะกับการทำงานของฝ่ายตัวเอง เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายและลดการปล่อยคาร์บอนในโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที ทั้งบนระบบคลาวด์และที่ใช้ในสำนักงาน
จากแนวคิดในการควบคุมการปล่อยคาร์บอนจากระบบคลาวด์ Thoughtworks จึงได้พัฒนา Cloud Carbon Footprint เครื่องมือแบบ open-source ที่ใช้งานได้ฟรี ที่สามารถคาดการณ์การใช้พลังงานและการปล่อยคาร์บอนจากผู้ให้บริการคลาวด์สาธารณะ รวมถึงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากขั้นตอนต่างๆ ของกระบวนการผลิต ซึ่งแยกย่อยลงไปถึงแหล่งที่มา เช่น มาจากผู้ให้บริการคลาวด์รายใด บัญชีการใช้งานใด บริการประเภทไหน หรือช่วงเวลาไหน
ลด Carbon Footprint จากต้นทาง
ก่อนการวางแผนลดการปล่อยคาร์บอน องค์กรควรมองเห็นภาพรวมทั้งหมดของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากธุรกิจ จึงจะสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยเหตุนี้ Thoughtworks จึงพัฒนา Cloud Carbon Footprint (CCF) ขึ้นมา เพื่อช่วยให้องค์กรสามารถวัดปริมาณ ติดตาม และประเมินการปล่อยคาร์บอนจากระบบคลาวด์ได้ โดยเครื่องมือ CCF จะเชื่อมต่อและดึงข้อมูลการใช้งานทรัพยากรบนคลาวด์จากหลายส่วนเพื่อติดตามการปล่อยก๊าซคาร์บอน หลังจากนั้นจึงคาดการณ์ปริมาณคาร์บอนที่ปล่อยออกมา และแสดงข้อมูลออกมาเป็นรูปภาพตามช่วงเวลาต่างๆ
Cloud Carbon Footprint เหมาะสำหรับองค์กรที่ต้องการเริ่มประเมินการปล่อยคาร์บอนของธุรกิจ เนื่องจาก CCF เป็น open-source ที่นำไปใช้งานได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย สามารถปรับแต่งเพื่อนำไปใช้งานในหลายส่วน ทำงานเชื่อมต่อกับระบบคลาวด์ต่างๆ ได้ (multiple clouds) รวมทั้งมีความโปร่งใสตรวจสอบได้
นอกจากนี้ CCF ยังสามารถคาดการณ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกแบบ Scope 2 ซึ่งเป็นการปล่อยก๊าซทางอ้อมจากการใช้พลังงาน เช่น ไฟฟ้าที่ใช้ภายในองค์กร และแบบ Scope 3 ที่เป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมอื่นๆ เช่น ของเสียจากกิจกรรมในองค์กร การขนส่งจากผู้ผลิตวัตถุดิบ การเดินทางที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจขององค์กร การขนส่งสินค้า เป็นต้น โดยคาดการณ์จากเครื่องมือ CCF สามารถใช้เป็นก้าวแรกในการตั้งต้นการควบคุมการปล่อยคาร์บอนขององค์กร และนำไปใช้พัฒนาต่อเพื่อสร้างแนวทางควบคุมมลภาวะที่ดีขึ้นในอนาคต การใช้งาน CCF ไม่เพียงช่วยลด Carbon Footprint เท่านั้น แต่ยังเป็นองค์ประกอบสำคัญในการวางกลยุทธ์การใช้ระบบคลาวด์อย่างคุ้มค่าที่สุดเพื่อลดรายจ่ายด้วยเช่นกัน
แม้ว่าการสร้างความยั่งยืนให้โลกฟังดูเป็นเป้าหมายยิ่งใหญ่ แต่ในความเป็นจริงแล้วอาจเริ่มต้นที่จุดเล็กๆ จากการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่าที่สุด สำหรับองค์กรแล้ว เทคโนโลยีคือเครื่องมือสำคัญที่สามารถนำมาปรับใช้เพื่อใช้งานทรัพยากรและระบบต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ซึ่งไม่เพียงช่วยลดรายจ่ายของธุรกิจ แต่ยังเป็นการลดการสร้างมลภาวะต่อโลก และนำไปสู่เติบโตอย่างยั่งยืนในท้ายที่สุด
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit