เช็กสัญญาณเตือน 'โรคไตวายเรื้อรัง'

14 Mar 2024

สถานการณ์ของโรคไตวายเรื้อรัง (Chronic kidney disease) ในปัจจุบันกำลังเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก เพราะจากข้อมูลการศึกษาและวิจัยของสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย พบว่า คนไทยมีอาการของโรคไตเรื้อรัง คิดเป็นประมาณร้อยละ 17.6 ของผู้ป่วย 8 ล้านคน และยังพบด้วยว่าคนไทยป่วยเป็นโรคไตวายระยะสุดท้ายอีกราวๆ 80,000 คน ซึ่งตัวเลขมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในทุกๆ ปี

เช็กสัญญาณเตือน 'โรคไตวายเรื้อรัง'

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดให้วันพฤหัสบดีในสัปดาห์ที่สองของเดือนมีนาคมของทุกปีเป็น 'วันไตโลก' (World Kidney day) ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 14 มีนาคม โดยสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยได้กำหนดประเด็นรณรงค์ ประจำปี 2567 คือ 'Kidney Health for All - Advancing Equitable Access to Care and Optimal Medication Practice' หรือ 'ครอบคลุมทุกสิทธิ์ พิชิตโรคไต ใส่ใจการใช้ยา'

เนื่องในวันไตโลกปีนี้ รศ.นพ.ณัฐพล อาภรณ์สุจริตกุล ศัลยแพทย์ปลูกถ่ายอวัยวะ และ ผศ.นพ.ธนรร งามวิชชุกร อายุรแพทย์โรคไต ศูนย์ปลูกถ่ายไต โรงพยาบาลไทยนครินทร์ จะมาให้ความรู้เกี่ยวกับโรคไตวายเรื้อรังและร่วมรณรงค์ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ นำไปสู่การป้องกัน และหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคไตในอนาคต

รู้จักโรคไตวายเรื้อรัง

โรคไต คือ ภาวะที่ไตถูกทำลายโดยเฉพาะจุดที่เป็นเนื้อไต ซึ่งส่งผลกระทบให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง ไม่ว่าจะเรื่อง การรักษาสมดุลของเหลวในร่างกาย, การควบคุมน้ำและแร่ธาตุต่างๆ ในเลือด, การกำจัดของเสียออกจากเลือด, การกำจัดยาและพิษออกจากร่างกาย และการหลั่งฮอร์โมนเข้าสู่กระแสเลือด เป็นต้น ทั้งหมดล้วนเป็นผลมาจากอาการโรคไตวาย ทำให้ไตไม่สามารถกลับมาทำงานได้ดีดังเดิม

ทั้งนี้สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการไตวาย เริ่มแรกจะไม่ค่อยแสดงอาการใดๆ ให้เห็น ทว่าหากเราไม่หมั่นตรวจเช็กร่างกายหรือสังเกตความผิดปกติ และเลือกที่จะปล่อยไว้ไม่ทำการรักษา ไตจะเสื่อมสภาพลงจนเข้าสู่ระยะสุดท้าย มีของเสียคั่งอยู่ในกระแสเลือด ซึ่งต้องทำการรักษาด้วยวิธีการบำบัดทดแทนไต อาทิเช่น การฟอกเลือด ล้างไตทางช่องท้อง หรือรักษาด้วยการปลูกถ่ายไต เป็นต้น

ใครบ้างที่มีความเสี่ยงโรคไตวายเรื้อรัง

  • ผู้มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป เพราะไตจะยิ่งเสื่อมสภาพเมื่ออายุมากขึ้น
  • คนที่น้ำหนักเกินมาตรฐาน หรือเป็นโรคอ้วน
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หรือไขมันในเลือดสูง
  • ผู้ที่คนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคไตและเบาหวาน
  • คนที่สูบบุหรี่เป็นประจำทุกวัน

อาการเตือนโรคไตวายเรื้อรัง

  • ปัสสาวะมีความผิดปกติ เช่น ปัสสาวะบ่อยขึ้น มีฟองมาก และมีเลือดเจือปน
  • เบื่ออาหาร
  • กล้ามเนื้อเป็นตะคริวตอนกลางคืน
  • เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย และใบหน้าซีดเซียว
  • ปวดหลังหรือบั้นเอวข้างใดข้างหนึ่ง
  • มีอาการบวมตามจุดต่างๆ ของร่างกาย เช่น หน้าบวม ตาบวม หรือเท้าบวม เป็นต้น

ป่วยเป็น 'โรคไตวายระยะสุดท้าย' รักษาด้วยวิธีไหนได้บ้าง ?

  1. การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (Hemodialysis) เป็นการนำเลือดของผู้ป่วยที่มีของเสียคั่งค้างอยู่ มาผ่านกระบวนการกรองเลือด เพื่อแยกของเสียออกจากเลือด จากนั้นค่อยนำเลือดที่ถูกกรองจนสะอาดดีแล้ว ใส่กลับคืนสู่ร่างกายผู้ป่วย
  2. การล้างช่องท้องด้วยน้ำยา (CAPD) โดยผู้ป่วยจะต้องใส่น้ำยา CAPD เข้าไปในช่องท้องตนเอง ครั้งละ 2 ลิตร ความถี่ 3-4 ครั้ง/วัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพของผู้ป่วย
  3. การปลูกถ่ายไต (Kidney Transplantation) คือวิธีรักษาโรคไตวายขั้นสุดท้ายและให้ผลดีที่สุด

ข้อดีของการผ่าตัดปลูกถ่ายไต ในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย

สิ่งที่ผู้ป่วยจะได้รับหลังจากผ่าตัดเปลี่ยนไต พักฟื้นจนแผลหายสนิท นอกเหนือจากคุณภาพชีวิตที่ดีแล้ว ผู้ป่วยเปรียบเสมือนได้รับชีวิตใหม่และอายุขัยเพิ่มขึ้นกว่าการฟอกเลือดหรือล้างไตเพียงอย่างเดียว เหตุผลข้างต้น มีหลักฐานเชิงประจักษ์จากงานวิจัยทั่วโลกและในประเทศไทยก็ยังมีข้อมูลรายงานของกระทรวงสาธารณสุขไปในทิศทางเดียวกันว่า อัตราการอยู่รอดภายในระยะเวลา 5 ปี หลังจากผู้ป่วยไตวายเรื้อรังหรือไตวายเฉียบพลัน เมื่อได้รับการปลูกถ่ายไตใหม่ จะมีอัตราการอยู่รอดที่ประมาณร้อยละ 75 แต่สำหรับผู้ป่วยที่ใช้วิธีการบำบัดทดแทนไตจะมีอัตราการอยู่รอดราวๆ ร้อยละ 35 กล่าวคือจะช่วยให้ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีชีวิตยืนยาวขึ้นนั่นเอง

การผ่าตัดเปลี่ยนไตสามารถทำได้ด้วยการปลูกถ่ายไตจากผู้บริจาคที่เป็นญาติสายตรงหรือกับคู่สามีภรรยา และการปลูกถ่ายไตจากผู้บริจาคสมองตายซึ่งในทางกฎหมายคือผู้เสียชีวิต โดยผู้ป่วยจะมีแผลผ่าตัดบริเวณหน้าท้องด้านล่างด้านใดด้านหนึ่ง รวมถึงใช้ระยะเวลาในการผ่าตัดประมาณ 4-5 ชั่วโมง และจำเป็นต้องพักฟื้นในโรงพยาบาลร่วม 2 สัปดาห์ หากไม่มีภาวะแทรกซ้อนภายหลังจากการผ่าตัดเปลี่ยนไตพักฟื้น นอกจากนี้ผู้ป่วยที่ผ่านการปลูกถ่ายไตยังต้องรับประทานยากดภูมิเพื่อป้องกันการปฏิเสธไตตลอดชีวิต แต่สามารถกลับมาใช้ชีวิตกลับไปทำงานได้ตามปกติ ปัสสาวะได้เหมือนคนทั่วไป และมีชีวิตที่ยืนยาวกว่าผู้ป่วยโรคไตที่รักษาด้วยการบำบัดทดแทนพอสมควร

ศูนย์ปลูกถ่ายไต โรงพยาบาลไทยนครินทร์

โรงพยาบาลไทยนครินทร์ เป็นหนึ่งในโรงพยาบาลเอกชนที่มีชื่อเสียงในเขตกรุงเทพฯ ด้านตะวันออก ที่มีศักยภาพด้านการรักษาโรคซับซ้อนและให้ผลลัพธ์การรักษาระดับนานาชาติ ซึ่งนำทีมโดยแพทย์ผู้มีชื่อเสียงจากโรงพยาบาลและมหาวิทยาลัยระดับประเทศ จึงมีความพร้อมทั้งด้านศักยภาพและความเชี่ยวชาญทางการรักษา ตลอดจนจัดตั้ง 'ศูนย์ปลูกถ่ายไต' ที่ศึกษาด้านการปลูกถ่ายอวัยวะจากทั่วประเทศ

เราพร้อมให้ความมั่นใจแก่ผู้ป่วยโรคไตที่เข้ารับการรักษากับโรงพยาบาลไทยนครินทร์ว่า มีศักยภาพพอพร้อมดูแลผู้ป่วยไตวายแบบองค์รวม ทั้งการฟอกไตและการปลูกถ่ายไต โดยอยู่ภายในใต้เงื่อนไขของระเบียบสภากาชาดไทยเรื่องการปลูกถ่ายอวัยวะ

ทั้งนี้การปลูกถ่ายไตในโรงพยาบาลไทยนครินทร์ใช้วิธีปลูกถ่ายแบบ 'Personalize Healthcare' หรือ 'การแพทย์แบบเฉพาะบุคคล' ซึ่งทางทีมแพทย์จะให้คำแนะนำการปลูกถ่ายไตที่มีคุณภาพดีและเหมาะสมที่สุด ไตที่มาจากผู้บริจาคที่มีชีวิตหรือผู้บริจาคสมองตายให้กับผู้ป่วย เพื่อส่งมอบคุณภาพชีวิตที่ดีและยืนยาวในราคาสมเหตุสมผล ไม่ว่าใครก็สามารถเข้าถึงได้

บทความโดย
รศ.นพ.ณัฐพล อาภรณ์สุจริตกุล ศัลยแพทย์ปลูกถ่ายอวัยวะ ศูนย์ปลูกถ่ายไต โรงพยาบาลไทยนครินทร์
ผศ.นพ.ธนรร งามวิชชุกร อายุรแพทย์โรคไต ศูนย์ปลูกถ่ายไต โรงพยาบาลไทยนครินทร์

เช็กสัญญาณเตือน 'โรคไตวายเรื้อรัง'